เมื่อตราสารหนี้กลับมาให้ผลตอบแทนที่สูงอีกครั้ง

การปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อที่สูงที่สุดในรอบกว่า 40 ปี ทำให้ธนาคารกลางสำคัญๆ (ยกเว้นประเทศญี่ปุ่นและจีน) ต้องหันกลับมาใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัวหรือเข้มงวดขึ้น

โดยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่เร็วและแรงกว่าที่คาดการณ์ไว้อย่างที่นักลงทุนได้เห็นธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ขึ้นครั้งเดียวในรอบการประชุมล่าสุดเดือนมิ.ย.ถึง 0.75% และตลาดยังคงคาดว่าจะยังขึ้นแรงในการประชุมครั้งถัดไปในการประชุมปลายเดือนก.ค.นี้ ซึ่งเรื่องนี้จะส่งผลอย่างไรกับตลาดการเงินและการลงทุนโดยเฉพาะการลงทุนในตราสารหนี้ควรปรับเปลี่ยนกลยุทธ์อย่างไร

ผลตอบแทนของสินทรัพย์ในช่วงครึ่งปีแรกเป็นสิ่งที่สะท้อนภาพได้อย่างชัดเจนถึงผลกระทบของการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยโดยเฉพาะตลาดตราสารหนี้ซึ่งเรียกได้ว่ามีการปรับตัวลงแรงมากที่สุด พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยปรับตัวลงเกือบ 15% เป็นปีที่แย่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 1788

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ดัชนี S&P500 ปรับตัวลงถึง 20% (ข้อมูล ณ วันที่ 28 มิถุนายน 2565) ยังไม่นับราคาหุ้นในกลุ่มบริษัทที่ไม่มีกำไรรวมไปถึงสินทรัพย์ดิจิตอลนั้นปรับตัวลงไปมากกว่านี้มาก ความผันผวนของตลาดการเงินทั้งหมดนี้เนื่องมาจากการรีเซตในด้านต้นทุนทางการเงินที่กำลังเปลี่ยนผ่านจากยุค free money ที่หลายๆ ประเทศนั้นใช้อัตราดอกเบี้ยต่ำหรือกระทั่งติดลบมาอย่างยาวนาน

การปรับตัวลงของราคาตราสารหนี้ในครั้งนี้ทำให้อัตราผลตอบแทนนั้นมีการปรับตัวสูงขึ้นและมีความน่าสนใจอย่างมากในรอบหลายปี (ราคาของตราสารหนี้จะผกผันกับอัตราผลตอบแทนหรือ Bond yield) ทั้งนี้แม้ว่าภาพของอัตราผลตอบแทนที่อาจจะยังมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นต่อได้แต่คาดว่าจะเพิ่มอีกไม่มากเพราะได้สะท้อนการขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปมากแล้ว

 

ทั้งนี้เรายังคาดว่าอัตราเงินเฟ้อนั้นจะปรับลดลงในช่วงข้างหน้าทั้งจากการปรับตัวของห่วงโซ่อุปทานที่ดีขึ้น ในขณะเดียวกันความพยายามในการต่อสู้เงินเฟ้อของธนาคารกลางน่าจะเริ่มส่งผลต่อเงินเฟ้อให้ลดลงได้ในช่วงข้างหน้าตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจ นอกจากนี้ราคาสินค้าที่แพงก็จะส่งผลให้การบริโภคชะลอตัวเช่นกันแม้ประเด็นเรื่องสงครามยังไม่ได้หายไปก็ตาม

กลยุทธ์การลงทุนในตราสารหนี้ในภาวะปัจจุบันจึงควรให้ความสำคัญกับ 1.ระยะเวลาหรืออายุคงเหลือของตราสารหนี้ควรอยู่ในระยะสั้นถึงกลางไม่เกิน 3-5ปี เพื่อลดความเสี่ยงในด้านความผันผวนของราคา 2.ต้องมีกลยุทธ์ที่ยืดหยุ่นและสามารถปรับได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการลงทุนผ่านกองทุนรวม เนื่องจากตลาดตราสารหนี้ในปัจจุบันนั้นมีความผันผวนที่สูงมาก

3.การคัดเลือกสินทรัพย์และการกระจายการลงทุนยังเป็นสิ่งที่สำคัญ โดยเฉพาะตราสารหนี้การเลือกบริษัทที่มีฐานะทางการเงินและกระแสเงินสดที่แข็งแกร่ง มีความสามารถในการชำระหนี้ที่ดีจะช่วยลดความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ได้

การลงทุนในตราสารหนี้ที่น่าสนใจปัจจุบันคือ หุ้นกู้เอกชนคุณภาพดีที่อันดับความน่าเชื่อถืออยู่ระหว่างระดับ Investment grade และ High yield ในสหรัฐฯ ซึ่งปัจจุบันมีส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (Credit spread) ซึ่งสะท้อนความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ที่สูงขึ้นแต่เรามองว่านี่คือโอกาส บริษัทเหล่านี้ยังคงมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง โดย ณ ปัจจุบันนักลงทุนสามารถที่จะลงทุนในหุ้นกู้บริษัทเอกชนของสหรัฐฯ หรือตราสารหนี้เอกชนอื่นๆ ในสกุลดอลลาร์ (USD) ในระดับ investment grade

โดยได้อัตราผลตอบแทนที่ใกล้เคียง 4% นอกจากนี้หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่และตราสารทางการเงินที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่ออกโดยธนาคารก็มีความน่าสนใจเช่นกัน แม้ว่าตราสารประเภทนี้จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเพราะมีสิทธิเรียกร้องชำระหนี้ในอันดับหลังจากเจ้าหนี้บุริมสิทธิและเจ้าหนี้ทั่วไปแต่ก็ถูกชดเชยด้วยอัตราผลตอบแทนที่สูงขึ้น ซึ่งราคาซื้อขายตราสารหนี้ประเภทนี้ในตลาดรองในต่างประเทศปรับตัวลดลงอย่างมากเช่นเดียวกับตราสารหนี้ประเภทอื่นๆ

โดยปัจจุบันอัตราผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับจนถึงวันที่มีสิทธิถูกไถ่ถอนนั้นสูงขึ้นถึง 6-7% เลยทีเดียวขณะที่และปัจจุบันธนาคารผู้ออกตราสารเป็นสถาบันการเงินที่ก็เป็นสถาบันการเงินที่มีเสถียรภาพและได้รับการยอมรับโดยทั่วไปว่ามีความมั่นคงขึ้นอย่างมากเนื่องจากถูกควบคุมด้วยกฎเกณฑ์และมาตรการต่างๆ เช่น ในสหรัฐฯและยุโรปนั้นมีการทำ Stress test เพื่อตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ

หรือธนาคารพาณิชย์ของในประเทศไทยซึ่งเคยผ่านวิกฤติการเงินปี 2540 ก็มีอัตราเงินกองทุนในอัตราที่สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานมาก ซึ่งการซื้อขายตราสารหนี้ประเภทนี้ในตลาดรองในต่างประเทศนั้นมีราคาปรับตัวลดลงอย่างมากเช่นเดียวกับตราสารหนี้ประเภทอื่นๆ โดยปัจจุบันอัตราผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับจนถึงวันที่มีสิทธิถูกไถ่ถอนนั้นสูงขึ้นถึง 6-7% เลยทีเดียว อย่างไรก็ตามตราสารหนี้ประเภทนี้ก็มีรายละเอียดปลีกย่อยที่จะต้องพิจารณาเพิ่มเติมรวมถึงความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องก่อนการเข้าลงทุน

ทั้งนี้ดังนั้นผู้ที่สนใจจะลงทุนควรติดต่อเพื่อสอบถามและรับข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ผู้แนะนำการลงทุนของท่านเพื่อศึกษารายละเอียดผลิตภัณฑ์และเฟ้นหาการลงทุนที่เหมาะสมกับท่านต่อไป