มองโกเลีย

มองโกเลีย

ณ ขณะที่เขียนต้นฉบับนี้ ผู้เขียนอยู่ระหว่างเดินทางในประเทศมองโกเลีย ประเทศที่ไม่มีทางออกติดทะเลที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากคาซัคสถาน ในช่วงที่หลายประเทศเริ่มเปิดให้มีการเดินทางระหว่างกันได้

สำหรับคนไทยโดยทั่วไปแล้วอาจไม่รู้จักประเทศมองโกเลีย มากเท่ากับรู้จักผู้นำที่ยิ่งใหญ่เกรียงไกรที่สุดคนหนึ่งของโลกอย่างเจงกิสข่าน ผู้บุกตะลุยยึดครองไปเกือบครึ่งโลก ครอบคลุมรัสเซีย จีน เปอร์เซีย บางส่วนของอินเดีย จนไปจรดแม่น้ำดานูบในยุโรปตะวันออก ปัจจุบันมองโกเลียมีอาณาเขตติดต่อกับด้านเหนือของจีน และตอนใต้ของรัสเซีย มีขนาดประมาณ 3 เท่าของไทย แต่มีประชากรเพียง 3.3 ล้านคนเท่านั้น ส่งผลให้เป็นประเทศที่มีความหนาแน่นของประชากรที่ต่ำที่สุดในโลก

แม้ว่ามองโกเลียจะมีพื้นที่กว้างใหญ่ แต่มีส่วนที่เป็นทะเลทรายมากถึงเกือบ 1 ใน 3 ของประเทศประกอบกับสภาพภูมิอากาศที่ยากต่อการเพาะปลูก ทำให้มองโกเลียจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าอาหารจำพวกพืชผัก ผลไม้จากรัสเซีย และจีน โดยเน้นการผลิตและส่งออกทองแดง ปศุสัตว์ ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ผ้าแคชเมียร์ ขนสัตว์ หนังสัตว์ โลหะ ถ่านหิน และน้ำมันดิบ เป็นต้น

มองโกเลีย และไทยมีวัฒนธรรมที่มีรากเหง้ามาจากพระพุทธศาสนาเหมือนกัน โดยศาสนาพุทธสายธิเบตได้ถูกกำหนดเป็นศาสนาประจำชาติของมองโกลมาตั้งแต่สมัยกุบไลข่าน ซึ่งเป็นพระราชนัดดาของเจงกิสข่าน และเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์หยวน โดยในช่วงที่ศาสนาพุทธรุ่งเรืองถึงขีดสุดในศตวรรษที่ 20 นั้น มีหลักฐานว่ามีวัดวาอารามอยู่มากถึง 700 แห่ง และมีพระสงฆ์มากถึง 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด

แต่ด้วยเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงทางการเมืองในช่วงสิ้นสุดการตกอยู่ภายใต้อำนาจของราชวงศ์ชิง ของจีน จนนำไปสู่การประกาศเอกราชในคศ. 1921 โดยได้รับการสนับสนุนและช่วยเหลือจากรัสเซีย ซึ่งด้วยอุดมคติและความเชื่อทางการเมืองที่เข้มข้นของระบอบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ของรัสเซียในขณะนั้น ทำให้เกิดการกวาดล้างครั้งใหญ่ โดยภายในระยะเวลาเพียง 2 ปี (คศ. 1937 - 1939) มีการสังหารพระสงฆ์ไปจำนวนมากถึง 15,000 - 20,000 รูป

บ้านเรือน วัดวาอารามแทบทั้งหมดถูกรื้อทำลาย และทิ้งร้าง (เหลือเพียง 3 วัดที่เหลือไว้เป็นพิพิธภัณฑ์เท่านั้น) เพื่อสร้างเป็นอาคารสมัยใหม่ แม้กระทั่งพระปฏิมาอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ พระรูปยืน องค์ประธานของพระอาราม Gandha ขนาดสูง 26.5 เมตร อายุเกือบร้อยปี (ณ ขณะนั้น)

ซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนมองโกเลียก็ยังถูกหลอมละลายมาทำเป็นกระสุนทองแดงสำหรับใช้ในกองทัพรัสเซีย ตัวอักษรที่ใช้กันเป็นการทั่วไป ก็เป็นตัวอักษรซีริลลิกตามรัสเซีย (แต่ยังคงเป็นคำ และออกเสียงเป็นภาษามองโกเลียอยู่) และแม้ว่ามองโกเลียจะเปลี่ยนมาเป็นประเทศประชาธิปไตยภายหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียตเมื่อค.ศ. 1990 แต่ดูเหมือนพระพุทธศาสนาก็ยังไม่สามารถรื้อฟื้นกลับไปรุ่งเรืองได้ดังเดิม

ความพยายามของรัฐบาลในการรื้อฟื้นให้มีการสอนตัวอักษรมองโกเลียเพิ่มเติมก็แทบไม่เป็นผล เพราะคนส่วนใหญ่ก็ยังอ่านตัวอักษรมองโกเลียแทบไม่ได้

แต่เหรียญมีสองด้าน รัสเซียเองก็ช่วยเหลือสนับสนุนประเทศมองโกเลียเป็นอย่างดียิ่งมาโดยตลอด ทำให้ประเทศที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นชนเผ่าเร่ร่อน ได้มีการศึกษา มีโรงเรียน มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล ถนน รถไฟ ไฟฟ้า น้ำสะอาด โดยคนที่อายุประมาณ 50 ปีขึ้นไปโดยส่วนใหญ่มีความนิยมชมชอบรัสเซียเป็นอย่างมาก

สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนได้เรียนรู้จากการมาเยือนประเทศมองโกเลียในครั้งนี้ นอกจากการได้ชื่นชมทัศนียภาพที่งดงามอันหาได้ยากยิ่งแล้ว ก็มีเรื่องให้ได้เตือนใจตนเองว่าสิ่งที่ดูเป็นเรื่องที่เกิดจากอุดมคติ ความเชื่อหรือความตั้งใจดีในช่วงหนึ่ง เมื่อมองย้อนกลับไป ก็อาจกลายเป็นเรื่องน่าเศร้าเสียใจที่เรียกกลับคืนมาไม่ได้เช่นกัน