การทำงานแบบ Work from Home คงยังมีอยู่ไปอีกนาน

การทำงานแบบ Work from Home  คงยังมีอยู่ไปอีกนาน

อีลอน มัสก์” ซีอีโอบริษัทเทสล่า (Tesla) ได้ส่งอีเมลถึงพนักงานระดับสูง ให้กลับเข้าไปทำงานที่ออฟฟิศ โดยระบุไว้ชัดว่า พนักงานจะต้องเข้ามาทำงานที่ออฟฟิศอย่างน้อย 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา “อีลอน มัสก์” ซีอีโอบริษัทเทสล่า (Tesla) ได้ส่งอีเมลถึงพนักงานระดับสูง ให้กลับเข้าไปทำงานที่ออฟฟิศ โดยระบุไว้ชัดว่า พนักงานจะต้องเข้ามาทำงานที่ออฟฟิศอย่างน้อย 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ จึงจะสามารถขอทำงานจากระยะไกล (Remote Work) ได้ ถ้าไม่มาปรากฏตัวให้เห็น จะถือว่าพนักงานคนนั้นได้ “ลาออก” จากบริษัทเรียบร้อย

เมื่อข่าวนี้ออกมาหลายคน อาจคิดว่าหมดเวลา Work from Home (WFH) แล้ว ถึงเวลาที่ทุกคนควรกลับเข้าออฟฟิศเพราะการทำงานจากที่บ้านไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร เหมือน อีลอน มัสก์ ระบุไว้ ช่วงนี้ก็มีผู้บริหารระดับสูงหลายแห่งออกมาสนับสนุนให้คนกลับเข้ามาทำงาน เพราะการที่พนักงานไม่ได้ทำงานในออฟฟิศ ต่างพบปัญหามากมาย โดยเฉพาะการประสานงาน ความสัมพันธ์พนักงาน และวัฒนธรรมองค์กร หลายบริษัทพบว่า อัตราการลาออกของพนักงานสูงขึ้น โดยเฉพาะพนักงานใหม่ที่แทบไม่เคยเข้าออฟฟิศเลย

แต่ผู้คนจำนวนหนึ่งก็ยังพึงพอใจกับการ WFH ทั้งนี้เพราะความสะดวกสบาย ทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ได้ทดลองใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ทั้งเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว รวมถึงมีเวลาส่วนตัวเพิ่ม เสริมคุณค่าให้ชีวิต เพราะการลดเวลาการเดินทางอย่างน้อย 1-2 ชั่วโมงต่อวัน ทำให้ได้เวลาที่มากขึ้น บางคนมีเวลาออกกำลังกาย หรือมีเวลาให้กับครอบครัวมากขึ้น ในแง่ของบริษัทก็จะสามารถลดต้นทุนได้มากขึ้น

ผมคุ้นเคยกับการทำงานจากที่ใดก็ได้มานานเกือบ 20 ปี ตั้งแต่ทำงานที่บริษัทซันไมโครซิสเต็ม ซึ่งเป็นบริษัทต่างประเทศด้านคอมพิวเตอร์ ตั้งอยู่ย่านถนนสาธร สมัยนั้นเรามีนโยบายเรื่องของ Flexible Office คือ พนักงานไม่มีโต๊ะทำงานประจำ และจำนวนโต๊ะที่มีอยู่ก็อาจจะมีน้อยกว่าจำนวนพนักงานด้วย พนักงานลดการใช้เอกสาร ข้อมูลต่างๆ ก็อยู่บนคลาวด์ทั้งหมด จะไปดึงข้อมูลจากเครื่องโน้ตบุ๊กมาทำงานจากที่ใดก็ได้

ความคุ้นเคยติดตามมากระทั่งทุกวันนี้ ช่วงสิบปีที่ผ่านมาผมไม่มีโต๊ะทำงาน แม้จะมีบริษัทของตัวเอง เมื่อเข้าออฟฟิศในแต่ละครั้งก็นั่งทำงานในห้องประชุม พร้อมกับพบปะพูดคุยกับพนักงานในห้องประชุม หรือโต๊ะที่ใช้ในห้องรวม

วันนี้ผมยังสนับสนุนการทำงานแบบ WFH แต่อาจไม่ใช่ 100% แบบเดิม เพราะเห็นด้วยว่าการไม่ได้เข้าออฟฟิศเลย ทำให้พนักงานไม่สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ และขาดวัฒนกรรมการทำงานร่วมกันในองค์กรได้ดีพอ โดยเฉพาะพนักงานใหม่ที่จำเป็นจะต้องมีคนสอนการทำงานต่างๆ เพราะการเรียนรู้งานหลายอย่างไม่สามารถทำจากระยะไกลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แต่ขณะเดียวกันหากพนักงานต้องมาทำงานที่ออฟฟิศทุกวัน ประสิทธิภาพการทำงานบางอย่างอาจลดลง เพราะต้องเสียเวลาไปกับการเดินทาง โดยเฉพาะคนที่ทำงานในกรุงเทพมหานคร ดังนั้นการทำงานแบบ WFH บางวันจึงยังจำเป็นอยู่ สำหรับองค์กรที่จัดการให้พนักงานทำงานแบบ WFH แล้วควบคุมการทำงานให้มีประสิทธิภาพได้อยู่

ผู้บริหารหลายบริษัท เล่าว่า ได้ยกเลิกเช่าออฟฟิศแบบเดิม เปลี่ยนขนาดให้เล็กลง โดยเน้นให้พนักงานทำงานแบบ WFH ทั้งหมด หรือบางแห่งเลือกไปใช้โมบายออฟฟิศทำงาน เพื่อเรียกประชุมพนักงานที่ยัง WFH มารวมตัวทุกสัปดาห์หรือทุกเดือนแทน

สำหรับผมยังเลือกให้พนักงานทำงานแบบผสมผสาน คือ เข้าออฟฟิศสัปดาห์ละสองวัน และให้พนักงานเลือกวันกันเอง แต่ทุกเช้าต้องมีประชุมออนไลน์ร่วมกัน เพื่อสรุปงานแต่ละวัน และช่วงระหว่างวันพนักงานทุกคนก็จะเข้าโปรแกรม Discord เพื่อส่งข้อความในการทำงานกัน หรือบางครั้งก็ต้องเข้าประชุมในห้อง Discord ที่ถูกสร้างขึ้นมาหลายๆ ห้องเพื่อปรึกษาหารือในงานแต่ละเรื่อง

การทำงาน WFH จะมีประสิทธิภาพได้ ต้องให้พนักงานใช้เครื่องมือออนไลน์ต่างๆ ลดใช้กระดาษ ข้อมูลต่างๆ ต้องอยู่บนคลาวด์ แม้แต่การทำเอกสารต่างๆ ควรต้องใช้เครื่องมือที่สามารถทำงานร่วมกันได้ เพื่อให้ทำงานและแก้ไขเอกสารแบบออนไลน์พร้อมกันได้ แต่การ WFH ได้มีประสิทธิภาพ พนักงานต้องมีวินัย และมีความรับผิดชอบที่ดี งานบางอย่างสามารถทำงานจากที่ใดก็ได้ แต่บางตำแหน่งหน้าที่อาจไม่ใช่ ข้อสำคัญองค์กรต้องมีเครื่องมือชี้วัดผลทำงานของพนักงาน หากกำหนดนโยบายให้พนักงานสามารถเลือก WFH ได้

การ WFH คงยังอยู่ต่อไปอีกนาน แต่เชื่อว่าจะเป็นแบบผสมผสานมากขึ้น ทุกวันนี้ผมก็ยังมีความสุขกับการทำงานที่ลดการเดินทาง โดยเฉพาะการเข้าประชุมแบบออนไลน์ แม้การประชุมออนไลน์อาจไม่มีประสิทธิภาพเท่ากับการประชุมแบบปกติ แต่ก็ทำให้ในแต่ละวันผมสามารถประชุมได้มากขึ้น ทำงานอื่นๆ ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพราะลดเวลาการเดินทาง

ดังนั้นคงไม่สามารถสรุปได้ว่าการทำงานแบบ WFH หรือทำงานที่ออฟฟิศแบบเดิม แบนไหนที่จะดีกว่า เพราะทั้งสองแบบมีข้อดีข้อเสียต่างกัน แต่องค์กรที่ดีคงต้องจัดการการทำงานให้มีความคล่องตัวและทำงานได้ทั้งสองรูปแบบก็จะเป็นหนทางที่ดีก็ได้