Web2.0 เมื่อข้อมูลฝากอนาคต ไว้กับเจ้าของแพลตฟอร์ม

Web2.0 เมื่อข้อมูลฝากอนาคต ไว้กับเจ้าของแพลตฟอร์ม

กระทั่งในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมาอินเทอร์เน็ตได้ก้าวเข้าสู่ยุค Web 2.0 ที่นอกจากเราอ่านเนื้อหาต่างๆ ได้ เรายังเขียนได้ทำให้คนเริ่มโพสต์ข้อมูลมากขึ้น มีแพลตฟอร์มต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย

หลายคนที่อยู่บนโลกอินเทอร์เน็ตคงเป็นเหมือนผมที่มีข้อมูลจำนวนมากเก็บอยู่บนโลกออนไลน์ ผมเล่นอินเทอร์เน็ตมาเกือบ 30 ปี ตั้งแต่ยังเป็นยุคที่เป็น Web 1.0 ที่เราสามารถอ่านได้อย่างเดียว แต่ตอนนั้นด้วยความที่เป็นคนไอทีก็มีเว็บไซต์ของตัวเองและสร้างเนื้อหาจำนวนมากใส่เข้าไปในโลกออนไลน์

กระทั่งในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมาอินเทอร์เน็ตได้ก้าวเข้าสู่ยุค Web 2.0 ที่นอกจากเราอ่านเนื้อหาต่างๆ ได้ เรายังเขียนได้ทำให้คนเริ่มโพสต์ข้อมูลมากขึ้น มีแพลตฟอร์มต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย

ทั้ง Facebook และ Google จนมาถึงในยุคปัจจุบันที่มี Instagram, TikTok และอีกสารพัดแพลตฟอร์มที่ให้สามารถเก็บทุกสิ่งทุกอย่างลงไปได้ ตั้งแต่ ไฟล์ ข้อความ รูปภาพ คลิป หรือข้อมูลต่างๆ จนเรียกได้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตของเราไปอยู่บนแพลตฟอร์มในคลาวด์ซึ่งอยู่ที่ใดไม่อาจรู้ได้

คนรุ่นใหม่ที่เกิดมาในยุคดิจิทัล แทบจะไม่ใช้กระดาษ ไม่มีสมุดไดอารี สมุดบันทึกใดๆ หรือแม้แต่อัลบั้มรูปภาพ ด้วยความที่อยู่ในโลกออนไลน์ ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ในรูปแบบดิจิทัล ตั้งแต่เอกสารที่เขียน รูปที่ถ่าย จึงไม่มีความจำเป็นต้องแปลงกลับมาในรูปแบบอนาล็อก ทุกสิ่งทุกอย่างก็เก็บไปในคลาวด์ได้ทั้งหมด

และหากรวมถึงการทำธุรกรรมในการใช้ชีวิตประจำวันของเราก็เริ่มจะเปลี่ยนไป วันนี้เราสามารถไปเปิดบัญชีธนาคารได้โดยไม่ต้องไปที่สาขา ใช้ระบบ NDID ยืนยันตัวตนจากที่ใดก็ได้ อีกทั้งบัญชีที่เปิดไม่ต้องมีสมุด ดูยอดเงินหรือทำธุรกรรมผ่านโมบายแบงค์กิ้งได้ทันที หรือแม้แต่จะซื้อล็อตเตอรี่ในวันนี้ เราก็สามารถเข้าแอปเป๋าตังเพื่อซื้อสลากดิจิทัล จ่ายเงินออนไลน์ตัวสลากที่จับต้องได้แบบเดิมก็ไม่ต้องมี รวมทั้งสามารถตรวจผลและรับรางวัลผ่านออนไลน์ได้ด้วย

เราใช้ชีวิตอยู่บนโลกดิจิทัลจนเคยชิน ข้อมูลต่างๆ อยู่บนแพลตฟอร์มจนฝากทุกอย่างไปไว้บนนั้นได้ ทุกอย่างผูกอยู่บนบัญชีของเราที่มีชื่อผู้ใช้และรหัสผ่านช่วยป้องกันไม่ให้คนอื่นเข้าถึงข้อมูลของเราได้ และบางคนมั่นใจในระบบความปลอดภัยของแพลตฟอร์มต่างๆ จนถึงขั้นยอมเก็บงานต่างๆ แทบทั้งหมดไว้บนแพลตฟอร์มเหล่านั้น

ในโลก Web 2.0 แม้สามารถจะอ่านและเขียนข้อมูลต่างๆ ลงบนแพลตฟอร์มได้ แต่เราอาจไม่ใช่เจ้าของข้อมูล ข้อความหรือรูปภาพที่โพสต์ลงบนแพลตฟอร์มต่างๆ เจ้าของแพลตฟอร์มอาจสามารถนำไปวิเคราะห์และสร้างรายได้จากการโฆษณา การใช้งานในบางแพลตฟอร์มต้องเสียค่าใช้จ่ายบริการทุกเดือน อีกทั้งยังเคลื่อนย้ายข้อมูลได้ยาก และข้อสำคัญคือทุกอย่างที่เราฝากไว้ขึ้นอยู่กับผู้ให้บริการ

บ่อยครั้งที่เรามักจะได้ยินข่าวว่าบัญชีของผู้ใช้ถูกแฮกไม่สามารถเข้าใช้งานได้ ข้อมูลต่างๆ ที่เคยสะสมมาไม่สามารถเรียกใช้งานได้ ทำให้ต้องเสียรูปภาพที่สะสมมาเป็นเวลานานหลายปี หรือสูญหายไฟล์ที่สำคัญ กรณีนั้นยังถือว่าอาจเป็นข้อผิดพลาดจากการใช้งาน หรือการตั้งระบบความปลอดภัยส่วนตัวไม่ดี

แต่หากเกิดในกรณีที่แพลตฟอร์มปิดไป หรือระงับการใช้งาน สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นเรื่องที่เจ้าของแพลตฟอร์มสามารถที่จะทำได้ เพราะแฟลตฟอร์มส่วนใหญ่เป็นระบบปิด และผู้ใช้ไม่ได้มีสิทธิในความเป็นเจ้าของแพลตฟอร์มหรือแม้แต่ข้อมูลที่เราโพสต์ลงไปก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นของเรา

เมื่อปีที่ผ่านมาภายหลังจาก Mark Zuckerberg ได้ประกาศเปิดตัว Meta ปรากฎว่ามีเหตุการณ์หนึ่งที่ศิลปินชาวออสเตรเลียที่ชื่อ Thea-Mai Baumann พบว่าบัญชีของเธอใน Instagram ซึ่งมี Handle ชื่อ@metaverse ได้ถูกลบออกไป ผลงานของเธอที่สะสมมาเป็นเวลานานกว่าสิบปีไม่สามารถเข้าถึงได้อีกต่อไป โดยที่เธอไม่มีโอกาสได้ทำการสำรองงานในรูปแบบดิจิทัลเหล่านั้นไว้ นั่นคืองานทั้งชีวิตได้หายไป

Facebook ซึ่งเป็นเจ้าของ Instagram ได้ระบุเหตุผลในการระงับบัญชีของเธอว่าเธอปลอมเป็นคนอื่น (Your account has been blocked for pretending to be someone else.) ทั้งๆ ที่เธอใช้บัญชีนั้นเป็นเวลายาวนานแล้ว เธอพยายามจะขอสิทธิ์ในการใช้บัญชีกลับคืนมาแต่ไม่เป็นผล จนกระทั่งหลายสัปดาห์ต่อมาเรื่องนี้ไปถึงหนังสือพิมพ์ New York Times เธอจึงได้บัญชีกลับมาพร้อมกับคำชี้แจงของ Instagram ว่า เป็นความพลาดในการระงับการใช้งาน

ตราบใดที่เรายังใช้ชีวิตในโลกออนไลน์ที่เป็น Web 2.0 เราก็ยังมีความเสี่ยงในเรื่องความที่ไม่เป็นเจ้าของแพลตฟอร์มหรือข้อมูล นั้นคือเหตุผลที่ว่าโลกอินเทอร์เน็ตต้องมุ่งเข้าสู่ Web 3.0 ที่นอกจากเราจะอ่านเขียนแล้วเรายังเป็นเจ้าของข้อมูล สามารถสร้างรายได้จากข้อมูลได้ สามารถที่จะเคลื่อนย้ายข้อมูลข้ามแพลตฟอร์มได้

Web 3.0 ซึ่งก็อาจมี Metaverse ที่เป็นหนึ่งในระบบนั้น จะต้องเป็นระบบเปิด มีมาตรฐานที่ดี ทุกคนมีความเป็นเจ้าของ และความสามารถเคลื่อนย้ายไม่ผูกอยู่กับแพลตฟอร์มใดๆ ถ้าถึงตอนที่ Web 3.0 มีการใช้งานอย่างจริงจังแล้ว ผู้ใช้อย่างเราที่ฝากทุกสิ่งทุกอย่างไว้บนโลกออนไลน์ก็คงจะสบายใจขึ้นได้ว่า ชีวิตของเราไม่ได้ถูกกำหนดด้วยเจ้าของแพลตฟอร์มรายใดรายหนึ่งที่จะสามารถระงับการใช้งานหรือเอาข้อมูลของเราออกไปได้ โดยไม่ต้องมีเหตุผลใดๆ ที่ดีพอ