การให้ทางรถฉุกเฉิน | ภาณุพงศ์ เฉลิมสิน

การให้ทางรถฉุกเฉิน | ภาณุพงศ์ เฉลิมสิน

การให้ทางแก่รถฉุกเฉิน ถือได้ว่าเป็นหลักสากลที่ทุกประเทศให้ความสำคัญอย่างมาก แต่ก็ยังมีข่าวให้เห็นกันอยู่เสมอๆ สำหรับกรณีไม่ยอมให้ทางแก่รถฉุกเฉิน จนกลายเป็นประเด็นซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางอยู่บ่อยครั้ง

แม้ว่าประเทศไทยจะมีการตราและแก้ไขพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 (ฉบับที่ 12) แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2562 มาแล้วหลายครั้ง

เหตุผลในการประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้ คือ ในปัจจุบันการเกิดอุบัติเหตุทางถนนของประเทศมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการที่ผู้ขับขี่ขาดวินัยในการใช้รถใช้ถนน และไม่ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก ประกอบกับพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานานแล้ว บทบัญญัติบางประการแห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน 

การให้ทางรถฉุกเฉิน | ภาณุพงศ์ เฉลิมสิน

(ภาพถ่ายโดย Pavel Danilyuk)

จึงสมควร ปรับปรุงหลักเกณฑ์และกลไกในการออกใบสั่ง สำหรับผู้ขับขี่ที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย การบันทึกคะแนนความประพฤติในการขับขี่ และมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมดูแลและบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบกให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อให้เกิดความสะดวกและความปลอดภัยในการจราจรทางบก

กล่าวเฉพาะกรณีการให้ทางแก่รถฉุกเฉินนั้น ในประเทศไทยก็มีกฎหมายและหลักปฏิบัติเฉกเช่นเดียวกันกับนานาประเทศ โดยมีการกำหนดโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนไว้ในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 76 เมื่อเห็นรถฉุกเฉินในขณะปฏิบัติหน้าที่ใช้ไฟสัญญาณแสงวับวาบ หรือได้ยินเสียงสัญญาณไซเรน จะต้องให้รถฉุกเฉินผ่านไปก่อน หากฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 500 บาท

กล่าวคือ ผู้ขับขี่รถทุกคันเมื่อได้ยินเสียงสัญญาณไซเรน ผู้ขับขี่ควรตั้งสติ มองกระจกหลังเพื่อกะระยะของรถพยาบาลฉุกเฉินที่วิ่งมา และเบี่ยงซ้ายเพื่อหลีกทางให้รถพยาบาลฉุกเฉิน หรือหากไม่สามารถหลีกทางได้ด้วยเพราะสภาพการจราจรที่หนาแน่น ให้หยุดรถเพื่อให้รถพยาบาลฉุกเฉินหาทางวิ่งผ่านไป และข้อสำคัญเมื่อรถพยาบาลฉุกเฉินวิ่งผ่านไปแล้วห้ามขับตามเด็ดขาด

ในกรณีรถติดและรถพยาบาลฉุกเฉินอยู่ด้านหลังพอดี ให้พิจารณาความเหมาะสมว่าควรชิดซ้ายหรือชิดขวา และเปิดไฟเลี้ยวเพื่อให้สัญญาณให้รถพยาบาลฉุกเฉินได้แซงผ่านไปอีกด้านได้สะดวก (ที่มา : กรมการขนส่งทางบก)

การให้ทางรถฉุกเฉิน | ภาณุพงศ์ เฉลิมสิน

(ภาพถ่ายโดย Erik Mclean)

หากเปรียบเทียบหลักปฏิบัติและกฎหมายในต่างประเทศ ผู้เขียนใคร่ยกตัวอย่างกรณีของมลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐ California Vehicle Code 21806 VC ที่ได้กำหนดให้ผู้ขับขี่ต้องยอมหลีกทางให้ยานพาหนะฉุกเฉิน เมื่อยานพาหนะฉุกเฉินใช้ไซเรนและแสงสีแดงที่มองเห็นได้อย่างน้อยหนึ่งดวง สาระสำคัญที่ต้องรู้เกี่ยวกับกฎหมายนี้สามารถแบ่งออกได้เป็น 5 ประเด็น ได้แก่

  1. การยอมหลีกทางให้ยานพาหนะฉุกเฉินที่เหมาะสมภายใต้กฎหมายนี้คือ ผู้ขับขี่ต้องขับขี่ให้ช้าและขับไปทางขอบถนนด้านขวามือและผู้ขับขี่ต้องหยุดรถไว้จนกว่ารถฉุกเฉินจะผ่านไป
  2. ผู้ขับขี่ที่ไม่ยินยอมหลีกทางให้ยานพาหนะฉุกเฉิน ต้องเสียค่าปรับ 490 ดอลลาร์ (ประมาณ 16,000 บาท)
  3. ผู้ขับขี่ที่ละเมิดส่วนนี้จะถูกตัดคะแนนในบันทึกการขับขี่ 1 คะแนน และผู้ขับขี่อาจจะถูกพักใบอนุญาตขับขี่หากถูกตัดคะแนนถึง 4 คะแนนภายใน 12 เดือน หรือ 6 คะแนนภายใน 24 เดือน หรือ 8 คะแนนภายใน 36 เดือน
  4. กรณีที่ผู้ขับขี่ที่ละเมิดกฎหมาย California Vehicle Code 21806 VC จะสามารถยกข้อต่อสู้ได้
  5. ผู้ขับขี่ไม่สามารถเพิกเฉยต่อใบสั่ง เนื่องจากการละเมิด 21806 VC อาจส่งผลให้มีการเรียกเก็บเงินค่าปรับเพราะเป็นความผิดทางอาญา (California Vehicle Code 40508 เป็นกฎหมายของรัฐแคลิฟอร์เนีย ที่ทำให้บุคคลที่ไม่ปรากฏตัวในศาลเพราะถูกออกใบสั่งถือเป็นความผิดทางอาญา)

สำหรับข้อต่อสู้จากการไม่ยอมหลีกทางให้ยานพาหนะฉุกเฉินสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภท กล่าวคือ

  1. ผู้ขับขี่ยอมหลีกทางให้อย่างเหมาะสมแล้ว แต่เจ้าหน้าที่เห็นว่าการหลีกทางให้ยังไม่เหมาะสม
  2. ยานพาหนะฉุกเฉินไม่ใช้ไซเรน หรือผู้ขับขี่ไม่ได้ยินเสียงไซเรนอย่างชัดเจน
  3. ยานพาหนะฉุกเฉินไม่ใช้แสงสีแดงที่มองเห็นได้อย่างชัดเจน
  4. ผู้ขับขี่เห็นว่าไม่ใช่สถานที่ที่ปลอดภัยหากมีการหลีกทางให้ยานพาหนะฉุกเฉินในขณะนั้น

กล่าวโดยสรุป เมื่อเปรียบเทียบกฎหมายระหว่างประเทศไทยและมลรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐแล้ว จะเห็นได้ว่าโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนตามมาตรา 76 ของพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 ที่กำหนดให้ผู้ฝ่าฝืนที่ไม่ยอมหลีกทางให้กับยานพาหนะฉุกเฉินมีโทษปรับไม่เกิน 500 บาทนั้นยังไม่เพียงพอ ส่งผลให้มีการละเมิดไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดอยู่ทั่วไป

ผู้เขียนจึงเห็นว่า ประเทศไทยควรมีการปรับแก้ไขโทษในส่วนนี้ให้มีความรุนแรงมากขึ้น ให้เหมาะสมกับสภาวะทางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน เพื่อให้ผู้ขับขี่เกิดจิตสำนึกที่ดี ตระหนักในหน้าที่และความรับผิดชอบต่อผู้ร่วมใช้รถใช้ถนนและต่อสังคมให้มากขึ้น