เบลเยียม ผู้นำด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ในยุโรป | EU watch

เบลเยียม ผู้นำด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ในยุโรป | EU watch

หากพูดถึงเบลเยียม ผู้อ่านอาจนึกถึงช็อกโกแลตหรือเบียร์เป็นลำดับแรก หรือนึกถึงเมืองหลวงบรัสเซลส์ซึ่งเป็นที่ตั้งของหน่วยงานสำคัญต่าง ๆ ของสหภาพยุโรป แต่เบลเยียมยังมีความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่น่าสนใจ

ในช่วงวิกฤติโควิด-19 เบลเยียมถือได้ว่าเป็นศูนย์ผลิตวัคซีนสำคัญแห่งหนึ่งของยุโรป และเป็นประเทศที่ส่งออกเครื่องมือแพทย์มูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านยูโรต่อปี กล่าวคือเป็นผู้ส่งออกเครื่องมือแพทย์ลำดับที่ 4 ของยุโรป (รองจากเยอรมนี เนเธอร์แลนด์ และไอร์แลนด์) ทีมงานไทยยุโรปฯ ได้มีโอกาสนั่งคุยกับ พญ. กนกวรุณ วัฒนนิรันตร์ จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เกี่ยวกับนวัตกรรมการผ่าตัดทารกในครรภ์ที่เบลเยียม

เบลเยียม ผู้นำด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ในยุโรป | EU watch

พญ. กนกวรุณ วัฒนนิรันตร์

  • เบลเยียมเป็นศูนย์กลางการผ่าตัดทารกในครรภ์ของยุโรป

พญ. กนกวรุณ ปัจจุบันกำลังทำงานวิจัยอยู่ที่ศูนย์วิจัยทารกในครรภ์ (My FetUZ Fetal Research Center) ที่ โรงพยาบาล UZ Leuven มหาวิทยาลัย Katholieke Universiteit Leuven (KU Leuven) ประเทศเบลเยียม เล่าว่า ศูนย์วิจัยทารกในครรภ์ของโรงพยาบาล UZ Leuven โดย นพ. Jan Deprest มีความโดดเด่นและเชี่ยวชาญด้านการรักษาทารกในครรภ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้าน Fetoscopic Endoluminal Tracheal Occlusion (FETO) หรือการรักษาทารกในครรภ์ โดยการส่องกล้องผ่านผนังหน้าท้องมารดา 

เพื่อใส่บอลลูนขนาดเล็กไปอุดกั้นหลอดลมของทารกขณะอยู่ในครรภ์ชั่วคราว นำไปสู่การสะสมของของเหลวในปอดซึ่งช่วยกระตุ้นการเพิ่มปริมาตรและความจุของปอด และเมื่อนำบอลลูนออกเมื่อใกล้คลอด จะทำให้การพัฒนาของปอดสมบูรณ์มากขึ้น ทำให้เพิ่มโอกาสในรอดชีวิตของทารกในครรภ์ ที่มีภาวะไส้เลื่อนกระบังลมแต่กำเนิด (Congenital diaphragmatic hernia (CDH))

ซึ่ง นพ. Jan และทีมแพทย์ในเครือข่าย (FETO Task Force) เป็นผู้คิดค้นวิธีการรักษาโรค CDH ด้วยการใส่บอลลูนดังกล่าว ทำให้ปัจจุบันโรงพยาบาล UZ Leuven เป็นศูนย์กลางของการรักษากรณีที่เข้าข่าย CDH จากโรงพยาบาลในเครือข่ายในยุโรป อาทิ จากเนเธอร์แลนด์และสหราชอาณาจักร

 

เบลเยียม ผู้นำด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ในยุโรป | EU watch

(ภาพถ่ายโดย Polina Tankilevitch)

 

  • โอกาสในการเพิ่มพูนความความร่วมมือระหว่างไทย-เบลเยียม

นอกจากนี้ โรงพยาบาล UZ Leuven ยังมีความเชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดเพื่อแก้ไขความบกพร่องของกระดูกไขสันหลัง (Spina Bifida) โดยการผ่าตัดเปิดหน้าท้องมารดาเพื่อแก้ไขปัญหาที่กระดูกสันหลังของทารกตั้งแต่อยู่ในครรภ์ เพื่อลดความรุนแรงของความพิการที่อาจเกิดขึ้น อันเป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับเด็กด้วยนวัตกรรมการแพทย์สมัยใหม่

ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการผ่าตัดชนิดนี้ในประเทศไทย จึงเป็นอีกหนึ่งสาขาการแพทย์ที่มีโอกาสในการพัฒนาความร่วมมือระหว่างไทย-เบลเยียมในอนาคต

 

  • ปัจจัยในการพัฒนาเครื่องมือแพทย์

จากกรณีของโรงพยาบาล UZ Leuven พบว่า ปัจจัยที่ทำให้เบลเยียมมีการผลิตนวัตกรรมการแพทย์ใหม่และเครื่องมือการแพทย์ที่ทันสมัย ได้แก่ การคิดนอกกรอบของบุคลากรทางการแพทย์ และการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพระหว่างแพทย์ผ่าตัดที่ต้องการคิดค้นอุปกรณ์การแพทย์ใหม่ ๆ เพื่อปรับปรุงแนวทางการรักษาโรคให้คนไข้มีทางเลือกมากขึ้น กับวิศวกรผู้ออกแบบอุปกรณ์การแพทย์นอกห้องผ่าตัดที่พร้อมใช้ความรู้ทางเทคนิคในสร้างสรรอุปกรณ์ใหม่ ๆ มาให้แพทย์ผ่าตัดทดลอง

โดยร่วมพัฒนาอุปกรณ์การแพทย์ไปพร้อมกัน ซึ่งทำให้เกิดผลลัพท์ที่เป็นรูปธรรมและสามารถพัฒนาต่อยอดเป็นเครื่องมือแพทย์สู่ตลาดได้อย่างรวดเร็วและตอบโจทย์แพทย์ผู้ใช้งาน อาทิ ปัจจุบันทางทีมของ นพ. Jan กำลังทดลองการรักษา CDH ด้วยสมาร์ทบอลลูน (สำหรับการผ่าตัด FETO) พัฒนาบอลลูนที่สามารถปล่อยลมออกเองได้ เพื่อลดขั้นตอนการผ่าตัดทารกในครรภ์ครั้งที่ 2 เพื่อเอาบอลลูนออก ซึ่งเป็นการลดความเสี่ยงทั้งสำหรับมารดาและทารกในครรภ์อีกด้วย

ซึ่งทางทีมทำการทดลองในสัตว์สำเร็จแล้ว และขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการทดลองในมนุษย์ในระยะที่ 1 ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะสามารถทดแทนการรักษาแบบเดิมได้ในเร็ว ๆ นี้

สุดท้ายนี้ จากประสบการณ์ของ พญ. กนกวรุณ ยังฝากคำแนะนำถึงนักวิจัยไทยที่สนใจทำวิจัยด้านการแพทย์หรืองานวิจัยเฉพาะทางในต่างประเทศ หากมีเวลาและโอกาสให้เรียนภาษาท้องถิ่นระดับเบื้องต้นมาก่อน เพื่อช่วยให้เข้าใจการสื่อสารที่สำคัญ โดยในห้องผ่าตัดที่รายละเอียดเล็กน้อยก็มีความสำคัญมาก ตลอดจนเพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตประจำวันในต่างประเทศ

และหวังว่าไทยจะมีโอกาสนำองค์ความรู้ด้านการแพทย์ด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ที่เป็นเลิศของเบลเยียมที่ตนกำลังศึกษาไปถ่ายทอดให้วงการแพทย์ที่ไทย เพื่อเป็นการเพิ่มทางเลือกในการรักษาให้คนไข้ และพัฒนาให้ไทยเป็นศูนย์กลางของการรักษาด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ในอาเซียนต่อไป
 

คอลัมน์ : EU watch
ทีมงาน ThaiEurope.net
facebook @thaieurope.net
www.thaieurope.net