เมกะเทรนด์กับอนาคตระบบหลักประกันสุขภาพไทย

เมกะเทรนด์กับอนาคตระบบหลักประกันสุขภาพไทย

เมกะเทรนด์ (Megatrend) เปรียบเสมือนคลื่นสึนามิที่จะเข้ามาปะทะในห้วงเวลาอนาคตระยะสั้นและระยะกลาง มีแนวโน้มที่จะส่งผลต่อระบบและการจัดการของบริการภาครัฐทั้งในเชิงโอกาสและข้อท้าทาย

โดยการศึกษาด้านการคาดการณ์อนาคต (Foresight) ที่ Thailand Future ร่วมกับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และห้องปฏิบัติการนโยบาย (Thailand Policy Lab) โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประเทศไทย (UNDP Thailand) ซึ่งได้ศึกษาแนวโน้มที่มีผลกระทบสูงเพื่อให้เห็นทิศทางการพัฒนาของระบบบริการสุขภาพและผลกระทบต่ออนาคตของระบบหลักประกันสุขภาพของไทย หรือที่ทุกคนรู้จักกันว่านโยบายสามสิบบาทรักษาทุกโรค ค้นพบว่ามี 5 เมกะเทรนด์ที่สำคัญ 

  • เมกะเทรนด์ 1: Internet of Health

ระบบสุขภาพแบบออนไลน์และเชื่อมโยงกับพื้นที่ห่างไกล ผ่านการใช้ตู้สุขภาพ (AR/VR Booth) คลินิคเคลื่อนย้ายแบบไร้คนขับ หุ่นยนต์ พันธุกรรม ระบบจัดเก็บข้อมูลบนคลาวด์ โดยการสำรวจพบว่า 69% ของผู้รับบริการในหกประเทศกลุ่มเอเชียแปซิฟิค จะเลือกใช้ตู้ VR ก่อนตัดสินใจรับบริการสุขภาพ รวมทั้ง อุปกรณ์แทปเล็ต ระบบปัญญาประดิษฐ์เพื่อตรวจสุขภาพจะสามารถปรับราคาอยู่ที่ประมาณ 3,000 บาทต่อชิ้น เมื่อผลิตขายเป็นวงกว้างได้ 

เมกะเทรนด์นี้จะช่วยขยายโอกาสประสบการณ์การเข้าถึงระบบสุขภาพแบบเสมือนจริงด้วยเทคโนโลยี รวมถึงความร่วมมือวิจัยต่อยอดข้ามสายเพื่อตอบโจทย์สุขภาพในอนาคต และเตรียมการสำหรับเทคโนโลยีด้านสุขภาพยุคถัดไป อาทิ การจ่ายเงินผ่านสังคมไร้เงินสดอย่างสมบูรณ์และผ่านบริการบน Web 3.0 ในอนาคต 

เมกะเทรนด์กับอนาคตระบบหลักประกันสุขภาพไทย

  • เมกะเทรนด์ 2: Human Dynamic for Well-being 

ความต้องการหลากหลายของประชาชนในอนาคตที่เข้ามามีบทบาทจากแนวโน้มเศรษฐกิจสังคม เนื่องด้วยภาวะสังคมสูงวัย การเปลี่ยนแปลงด้านประชากร และแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่เน้นดึงดูดแรงงานมีทักษะ เพื่อเป็นเกณฑ์ตัดสินใจย้ายเข้ามาขับเคลื่อนประเทศ นำไปสู่การพัฒนานโยบายรูปแบบประกันสุขภาพเป็นเพคแกจที่ตอบโจทย์ตามลักษณะประชากรในอนาคต

เมกะเทรนด์นี้ เน้นการขับเคลื่อนนโยบายสุขภาพของประเทศเพื่อตอบโจทย์การรักษาแบบรายกลุ่มบุคคลจากข้อมูลพื้นหลังด้านสถานะทางเศรษฐกิจสังคม ช่วงวัย  อัตลักษณ์ทางเพศ เชื้อชาติ ลักษณะการทำงาน เพื่อการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม ครอบคลุมสุขภาพกายและใจ และการบูรณาการระบบสิทธิประโยชน์ภาครัฐให้เกิดความคล่องตัวกับวัฏจักรช่วงชีวิต อาทิ สุขภาพ อาหาร การดูแลเด็กเล็กและที่พักอาศัย

  • เมกะเทรนด์ 3: An Era of New Risk Frontiers

ทิศทางความเสี่ยงรูปแบบใหม่ส่งผลต่อแนวทางการบริหารงบสุขภาพ โดยความเสี่ยงด้านโรคภัยจากภัยคุกคามรูปแบบใหม่ ปัญหาสิ่งแวดล้อม ภาวะสงคราม การเมืองในประเทศและภูมิภาค โดยในปี 2573 คาดการณ์ว่าค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพจากปัญหาภาวะโลกรวนอาจสูงถึง 2-4 พันล้านเหรียญสหรัฐทั่วโลก

เมกะเทรนด์นี้จะนำไปสู่กลไกด้านงบสุขภาพที่ตอบโจทย์ความเสี่ยงรูปแบบใหม่ที่เข้ามาปะทะ ผ่านศูนย์การจัดการความเสี่ยง (Risk Center) ครอบคลุมประเด็นสุขภาพเพื่อระบุความเสี่ยงระยะสั้น กลางหรือยาว ในบางประเทศมีการปฏิรูปเชิงนโยบายเพื่อเร่งตอบโจทย์ความเสี่ยงที่กำลังจะขยายผลจากวิกฤติโรคระบาด อาทิ การย้ายระบบปฐมภูมิออกจากโรงพยาบาลโดยใช้เทคโนโลยีทดแทน 

เมกะเทรนด์กับอนาคตระบบหลักประกันสุขภาพไทย

  • เมกะเทรนด์ 4: People Centric Prosumer

การดูแลสุขภาพที่ให้ความสำคัญผ่านการมีส่วนร่วมและเสริมพลังในรูปแบบ Prosumer ในฐานะผู้รับบริการ (บริโภค) และดูแล (ผลิต) สุขภาพของตนเอง การตื่นรู้ของประชาชนผ่านการตรวจสอบบริการภาครัฐ ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ และชุมชนเสมือนบนโลกออนไลน์  

นำไปสู่การต้องพัฒนาระเบียบกฎหมายเพื่อเสริมพลังจากผู้รับบริการไปสู่ผู้ให้บริการ อาทิ กลุ่มดูแลแบบประคับประคองเพื่อลดเวลารักษาตัวในสถานพยาบาล โดยโครงการวิจัย Hospital At Home ทำให้ค่าใช้จ่ายสุขภาพลดลง 32% ช่วงเวลารักษาตัวลดลงหนึ่งในสามเมื่อเทียบกับการรักษาตัวในโรงพยาบาล 

นอกจากนี้ในอนาคตจะต้องเตรียมพัฒนาทักษะให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องรายใหม่ในการส่งเสริมสุขภาพ เช่น ร้านตัดผมในฐานะศูนย์กลางชุมชนหลังการฝึกอบรมขั้นพื้นฐานเพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านสุขภาพให้กับกลุ่มเปราะบาง

  • เมกะเทรนด์ 5: Decentralized financing model

แนวโน้มค่าใช้จ่ายด้านรักษาพยาบาลที่สูงขึ้น การพึ่งพิงการเงินภาครัฐเป็นหลักแต่เนื่องด้วยภาระสังคมสูงวัย โรคระบาด ความไม่เท่าเทียมด้านสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพ ถึงแม้วาระสุขภาพจะเป็นประเด็นหลักในการขับเคลื่อนประเทศ แต่อาจนำไปสู่ภาวะชะงักงันต่อการจัดสรรงบ

ภายใต้เมกะเทรนด์นี้ สะท้อนการกระจายอำนาจไปสู่พื้นที่ เสริมการกำกับมากกว่าควบคุมและเพิ่มแรงจูงใจในการลดภาระค่าใช้จ่ายจากการเจ็บป่วยนำไปสู่การดูแลสุขภาพโดยเน้นคุณค่า เช่น ประเทศเดนมาร์กสนับสนุนการป้องกันโรคผ่านการร่วมจ่ายของเทศบาลกับโรงพยาบาลในพื้นที่ และสนับสนุนงบหากประชาชนในพื้นที่มีสุขภาวะที่ดีและใช้บริการโรงพยาบาลน้อยลง 

การสำรวจแหล่งที่มางบประมาณผ่านรูปแบบการเงินในอนาคตผ่านภาษีท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพในชุมชน การระดมทุน พันธบัตร อาทิ การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่นิวซีแลนด์ โดยกรรมการสุขภาพตำบลเปิดให้บ้านพักผู้สูงวัยใช้วิธีการระดมทุนเพื่อหาทุนสนับสนุน 

ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยถือเป็นระบบที่โดดเด่น เป็นตัวอย่างที่ดีในระดับโลก ช่วยให้คนไทยสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างทั่วถึง ในอนาคตข้างหน้า เรากำลังเผชิญกับเมกะเทรนด์ (Megatrend) ทั้งห้าประการนี้ ซึ่งนำมาทั้งโอกาสและความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ หากบริหารจัดการเตรียมการเชิงรุกได้ดี ก็จะทำให้นโยบายนี้ก้าวหน้าไปอีกขั้นและสามารถรับมือกับอนาคตได้อย่างทันท่วงที

เมกะเทรนด์กับอนาคตระบบหลักประกันสุขภาพไทย

คอลัมน์ คิดอนาคต
ภัณณิน สุมนะเศรษฐกุล
ธราธร รัตนนฤมิตศร
สถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future Foundation)
https://www.facebook.com/thailandfuturefoundation/