กลุ่มตระกูล ส. และเป้าหมายเปลี่ยนสังคมแนวดิ่งเป็นแนวราบ

กลุ่มตระกูล ส. และเป้าหมายเปลี่ยนสังคมแนวดิ่งเป็นแนวราบ

ใครคือผู้ขับเคลื่อนการปฏิรูประบบสาธารณสุข?

จะเห็นได้ว่ากลุ่มตระกูลส.เป็นผู้ครองอำนาจในการเป็น “ผู้บริหารระดับสูง” ในองค์กรอิสระด้านสาธารณสุขทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็น เลขาธิการสปสช. ผู้อำนวยการ สวรส. ผู้จัดการ สสส. เลขาธฺการ สช. เลขาธิการ สพฉ. ฯลฯ

เมื่อมีข่าวเผยแพร่ทั่วไปว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า 30 บาท ทำโรงพยาบาลเจ๊ง แต่ก็จะไม่เลิก 30 บาท แต่ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้มีงบเพิ่ม จะเอาทุกอย่างแล้วจะเอางบมาจากไหน? และถามว่าประเทศไทยมีความพร้อมหรือยัง แล้วอีก 190 ประเทศทั่วโลก ทำไมเขาจึงไม่ทำกันแบบประเทศไทย? ก็เลยต้องมาทบทวนประวัติศาสตร์ ว่าระบบสาธารณสุขไทยเดินมาถึง “การเจ๊ง” ได้อย่างไร?

ระบบสาธารณสุขก่อน “30 บาท”

ก่อนที่จะมีระบบ 30 บาท กระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานสูงสุดระดับชาติ ในการบริหารจัดการด้านการแพทย์ สาธารณสุข และการจัดบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขแก่ประชาชน ตามนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา โดยกระทรวงสาธารณสุขก็ได้รับงบประมาณแผ่นดินในการบริหารจัดการดำเนินการตามภารกิจหน้าที่เหมือนกับกระทรวงอื่นๆ ทุกกระทรวงในประเทศไทย

ระบบสาธารณสุขหลัง “30 บาท”

แต่เมื่อมีกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติแล้ว กระทรวงสาธารณสุขกลายเป็นเป็ดง่อย ไม่ได้รับงบประมาณในการดำเนินงานตามภารกิจให้บริการแก่ประชาชน มี “เจ้านาย”เพิ่มขึ้นเป็นคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและเลขาธิการ สปสช. ที่ไม่มี “อำนาจสั่งการ”กระทรวงสาธารณสุขตามกฎหมาย แต่ใช้  “อำนาจที่มีเงินงบประมาณในมือ” มาบังคับให้ต้องทำตามกฎระเบียบของ สปสช. (ทั้งที่ถูกต้องตามกฎหมายและไม่ถูกต้องตามกฎหมาย) จนเกิดปัญหาการขาดดุลงบประมาณ

ประเทศไทยเดินมาถึงจุดที่เป็นอยู่วันนี้ก็เพราะมีการ “จัดตั้งขบวนการขับเคลื่อนการปฏิรูประบบสาธารณสุข”

การจัดตั้ง “ขบวนการขับเคลื่อนการปฏิรูประบบสาธารณสุข”

เริ่มจากการรวมตัวของแพทย์ อาจารย์แพทย์และวิชาการหลายคน ตั้ง “มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ” (มสช.) ขึ้น โดย “โอนเงินงบประมาณทั้งสิ้นมาจากสำนักระบาดวิทยาแห่งชาติ” ที่ถูกรัฐมมนตรีสาธารณสุข(นายบุญพันธ์ แขวัฒนะ)สั่งยุบ เนื่องจากสำนักระบาดวิทยาแห่งชาติที่มีศ.นพ.ประเวศ วะสี เป็นประธาน ไม่ยอมส่งงบการเงินของ สนง.(ได้รับเงินจากมูลนิธิต่างประเทศและงบประมาณจากกระทรวงสาธารณสุข) ให้แก่กระทรวงสาธารณสุข

จะเห็นได้ว่าประธานมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติคนปัจจุบันคือศ.นพ.ประเวศ วะสี ได้อธิบายถึงการจัดตั้งมสช. และการดำเนินงาน “ถักทอเครือข่าย” จนประสบความสำเร็จในการ “จัดตั้งองค์กรอิสระทางสาธารณสุข” ได้แก่ สวรส. สสส. สปรส. สปสช.และต่อมาก็มี สช.(สำนักงานสุขภาพแห่งชาติ) สพฉ.(สำนักงานการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ)

องค์กรตระกูล ส.สามารถขยายเครือข่าย “ผู้เลื่อมใส ยกย่องสรรเสริญ และเป็นพรรคพวก” โดยใช้เงินงบประมาณแผ่นดินจากการ “แจกทุนวิจัย” สนับสนุนด้านการเงินทั้งทางตรงและทางอ้อมมากมาย การตั้งมูลนิธิไปรอรับทุนจากองค์กรตระกูลส.มากมายหลายสิบ (หรือร้อย) มูลนิธิ และการสร้างองค์กรลูกมากมาย

 องค์กร “ลูก” ของ สวรส.มีจำนวนมากมายหลายสิบองค์กร และเมื่อสวรส.หา “ช่องทางเข้าถึงรัฐบาล”ได้ องค์กรลูกของ สวรส.ก็ออกมาจัดตั้งเป็นองค์กรอิสระ เช่น สรพ.(สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล) และยังตั้งองค์กรเครือข่ายในกระทรวงสาธารณสุข เช่น สวปก. สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ และยังสามารถ “ถักทอเครือข่าย” ออกไปนอกงานของสาธารณสุข ได้แก่ (สกว.)สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สวทช.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กสทช.สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และยังมีการประสานงานกับ NGO ในการจัดตั้ง “มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค” 

รวมทั้งการดำเนินการ “ขยายเครือข่าย” อย่างต่อเนื่อง โดยอาศัย ”งบประมาณแผ่นดิน” ที่จัดสรรมาให้ “องค์กรอิสระ” ที่สมาชิกกลุ่มเป็นผู้บริหารระดับสูงสุดขององค์กร” ออกมาทำโครงการเพื่อขยายเครือข่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัฐบาลที่มาจากการ  “ยึดอำนาจของทหาร” เช่น น.พ.พลเดช ปิ่นประทีป ในยุครัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้ออก พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 และมาเป็นประธานกรรมการองค์การนี้ หรือ น.พ.มงคล ณ สงขลา เข้ามาเป็นรมว.สาธารณสุข และออกระเบียบให้เลขาธิการสปสช.จัดซื้อพัสดุได้ ครั้งละ 1,000 ล้านบาท หรือ น.พ.รัชตะ รัชตนาวินและ น.พ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ เป็น รมว.และ รมช.ในยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ฯลฯ

การ “ถักทอเครือข่าย” ที่ว่านี้ ก็คือการไปร่วมก่อตั้ง หรือ “ส่งคนในกลุ่ม” ออกไปเป็นกรรมการในองค์กรนั้นๆ ซึ่งสามารถค้นหาความเกี่ยวข้องกับกลุ่มคนเหล่านี้ได้ไม่ยาก

โดยสรุปตระกูล ส.ประกอบไปด้วยสมาชิกร่วมก่อตั้ง และสมาชิกรุ่นหลังซึ่งอาจจะเป็นผู้เลื่อมใสในผลงาน รวมทั้งผู้ได้รับผลประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมโดยผลประโยชน์นั้นอาจจะถูกกฎหมาย (สีขาว) มีผลประโยชน์ทับซ้อน (สีเทา) หรือ ผิดกฎหมาย (สีดำ)

1)      สมาชิกอาวุโสและแกนนำ คือ ศ.น.พ.ประเวศ วะสี และอีกหลายๆ คน 

2)      แพทย์จากสมาชิกชมรมแพทย์ชนบท และเครือข่ายที่เข้ามาเป็นกรรมการ อนุกรรมการ ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ในองค์กรตระกูล ส.

3)      ผู้รับทุนจากมูลนิธิ และนำไปจัดตั้งมูลนิธิใหม่

4)      NGO กลุ่มต่างๆ 

5) ผู้บริหารระดับสูง ในองค์กรตระกูล ส. กรรมการ อนุกรรมการ และเจ้าหน้าที่ในองค์กรเหล่านั้น

การดำเนินการของเครือข่ายเหล่านี้มีเป้าหมายสุดท้ายคืออะไร?

 การจัดตั้งองค์กรอิสระนอกราชการ ทำให้พวกเขาสามารถขยายเครือข่ายและ “ขับเคลื่อน” การปฏิรูประบบการแพทย์และสาธารณสุข รวมทั้งมีส่วนเข้าไปเป็นรัฐมนตรี “สมาชิกสภาปฏิรูปประเทศ” สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติในยุคทหารยึดอำนาจได้เสมอ และสามารถผลักดันให้มีการออกกฎหมายได้ทั้งในยุคเลือกตั้ง และยุคทหารได้ตลอดมา

ผลดีจากการทำงานของพวกเขามีบ้างไหม?

คำตอบก็คือ ประชาชนได้ประโยชน์จากการมีหลักประกันสุขภาพ แต่เมื่อก่อนประชาชนได้รับสวัสดิการในราคาถูก และคนจน พิการ ด้อยโอกาส เด็ก คนชรา ได้รับการยกเว้นการจ่ายเงิน (แต่ตอนหลังพวกเขามาบิดเบือนว่า “ประชาชนไม่ต้องการเป็น “ขอทาน” สุขภาพ)

แต่ความตั้งใจที่จะแก้ระบบสาธารณสุขแบบนี้ กลับทำร้ายคุณภาพมาตรฐาน และทำลายความสัมพันธ์ระหว่างบุคลากรทางการแพทย์ การประเมินผลลัพท์ของระบบก็ประเมินแค่ “ความพึงพอใจ” ไม่เคยรับรองมาตรฐานการบริการด้านสาธารณสุขแก่ประชาชน ประชาชนได้รับสิทธฺในการรับบริการสุขภาพ แต่สิทธฺที่จำกัดด้วยจำนวนเงินนั้นเองได้กลับไปทำลายสุขภาพประชาชนในหลายๆ โครงการ เช่า การรักษาไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย การผ่าตัดต้อกระจก การใส่เส้นลวดขยายหลอดเลือดหัวใจ ฯลฯ

และการบริหารสปสช.ทำให้งบประมาณหายไปจากระบบไปสู่องค์กรที่ไม่ใช่หน่วยบริการรักษาผู้ป่วย (ที่ขาดงบประมาณอยู่แล้วให้ขาดงบประมาณยิ่งขึ้น ทั้งที่เป็นสีขาว สีเทา และสีดำ

เป้าหมายสุดท้าย “เปลี่ยนสังคมจากแนวดิ่งเป็นแนวราบ”

แต่เป้าหมายสุดท้ายของศ.นพ.ประเวศ วะสี ยังไม่จบแค่นี้ เพราะขาได้แจกหนังสือที่เขาเขียนในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในปีนี้ว่า เขาต้องการเปลี่ยนสังคมจากแนวดิ่งเป็นแนวราบ ผ่านกฎหมายปฏิรูปสังคม แบบประชาธิปไตยทางตรง ให้ ครม.มาประชุมรับฟังประชาชนแต่ไม่มีสิทธิออกเสียง

แต่ไม่รู้ว่าประชาชนที่มาประชุมเพื่อเสนอความเห็นให้ครม.นั้น จะถูก “เลือกตั้ง”มาเป็นผู้แทนประชาชนจริง หรือเป็นประชาชนที่กลุ่มตระกูลส.เลือกมา แบบการประชุมสมัชชาสุขภาพทั่วประเทศของสำนักงานสุขภาพแห่งชาติ

และคำถามสุดท้ายคือ มันเป็นเป้าหมายของ “การปฏิวัติของประชาชน” หรือไม่