Metaverse คืออนาคตแต่รูปแบบ ที่วาดฝันไว้อาจยังไม่มาโดยเร็ว

Metaverse คืออนาคตแต่รูปแบบ ที่วาดฝันไว้อาจยังไม่มาโดยเร็ว

สัปดาห์ที่แล้วเมื่อบริษัท META ประกาศผลประกอบการล่าสุดในไตรมาสสองปีนี้ กลับพบว่า รายได้ตกลงมาจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 1% ซึ่งก็เป็นครั้งแรกตั้งแต่การเข้าตลาดหุ้น NASDAQ ในปี 2012

เมื่อวันที่ 28 ตุลาคมปีที่แล้ว Mark Zuckerberg ออกมาประกาศว่า กำลังพัฒนาโซเชียลมีเดียของ Facebook ให้เข้าสู่โลกของ Metaverse พร้อมทั้งบอกว่าเป็นอนาคตของโลกอินเทอร์เน็ต และได้ประกาศเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Meta ซึ่งก็ได้สร้างความตื่นเต้นให้กับคนทั่วโลก เฝ้าคอยที่จะเห็น Metaverse ที่สามารถใช้งานได้จริง

แต่สัปดาห์ที่แล้วเมื่อบริษัท Meta ประกาศผลประกอบการล่าสุดในไตรมาสสองปีนี้ กลับพบว่า รายได้ตกลงมาจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 1% ซึ่งก็เป็นครั้งแรกตั้งแต่การเข้าตลาดหุ้น NASDAQ ในปี 2012 นอกจากนั้นจำนวนผู้ใช้ Facebook ก็ลดลงมาเล็กน้อยเหลือ 2,934 ล้านคนเมื่อเทียบกับจำนวน 2,936 ล้านคนในไตรมาสแรก ทั้งนี้ก็เพราะว่า ถูกคู่แข่งอย่าง TikTok ที่ตรงใจกับคนรุ่นใหม่มากกว่าแย่งส่วนแบ่งการตลาดไป และก็ไม่แปลกใจที่จะเห็นราคาหุ้นของบริษัท Meta ลดลงจาก 312 ดอลลาร์เมื่อปลายเดือนตุลาคมปีที่แล้ว เหลือเพียง 169 ดอลลาร์ในปัจจุบัน

แม้ทางบริษัท Meta จะทุ่มเงินจำนวนมาก เพื่อพัฒนาแผนกด้าน Reality ที่จะมุ่งทำ Metaverse การทำ AR/VR รวมถึงการพัฒนาอุปกรณ์ VR อย่าง Quest 2 แต่ในไตรมาสที่ผ่านมาแผนกดังกล่าวยังทำรายได้เพียง 452 ล้านดอลลาร์ และมีการขาดทุนถึง 2.8 พันล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ยังมีการคาดการณ์ว่ารายได้ในไตรมาสนี้ก็อาจจะลดลงไปอีก ซึ่งก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าการพัฒนา Metaverse ของบริษัทยังไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่คาดหวัง

อีกทั้งการที่ Mark Zuckerberg ประกาศว่าโลก Metaverse ของบริษัทเขาจะเป็นระบบเปิด ทำงานร่วมกับแพตฟอร์ม Metaverse ค่ายอื่นๆ ได้ คนส่วนมากไม่ค่อยเชื่อ มีผลสำรวจบริษัทวิจัยทั้ง Forrester WSJ และ LinkedIn ที่เห็นสอดคล้องกันว่าผู้ตอบการสำรวจมากกว่า 70% ต่างไม่มั่นใจว่าแพลตฟอร์มของบริษัท Meta จะเป็นระบบเปิดจริง

การก้าวสู่โลก Metaverse ของแพลตฟอร์มต่างๆ อาจยังไม่สามารถที่จะกล่าวได้ว่าเป็นแพลตฟอร์มที่สมบูรณ์นัก ถ้าจะต้องเทียบกับคุณสมบัติที่แท้จริงของ Metaverse ที่มีหลักสำคัญ ดังนี้

1.Interoperability กล่าวคือ จะต้องทำงานร่วมกับระบบอื่นๆ ได้ สามารถจะโอนย้ายข้อมูลต่างๆ ได้ เพื่อให้สิทธิ์ผู้ใช้ที่เป็นเจ้าของข้อมูลโยกย้ายได้ตามความต้องการ

2.Decentralization กล่าวคือ ต้องไม่ใช่เป็นระบบรวมศูนย์กลางที่แพลตฟอร์มถูกผูกขาดโดยบริษัทใดบริษัทหนึ่ง

3. Persistency กล่าวคือ การเล่นระบบที่เป็นโลกเสมือนจะต้องเก็บสถานะของผู้ใช้อยู่เสมอ ไม่ว่าจะออกจากระบบไปแล้ว เมื่อกลับมาก็ต้องคงสถานะเดิมไว้ให้ หรือกลับมาอยู่ในตำแหน่งเดิมที่เราเคยใช้งานอยู่

4.Spatiality กล่าวคือ มีความเป็นพื้นที่เหมือนโลกความเป็นจริง ที่จะมีตำแหน่งที่ตั้งต่างๆ ของวัตถุ หรือสถานที่ที่เราสามารถเข้าไปเยี่ยมชมได้

5.Community-Driven กล่าวคือ แพลตฟอร์มของ Metaverse จะถูกขับเคลื่อนด้วยชุมชนของผู้ใช้งาน และนักพัฒนาระบบ

6. Self-Sovereignty กล่าวคือ ผู้ใช้มีอธิปไตยของตัวเอง เป็นผู้ควบคุมการระบุตัวตนรวมถึงสิทธิ์ในการใช้ข้อมูลต่างๆ ไม่ได้ถูกควบคุมด้วยเจ้าของแพลตฟอร์มอย่างที่เป็นอยู่ในโลกของ Web 2.0 ในปัจจุบัน

การทำแพลตฟอร์ม Metaverse ที่จะให้ผู้ใช้จำนวนมหาศาลเข้ามาใช้งานจริงอย่างโลกของโซเชียลมีเดียที่เป็น Web 2.0 ในปัจจุบัน ยังไม่ง่ายนัก เพราะนอกจากหลักการการสร้างระบบเปิดที่ไม่มีการผูกขาดเป็นเรี่องที่อาจทำได้จริงยากแล้ว ยังติดปัญหาในเรื่องของเทคโนโลยี เช่น ความเร็วของระบบอินเทอร์เน็ตที่จะให้ผู้ใช้จำนวนมากเข้าแพลตฟอร์มอย่างต่อเนื่องโดยไม่มีการสะดุดเลย การทำระบบกราฟิกที่จะสร้างตัวอวตาร (Avatar) ให้ดูเสมือนจริงมากที่สุด รวมถึงการที่จะให้ผู้คนต้องมาใส่อุปกรณ์ VR เป็นเวลานานๆ นอกจากนี้อุปกรณ์เหล่านั้นยังมีราคาค่อนข้างสูงด้วย

แต่ก่อนที่ Mark Zuckerberg จะออกมาประกาศในเรื่องของ Metaverse ของบริษัทเขา ก็มีแพลตฟอร์ม Metaverse อยู่แล้วหลายแพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้จำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น Roblox, Decentraland, Sandbox, Axie Infinity หรือFortnite

แพลตฟอร์มเหล่านี้ส่วนใหญ่ เน้นการเล่นเกมส์ แต่ก็มีการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล และมีการทำอีเวนต์ต่างๆ ที่มีผู้คนให้ความสนใจเป็นจำนวนมากอย่าง Travis Scott เคยใช้ตัวอวตารจัดแสดงสดผ่านแพลตฟอร์ม Fortnite เมื่อปี 2020 และมีผู้เข้าชมพร้อมกันถึง 12 ล้านคน หรือเมื่อปลายปีที่แล้ว Lil Nas X น้ก ร้องแรปเปอร์ก็จัดคอนเสริต์แบบ Virtualบนแพลตฟอร์ม Roblox โดยมีผู้ชมถึง 33 ล้านคน

ในตอนหน้าผมจะแนะนำแพลตฟอร์ม Metaverse ยอดนิยมต่างๆ และยกตัวอย่างการใช้งาน ซึ่งเราอาจจะเห็นได้ว่าแอปพลิเคชันที่คนส่วนใหญ่ยังมุ่งใช้งานอยู่อาจเน้นไปที่เกมส์หรือการจัดอีเวนต์ต่างๆ แต่ถ้าจะได้ Metaverse อย่างบางคนวาดฝันให้โลกเสมือนใกล้เคียงกับโลกของความเป็นจริงมากที่สุดคงอาจต้องใช้เวลาอีกนาน