เราควรเลือกตั้งผู้พิพากษาหรือไม่ | ชำนาญ จันทร์เรือง

เราควรเลือกตั้งผู้พิพากษาหรือไม่ | ชำนาญ จันทร์เรือง

หลายครั้งที่ผมพูดหรือบรรยายเกี่ยวกับที่มาของผู้พิพากษา ซึ่งเป็นใช้อำนาจตุลาการ อันเป็นหนึ่งในสามของอำนาจอธิปไตย

ในบางประเทศมีการคัดเลือกผู้พิพากษา โดยการเลือกตั้ง ทำให้ผู้ที่ไม่ได้อยู่ในแวดวงวิชาการเกิดความสงสัยว่าเป็นไปได้หรือ และมีข้อดีข้อเสียอย่างไร กอปรกับกระแสประชาธิปไตยที่มีการเรียกร้องให้อำนาจตุลาการต้องยึดโยงกับประชาชน

จึงมีการพูดถึงระบบการคัดเลือกผู้พิพากษาว่า เป็นไปได้ไหมที่เราจะมีการเลือกตั้งผู้พิพากษาและเปลี่ยนวิธีพิจารณาคดีให้ไปใช้ระบบการพิจารณาโดยคณะลูกขุน(Jury) ฉะนั้น ด้วยความจำกัดในเนื้อที่จึงจะนำเรื่องการเลือกตั้งผู้พิพากษามาเล่าสู่กันฟังก่อน แล้วเมื่อมีโอกาสก็จะนำเรื่องคณะลูกขุนมาเล่าต่อไป

ความเป็นมา
การเลือกตั้งผู้พิพากษาโดยประชาชนเป็นผลมาจาก Jacksonian Philosophy ซึ่งJacksonเป็นรัฐบุรุษคนสำคัญของสหรัฐอเมริกาที่ให้เหตุผลว่า รัฐธรรมนูญมีความต้องการให้ตำแหน่งข้าราชการมีกำหนดระยะเวลาและต้องให้มีการหมุนเวียนตัวบุคคล

โดยเห็นว่าการแต่งตั้งมักจะมีอคติ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งตำแหน่งตุลาการ ถ้าใช้ระบบแต่งตั้งตามที่นิยมในสหราชอาณาจักร์แล้วให้อยู่ตลอดไป ทำให้ตุลาการเหล่านี้ตัดสินคดีโดยไม่เกรงกลัวผู้ใด แม้จะไม่ชอบด้วยเหตุผลก็ตาม

ซึ่งลัทธิ Jacksonian แพร่หลายในระหว่างปี 1830-1869  โดยเวอร์มอนต์เป็นมลรัฐแรกที่ใช้ระบบเลือกตั้งตุลาการโดยประชาชน และแพร่หลายไปทั่วประเทศถึง 2 ใน 3 ของมลรัฐทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งผู้พิพากษาแบบนี้กลายเป็นการต่อสู้กันในทางการเมือง จนทำให้มีผู้เสนอให้กลับไปใช้ระบบแต่งตั้งอีก จึงเกิดมีการประนีประนอม คือ ให้มีการแต่งตั้งผู้พิพากษาโดยฝ่ายบริหาร โดยมีองค์กรกลั่นกรองตัวบุคคล และให้ผู้ได้รับการแต่งตั้งโดยฝ่ายบริหารได้รับการบืนยันจากฝ่ายประชาชนว่าจะให้ดำรงตำแหน่งหรือไม่

แผนนี้เรียกว่า American Bar Association Plan รัฐมิสซูรีนำมาใช้เป็นทางการเป็นครั้งแรก เมื่อปี 1937 จึงนิยมเรียกกันว่า Missouri Plan

อย่างไรก็ตามแม้ว่าMissouri Plan จะเป็นแผนที่ดีมาก แต่มลรัฐส่วนใหญ่ก็ยังคงใช้วิธีการเลือกตั้งต่อไป โดยพยายามลดข้อบกพร่องของการเลือกตั้ง คือให้เนติบัณฑิตยสภาของมลรัฐเป็นผู้ให้คำแนะนำแก่ประชาชนว่าบุคคลใดบ้างในจำนวนผู้สมัครที่มีคุณสมบัติถึงขนาดที่ประชาชนควรเลือกเป็นผู้พิพากษา 

เราควรเลือกตั้งผู้พิพากษาหรือไม่ | ชำนาญ จันทร์เรือง
ชำนาญ จันทร์เรือง

ปัจจุบัน
เนื่องจากสหรัฐอเมริกาเป็นสหพันธรัฐมีรัฐบาลกลางและรัฐบาลมลรัฐต่างๆอีก 50 มลรัฐ ซึ่งผู้พิพากษาที่ทำหน้าที่ในระดับมลรัฐจะเข้าสู่ตำแหน่งโดยผ่านการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน

ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยจะต้องใช้วิจารณาญาณในการเลือกผู้สมัครจากความรู้ความสามารถทางกฏหมาย ประวัติการทำงาน ความซื่อสัตย์สุจริต คุณงามความดีจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ฯลฯ โดยผู้สมัครสามารถออกประกาศทางสื่อต่างๆได้

ในศาลระดับCountyซึ่งการปกครองท้องถิ่นที่อยู่ในระดับต่ำกว่ามลรัฐแต่อยู่สูงกว่าเทศบาล หรือ town/township (สหรัฐอเมริกาเป็นการปกครองท้องแบบ 3 ชั้น(tier) ผู้พิพากษาจะมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน และมีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี

 ผู้สมัครต้องผ่านการศึกษาอบรมทางด้านกฎหมาย มีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีที่เกิดขึ้นในเขตอำนาจศาลDistrict Court (ยกเว้นคดีที่อยู่ในอำนาจของรัฐบาลกลาง เช่น คดีการค้าระหว่างประเทศ หรือคดีก่อการร้าย เป็นต้น)

ผู้พิพากษาเหล่านี้แม้ว่าจะมาจากการเลือกตั้งแต่จะมีความเป็นมืออาชีพสูง  แต่จะพูดคุยและวางตัวสบายๆเป็นกันเองกับคู่ความทุกฝ่ายรวมถึงประชาชนทั่วไป

ส่วนคดีเล็กๆน้อยๆ ที่เกิดในองค์กรปกครองท้องถิ่นระดับล่างสุด คือ เทศบาล town/township เช่น คดีจราจร ฯลฯ จะถูกพิจารณาพิพากษาโดยผู้พิพากษา Magistrate หรือ Justice of the Peace โดยไม่มีคณะลูกขุน

ที่สำคัญคือผู้พิพากษาเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องจบการศึกษาหรือมีคุณวุฒิด้านกฎหมาย และจะเข้าสู่ตำแหน่งโดยการว่าจ้างจากผู้นำท้องถิ่นหรือMayor ผู้พิพากษาเช่นนี้จะมี Mayor เป็นผู้รับผิดชอบในการบริหารจัดการทั้งปวง เช่น การทำสัญญาจ้าง

หากพบว่าผู้พิพากษาคนใดทำงานไม่เหมาะสมหรือมีความบกพร่องใดๆในการปฏิบัติหน้าที่ก็สามารถยกเลิกสัญญาจ้างเมื่อใดก็ได้ ผู้พิพากษาในระดับนี้แม้จะมีฐานะเป็นลูกจ้างของฝ่ายบริหาร แต่จะปฏิบัติหน้าที่อย่างจริงจัง ไม่มีการละเว้นใดๆต่อบุคลากรฝ่ายบริหาร

ข้อดีข้อเสียของการเลือกตั้งผู้พิพากษา
แม้ว่าจะมีข้อดีคือตรงกับหลักประชาธิปไตย หลักการแบ่งแยกออำนาจอธิปไตย หลักการที่อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน หลักการถ่วงดุลอำนาจ แต่ก็มีข้อเสียเช่นกัน คือ

1.อายุการทำงานสั้น
การเลือกตั้งทำให้การทำงานของผู้พิพากษา มีกำหนดระยะเวลาต้องพ้นตำแหน่งตามวาระในขณะที่เพิ่งจะมีความชำนาญงาน คนที่เข้าใหม่ก็ต้องเริ่มงานใหม่

ซึ่งก็มีแนวทางแก้ไขคือให้ผู้พิพากษาที่ดำรงตำแหน่งอยู่แล้วทำงานต่อไป โดยวิธีการ Ad Interimโดยถือว่าพวกที่ทำงานอยู่แล้วมีคุณสมบัติที่ดีกว่า อีกทั้งการดำรงตำแหน่งของผู้พิพากษาศาลสูง (อุทธรณ์/ฎีกา) ที่ต้องให้วุฒิสภารับรองนั้นสามารถอยู่ได้ตลอดชีวิต(for life)

2.เลือกคนผิด
การเลือกตั้งขึ้นอยู่กับการลงคะแนนเสียงของคนจำนวนมาก ซึ่งอาจวินิจฉัยเลือกคนผิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมเมือง ซึ่งการจะรู้จักผู้สมัครแต่ละคนอย่างถ่องแท้เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก ทางแก้ไขก็โดยการให้เนติบัณฑิตยสภาเป็นผู้กำหนดรายชื่อขั้นต้น แต่ก็ไม่มีผลเด็ดขาด เพราะในอดีตมีจำนวนไม่น้อยเป็นบุคคลที่เนติบัณฑิตยสภาไม่ได้เสนอชื่อ

3.การขาดความเป็นอิสระหรือการถูกแทรกแซงทางการเมือง
ในบางครั้งเพื่อหวังผลในการเลือกตั้งครั้งต่อไป อาจมีการตัดสินตามกระแสประชาชนหรือกระแสพรรคได้ ซึ่งก็มีแนวทางแก้ไขโดยใช้การลงโทษทางสังคม (Social Sanction) และจริยธรรมตุลาการ (Judicial Ethics) ซึ่งในสหรัฐอเมริกามีประเพณีปฏิบัติที่เข้มงวดมาก ผู้ที่ละเมิดจะไม่มีทางได้รับการเลือกตั้งซ้ำ

เราควรใช้วิธีการเลือกตั้งผู้พิพากษาหรือไม่
คำตอบของผมก็คือ ไม่มีวิธีการคัดเลือกใดที่ใช้ได้กับทุกประเทศหรือกับทุกชั้นศาล เพราะความคิดเห็นทางการเมือง ความเคยชิน ประวัติศาสตร์และสภาพท้องถิ่นเป็นเครื่องกำหนดว่าควรใช้วิธีใด

และเราต้องไม่ลืมว่าการคัดเลือกผู้พิพากษามีส่วนสัมพันธ์กับระบบกฎหมาย การแก้ไขระบบกฎหมายหรือการปฏิรูปกฎหมายต้องมาควบคู่กับการแก้ไขวิธีการคัดเลือกผู้พิพากษา ซึ่งที่สำคัญที่สุดไม่ว่าผู้พิพากษาจะได้มาโดยวิธีการใดก็ตาม ต้องมีความยึดโยงประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยตัวจริงครับ.