“พรรคประยุทธ์” มาแรง!

“พรรคประยุทธ์” มาแรง!

นักวิเคราะห์การเมืองพูดกันเยอะว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กำลังจะเลือกใช้ “เกรียงศักดิ์ โมเดล” ในการคัมแบ็คมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกรอบ

ลองมาทำความรู้จักกับ เกรียงศักดิ์โมเดล บ้างเป็นไร หาความรู้มาประดับสติปัญญากัน

40 ปีที่แล้ว ช่วงเปลี่ยนผ่านจากเผด็จการสู่ประชาธิปไตย หลังรัฐประหาร 20 ตุลาคม 2520 มีการตั้งพล..เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นนายกรัฐมนตรี และรัฐบาลพล.อ.เกรียงศักดิ์ ได้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และประกาศใช้เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2521

รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ บัญญัติให้มีการตั้งพรรคการเมืองได้ แต่ในช่วงเวลา 4 ปี แรก ยังไม่จำเป็นต้องให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรคและจัดตั้งพรรคการเมืองไม่ได้เพราะยังไม่ได้มีกฎหมายพรรคการเมือง

สถานการณ์ก่อนการเลือกตั้งปี 2522 ปรากฏว่ามีกลุ่มการเมืองเปิดตัวสนับสนุน พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ กันโจ๋งครึ่ม

ที่เปิดหน้ามาเต็มๆ คือ กลุ่มสยามปฏิรูป นำโดยประมวล กุลมาตร์ อดีต ส.ส.ชุมพรดำเนินนโยบายทางการเมืองว่า “สยามปฏิรูปมีนโยบายสนับสนุนพลเอกเกรียงศักดิ์ โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น”

อีกกลุ่มหนึ่งคือ กลุ่มสนับสนุนนโยบายเกรียงศักดิ์ มี ญาติ ไหวดี อดีต ส.ส.สุรินทร์ เป็นแกนนำ โดยส่งผู้สมัคร ส.ส.ทั่วประเทศ

ผลการเลือกตั้งปี 2522 ปรากฏว่า กลุ่มสนับสนุน พล.อ.เกรียงศักดิ์ รวมเสียงได้ 111 เสียง และเมื่อเสียง ส.ส. บวกกับเสียง ส.ว.อีก 225 เสียง ก็ทำให้ พล.อ.เกรียงศักดิ์ เป็นนายกฯ สมใจปรารถนา

พรรคการเมืองเก่าอย่างกลุ่มกิจสังคม 88 เสียง, กลุ่มชาติไทย 38 เสียง, กลุ่มประชากรไทย 32 เสียง และกลุ่มประชาธิปัตย์ 32 เสียง รวม 190 เสียง ตกเป็นฝ่ายค้าน

ทำนองเดียวกัน สมมติว่าเลือกตั้งปลายปี 2561 เสียงจากพรรคตระกูล ส.เสือ , พรรคภูมิใจไทย, พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคเล็กๆ บวก ส.ว. 250 เสียง พล.อ.ประยุทธ์ ก็ลอยลำเป็นนายกฯ

พรรคเพื่อไทยกอดคอพรรคประชาธิปัตย์ เป็นฝ่ายค้าน..ต้องถามใจคนไทย จะเอากันแบบนี้มั้ยล่ะ?