ค่านิยมเด็กมหาวิทยาลัยที่ไม่เท่าเทียมจะแก้ได้อย่างไร | เรือรบ เมืองมั่น

ค่านิยมเด็กมหาวิทยาลัยที่ไม่เท่าเทียมจะแก้ได้อย่างไร | เรือรบ เมืองมั่น

จั่วหัวขึ้นมานั้นไม่ใช่เรื่องเล็ก มองเห็นเป็นแค่ความน้อยใจของเด็กอุดมศึกษาชื่อไม่ดัง ที่สุดท้ายก็ไปทำใจ ตัวใครตัวมัน สู้ชีวิตกันต่อ แต่ปัญหานี้เป็นปัญหาใหญ่ระดับโครงสร้างของสังคมที่แก้ได้ยาก แต่จำเป็นต้องพยายามแก้ไข เพราะไม่เช่นนั้นจะส่งผลกระทบต่อสังคม

ไทยเราพยายามลดความเหลื่อมล้ำของปัญหาด้านการศึกษามาแต่ไหนแต่ไร แต่ขณะเดียวกันก็ต้องส่งเสริมความเลิศทางวิชาการไปด้วย ในยุคเศรษฐกิจไม่ดีแบบนี้ปัญหาความไม่เท่าเทียมยิ่งเป็นเรื่องวิกฤติ เพราะโอกาสการเลื่อนไหลสู่ฐานะสูงอย่างชอบธรรมของคนนั้นยากลำบากยิ่งขึ้น

แม้ว่าในทางหลักการ ปริญญาตรีแต่ละใบหากสาขาวิชาเดียวกันไม่ว่ามหาวิทยาลัยไหนก็จะถือว่ามีศักดิ์และสิทธิเท่าเทียมกัน ถ้ารับราชการจะได้เงินเดือนเท่ากัน แต่ในความเป็นจริง มีค่านิยมลึก ๆ กันอยู่ว่า ผู้จบจากมหาวิทยาลัยเก่าแก่ในเมืองกรุงนั้นมีความสามารถสูงกว่าผู้จบจากมหาวิทยาลัยต่างจังหวัด หรือผู้ผ่านโปรแกรมอินเตอร์เนชั่นแนล เรียนกันด้วยภาษาต่างประเทศ ค่าเทอมเป็นแสนเป็นล้าน น่าจะเก่งกว่าคนที่เรียนเป็นภาษาไทย  

ค่านิยมเด็กมหาวิทยาลัยที่ไม่เท่าเทียมจะแก้ได้อย่างไร | เรือรบ เมืองมั่น

(ภาพถ่ายโดย Asia Culture Center)

ค่านิยมนี้ยังไม่เปลี่ยนในแวดวงคนชั้นกลาง เพราะพวกเขาได้เห็นข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ด้วยตนเอง อาทิ คนเก่งจากโรงเรียนชื่อดัง หรือสอบได้ลำดับเยี่ยม ๆ ล้วนเลือกสมัครสอบเข้าเรียนมหาวิทยาลัยเก่าแก่ก่อน องค์กรธุรกิจชื่อดังเลือกรับแต่คนจบมหาวิทยาลัยเก่าแก่ก่อน หรืออันดับทุกด้านใน World University Rankings ไม่ว่าจะเป็นคณาจารย์ ทุนวิจัย หลักสูตร ล้วนสูงกว่ามหาวิทยาลัยเล็ก ๆ

และถ้าลูกของเขาได้เรียนในมหาวิทยาลัยชั้นนำจริง ก็จะพบว่า เพื่อนนักศึกษามักมาจากครอบครัวชั้นกลางขึ้นไปเป็นส่วนใหญ่ สายสัมพันธ์คอนเนคชั่นที่จะมียาวนานต่อไปในชีวิตกับกลุ่มคนมีฐานะด้วยกันนั้นยิ่งมีความจำเป็นในระบบอุปถัมภ์อย่างเมืองไทย

เมื่อเป็นเช่นนี้ก็อดไม่ได้ที่เยาวชนไม่ได้เรียนมหาวิทยาลัยชั้นนำรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ และมองโอกาสในชีวิตของตนว่ามีน้อยกว่า ความจริงคือ โอกาสของพวกเขามีน้อยกว่าตั้งแต่ก่อนเข้าระดับอุดมศึกษาแล้ว พวกเขาอาจเรียนโรงเรียนที่การศึกษาไม่เก่งกาจเท่า ครอบครัวไม่มีเงินพอมอบอาหารดี ๆ ครูกวดวิชาดี ๆ

หรือแม้แต่เวลาว่างให้พวกเขามุ่งแต่เรียนหนังสืออย่างเดียวได้  ผลก็คือ ความสามารถทางวิชาการของพวกเขาจะสู้กลุ่มคนที่พร้อมกว่าไม่ได้ และทำให้พวกเขาไม่สามารถเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยชั้นนำได้ แม้ว่าพวกเขาก็มีความฝันไม่ต่างจากลูกคนชั้นกลาง    

ค่านิยมเด็กมหาวิทยาลัยที่ไม่เท่าเทียมจะแก้ได้อย่างไร | เรือรบ เมืองมั่น

(ภาพถ่ายโดย Emily Ranquist)

มหาวิทยาลัยเล็กหรือมหาวิทยาลัยท้องถิ่นนั้นมีข้อจำกัดของตนอยู่มากที่ไม่สามารถส่งให้ผู้เรียนมุ่งสู่ความเป็นเลิศได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของแหล่งรายได้ หรือชื่อเสียงในอดีตของตน เมื่อไม่มีเงินอุดหนุนหรือผลงานในอดีต ก็ไม่อาจจ้างอาจารย์ระดับเลิศได้ ก็ส่งผลต่อความสามารถของผู้เรียน   

ไทยพยายามแก้ปัญหาอย่างเช่น ปรับให้มหาวิทยาลัยเหล่านี้มุ่งเน้นการรับใช้ท้องถิ่นมากกว่าแข่งขันในส่วนกลาง แนวทางนี้ก็เหมือนกับวิทยาลัยชุมชนในชาติตะวันตกทำ แต่ตลาดที่รองรับนั้นน้อยกว่าของเขามาก และเยาวชนจำนวนมากจึงยังต้องเรียนไปเพื่อแข่งขันกันในเมืองใหญ่

ผลคือ มีเด็กจำนวนไม่น้อยต้องผิดหวัง ยอมรับงานต่ำกว่าวุฒิ ขาดโอกาสที่จะเดินต่อไปเพราะองค์กรที่ตนทำงานมีข้อจำกัดความก้าวหน้า นี่ยังไม่นับเรื่องการตกงานหรืออื่น ๆ ที่ส่งผลต่อความรู้สึกว่าตนเองไม่เท่าเทียมกับคนจบมหาวิทยาลัยใหญ่ไปด้วย

ทางแก้ที่ว่ายาก เพราะในโลกทุนนิยม จะไปให้องค์กรห้างร้านใหญ่ ๆ ลดมาตรฐานการคัดคน เขาก็ไม่ยอม จริงอยู่ที่เราอาจห้ามการปิดประกาศรับสมัครในเชิงแบ่งแยกวิทยฐานะได้ แต่อคติตอนสัมภาษณ์งานมีอยู่มาก โดยเฉพาะในสังคมไทยที่ชอบเอาพวกพ้องและดูถูกคนด้อยกว่า การให้ลดมาตรฐานคุณสมบัติสำหรับการสมัครงานของรัฐ

เช่น ตัดการสอบวิชาภาษาออกไป ก็เป็นการไม่สมควร เพราะเท่ากับเป็นการตัดโอกาสคนเก่ง การจำกัดเด็กเก่งตั้งแต่ต้นธาร เช่น ไม่ให้มีห้องคิงห้องควีน ก็ไม่สมควร ด้วยเหตุผลเดียวกัน  

ในเมื่อโลกยังมีความไม่เท่าเทียมทั้งในค่านิยมจิตใจและความสามารถชีวิตจริง เราก็ต้องแก้กันไปภายใต้การยอมรับความจริงว่าทุกอย่างจะไม่มีวันสมบูรณ์ อาจพยายามแบบชาติตะวันตกพยายามลดความคลั่งสถาบันลง เช่น ในปารีสมีการใช้หมายเลขแทนชื่อสถาบันเดิม หรือพยายามลดพิธีกรรมบางอย่างที่เอื้อต่ออัตตา

กรณีนี้การยุติการรับน้องแบบ SOTUS ในหลายแห่งแล้วก็นับว่าช่วยได้มาก มีการส่งเสริมการลดความเหยียดด้วยการเปลี่ยนเป็นการพยายามช่วยเหลือกัน เช่น การทำกิจกรรมวิชาการระหว่างมหาวิทยาลัยชั้นนำกับมหาวิทยาลัยชั้นรองมีการปรับจูนความคิดในเชิงช่วยเหลือกัน ไม่ใช่แข่งขันกัน

ยังมีความพยายามอีกหลายอย่างก็จริง แต่ท้ายสุดนักศึกษาผู้เรียนมหาวิทยาลัยเล็กก็ต้องคิดได้ด้วยตนเองว่า ไม่มีใครช่วยเราให้พ้นจากการแข่งขันที่เราเป็นรองได้ด้วยตัวของเราเอง เราต้องพัฒนาคุณค่าของเราเอง โดยไม่ต้องแคร์ว่าเรามีโอกาสน้อยหรือมากกว่าใคร แม้จะมีข้อจำกัดแต่หนทางไปสู่เป้าหวังนั้นยังมีอีกหลายเส้นทางนอกเหนือจากการศึกษา