ไฟไหม้สำเพ็ง: มีผู้ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย | สกล หาญสุทธิวารินทร์

ไฟไหม้สำเพ็ง: มีผู้ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย | สกล หาญสุทธิวารินทร์

สำเพ็ง เป็นย่านการค้าเก่าแก่ของคนจีน ที่มาตั้งรกรากอยู่ในเมืองไทย ประวัติความเป็นมาเริ่มตั้งแต่ปี 2325 มีสถานที่ตั้งเริ่มจากวัดสามปลื้ม ไปจรดคลองสำเพ็ง เป็นย่านธุรกิจการค้าที่มีการจำหน่ายสินค้ามากมายหลากหลาย ทั้งค้าปลีกค้าส่ง

เนื่องจากสถานประกอบการเป็นอาคารแถวและอยู่ติดกันแบบแออัด เมื่อเกิดเพลิงไหม้แต่ละครั้งจะทำความเสียหายมาก ผู้ประกอบการหลายรายถึงกับสิ้นเนื้อประดาตัว จนมีการนำไปใช้เป็นคำสแลงของเซียนมวยในสนามมวยที่เล่นพนันขันต่อกัน เมื่อมวยที่เป็นต่อแบบหาคนรองยาก พลิกล็อกแพ้มวยรอง ทำให้เซียนมวยที่เล่นพนันมวยที่เป็นต่อบางรายต้องจ่ายเงินแพ้พนัน เกือบหมดตัว เรียกว่า “เกิดไฟไหม้สำเพ็งที่ราชดำเนิน หรือลุมพินี”

แต่การเกิดเพลิงไหม้ที่สำเพ็ง เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 2565 ไม่ใช่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นที่สนามมวย แต่เป็นเหตุการณ์ไฟไหม้ที่เกิดขึ้นจริงที่สำเพ็งจนมีผู้เสียชีวิต 3 ราย ผู้บาดเจ็บหลายราย อาคารร้านค้าและสินค้าถูกเพลิงไหม้เสียหายหลายราย ตามข่าวที่ปรากฏในสื่อยืนยันตรงกันว่า สาเหตุของเพลิงไหม้เกิดจากเกิดประกายไฟที่สายไฟฟ้าและหม้อแปลงไฟฟ้าในบริเวณนั้นจนลุกลามไปไหม้อาคารร้านค้าดังกล่าว

จากการเกิดเพลิงไหม้จนมีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บและอาคารและทรัพย์สินเสียหายดังกล่าว ข้อเท็จจริงที่ปรากฏ เหตุเพลิงไหม้เกิดขึ้นจากกระแสไฟฟ้า โดยมีประกายไฟที่เกิดขึ้นเองที่สายไฟฟ้าหรือหม้อแปลงไฟฟ้าที่ใกล้กับจุดต้นเพลิง แม้ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าเกิดจากการกระทำของผู้ใดก็ตาม สายไฟฟ้าหรือหม้อแปลงไฟฟ้าดังกล่าวเป็นทรัพย์สินของหรืออยู่ในความครอบครองของการไฟฟ้านครหลวง ซึ่งเป็นนิติบุคคล การไฟฟ้านครหลวง จึงต้องรับผิดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 437 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่บัญญัติไว้ดังนี้

“มาตรา 437 บุคคลใดครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะอย่างใด ๆ อันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกล บุคคลนั้นจะต้องรับผิดชอบเพื่อการเสียหายอันเกิดแต่ยานพาหนะนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายนั้นเอง ความข้อนี้ให้ใช้บังคับได้ตลอดถึงบุคคลผู้มีไว้ในครอบครองของตน ซึ่งทรัพย์อันเป็นของเกิดอันตรายได้โดยสภาพ หรือโดยความมุ่งหมายที่จะใช้ หรือโดยอาการกลไกของทรัพย์นั้นด้วย"

ที่ผ่านมากรณีเกิดเพลิงไหม้ เสียหายต่อทรัพย์สินอันเกิดจากกระแสไฟฟ้าลัดวงจร มีคำพิพากษาของศาลฎีกาที่วินิจฉัยไว้ อันถือเป็นบรรทัดฐานได้ เช่น

  • กรณีการไฟฟ้านครหลวงต้องรับผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1469/2537 โจทก์ นายละออ คู่เมือง จำเลย การไฟฟ้านครหลวง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ตามที่จำเลยฎีกาเป็นข้อแรกว่า จำเลยเป็นฝ่ายประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายหรือไม่ ในการวินิจฉัยปัญหานี้จำเป็นต้องวินิจฉัยก่อนว่าเหตุเพลิงไหม้คดีนี้เกิดจากหม้อแปลงไฟฟ้าหรือสายไฟฟ้าซึ่งอยู่ในความครอบครองของจำเลยหรือไม่

ในปัญหานี้ พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลยฟังได้ว่าเหตุที่เกิดไฟไหม้ตึกแถว 10 คูหาของโจทก์เสียหาย เนื่องจากมีกระแสไฟฟ้าลัดวงจรที่เสาไฟฟ้าและหม้อแปลงไฟฟ้า ซึ่งอยู่ในความครอบครองของจำเลยโดยที่สายไฟฟ้า ซึ่งมีกระแสไฟฟ้าเดินอยู่และหม้อแปลงไฟฟ้าเป็นทรัพย์อันเป็นของเกิดอันตรายได้โดยสภาพ 

จำเลยผู้มีทรัพย์ดังกล่าวไว้ในครอบครองจึงต้องรับผิดเพื่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากทรัพย์ดังกล่าว เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายนั้นเอง ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 437 เมื่อจำเลยไม่ได้พยานหลักฐานมาสืบเลยว่าเหตุที่เกิดไฟไหม้ตึกแถวของโจทก์ดังกล่าวเกิดจากเหตุสุดวิสัยหรือเกิดเพราะความผิดของโจทก์แต่อย่างใดจึงฟังไม่ได้เช่นนั้น 

เมื่อคดีฟังได้ว่าเหตุเพลิงไหม้ตึกแถวของโจทก์เสียหายเกิดจากสายไฟฟ้าและหม้อแปลงไฟฟ้า ซึ่งเป็นของเกิดอันตรายได้โดยสภาพที่อยู่ในครอบครองของจำเลย โดยมิได้เกิดเหตุสุดวิสัยหรือเกิดเพราะความผิดของโจทก์ผู้ต้องเสียหายเช่นนี้แล้ว แม้จำเลยมิได้ประมาทเลินเล่อทำให้เกิดไฟไหม้ดังกล่าว จำเลยก็ต้องรับผิดในความเสียหายของโจทก์อันเกิดจากสายไฟฟ้าและหม้อแปลงไฟฟ้าของจำเลย

 

ไฟไหม้สำเพ็ง: มีผู้ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย | สกล หาญสุทธิวารินทร์

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2651/2546

การไฟฟ้านครหลวง จำเลยที่ 2 มีวัตถุประสงค์ในการจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าแก่ประชาชน จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 เมื่อกระแสไฟฟ้าที่จำเลยที่ 2 จัดให้มีขึ้นเพื่อจำหน่ายให้แก่ประชาชนเกิดการลัดวงจรเป็นเหตุให้เพลิงลุกไหม้ทำให้ทรัพย์สินของโจทก์เสียหาย จำเลยที่ 2 ผู้ครอบครองกระแสไฟฟ้าซึ่งเป็นทรัพย์ที่เกิดอันตรายได้โดยสภาพ 

จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นเกิดจากเหตุสุดวิสัยหรือเกิดเพราะความผิดของโจทก์ผู้ต้องเสียหายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 437 วรรคสอง แม้จำเลยที่ 2 นำสืบว่าได้ดูแลและบำรุงรักษาอุปกรณ์ไฟฟ้าอย่างดีแล้ว แต่ไม่ได้พิสูจน์ว่ากระแสไฟฟ้าลัดวงจรเกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือเป็นความผิดของโจทก์ จำเลยที่ 2 จึงไม่พ้นความรับผิด 

ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว เพราะจำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นผู้ครอบครองกระแสไฟฟ้าหรือทำให้กระแสไฟฟ้าลัดวงจร

ข้อสรุป จากบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 437 และแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 469/2537 และที่ 2651/2546 ดังกล่าว เห็นว่ากรณีไฟไหม้สำเพ็งเมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 2565 หน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ผู้ได้รับความเสียหายอย่างหนีไม่พ้นคือการไฟฟ้านครหลวง เว้นแต่จะพิสูจน์ให้ศาลเห็นได้ว่าเกิดจากเหตุสุดวิสัยหรือผู้เสียหายมีส่วนผิดด้วย