ภาวะเงินเฟ้อกับการปรับตัวของธุรกิจ E-commerce

ภาวะเงินเฟ้อกับการปรับตัวของธุรกิจ E-commerce

ปัจจุบันสถานการณ์ราคาสินค้าในประเทศปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อเดือน พ.ค. 2565 อยู่ที่ 7.10% เป็นตัวเลขสูงที่สุดในรอบ 13 ปี

โดยมีปัจจัยหลัก ๆ มาจากราคาอาหารและพลังงานที่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้อของประเทศไทยปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นและยังไม่มีท่าทีว่าจะลดลงได้ง่าย ๆ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อปัญหาค่าครองชีพของคนไทยให้ขยับเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย สวนทางกับค่าแรงที่ยังคงย่ำอยู่ที่เดิม

ผลกระทบต่อประชาชนกับภาวะเงินเฟ้อ รายจ่ายหรือภาระค่าครองชีพสูงขึ้น ทำให้ประชาชนมีอำนาจซื้อน้อยลง มีความสามารถจับจ่ายซื้อสินค้าและบริการได้น้อยลง และอาจทำให้รายได้ที่มีหรือเงินที่หามาได้ไม่เพียงพอกับการใช้ชีวิต ซึ่งไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อภาคประชาชนเท่านั้น แต่ในภาคธุรกิจก็กระทบหนักด้วยผลกระทบจากเงินเฟ้อผ่านทางราคาน้ำมันและค่าขนส่ง

จนต้องปรับขึ้นราคาสินค้าและบริการตามต้นทุนไปบ้างแล้ว ซึ่งเมื่อมองย้อนไปข้อมูลราคาน้ำมัน อาหาร มีการเพิ่มขึ้นที่สูงมากเมื่อเทียบกับการเพิ่มขึ้นของค่าแรงขั้นต่ำ ราคาน้ำมัน เพิ่มขึ้น 16.87 – 53.85% ราคาอาหาร ข้าวหอมมะลิ เพิ่มขึ้น 47.05% หมู เพิ่มขึ้นจากปี 2564 32-33% แต่ ค่าแรงขั้นต่ำ ปัจจุบัน 313-336 บาท/วัน โดยจากค่าเฉลี่ย 9 ปี เพิ่มขึ้นเพียง 1.44-4% เท่านั้น

ในขณะที่กลุ่มธุรกิจที่ถึงแม้จะเติบโตขึ้นอย่างมากในช่วงสถานการณ์โรคระบาดอย่าง กลุ่ม E-commerce ก็ได้รับผลกระทบไม่น้อยจากการปรับขึ้นทั้งราคาสินค้าและค่าขนส่งเช่นกัน ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าธุรกิจ E-commerce ในกลุ่มสินค้า B2C ปี 2565 น่าจะมีมูลค่าตลาดราว 5.65 แสนล้านบาท ขยายตัว 13.5% เทียบปีต่อปี

ซึ่งถือเป็นอัตราการขยายตัวที่ต่ำสุดเมื่อเทียบกับในช่วง 3 ปีก่อนหน้า ที่ขยายตัวเฉลี่ยปีละ 40% เรียกได้ว่าผู้ประกอบการ E-commerce ต้องปรับตัวกันครั้งยิ่งใหญ่ โดยมองว่าความท้าทายของผู้ประกอบการมีทั้งการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น ผู้บริโภคมีความกังวลเรื่องสินค้าและบริการมากขึ้น รวมถึงการลดลงของจำนวนประชากรที่มีผลต่อการบริโภคสินค้า

แนวทางการรับมือของธุรกิจ E-commerce

1. วางแผนงบประมาณการทำ Online Marketing ใหม่: งบประมาณโฆษณาที่ใช้เท่าเดิมอาจไม่สามารถเพิ่มยอดขายได้เหมือนเก่า ส่งผลให้การลงโฆษณาหรือยิงแอดจำเป็นต้องใช้งบประมาณมากขึ้นในการแข่งขันที่สูงขึ้นเพื่อกระตุ้นยอดขายให้ธุรกิจสามารถอยู่รอดได้ ดังนั้นการทำโฆษณาหรือการตลาดออนไลน์จึงจำเป็นต้องมีความเข้าใจในสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ซึ่งส่งผลต่อการวางแผนในด้านงบประมาณที่จะตัดสินใจลงไปบนใน Social Media หรือ Platform ต่าง ๆ

2. ปรับใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในการทำการตลาด: การมองหาและนำเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่ ๆ ตลอดเวลามาประยุกต์ใช้และแก้จุดอ่อนการได้รับประสบการณ์จากการใช้สินค้าจริงก่อนตัดสินใจซื้อ เช่น VR (Virtual Reality) ที่ช่วยให้เราเข้าไปสู่สภาวะแวดล้อมของสินค้าจริง, AR (Augmented Reality) ที่นำสินค้าเสมือมาให้เราสัมผัสตรงหน้า หรือถึงกับนำสินค้าและบริการลองไปใส่ในโลกเสมือน Metaverse ฯลฯ ซึ่งผู้ประกอบการควรเรียนรู้และทดลองนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้เป็นเครื่องมือในการทำการตลาด และวัดผล

3. นำเทคโนโลยีช่วยในการบริหารจัดการกระบวนการทางธุรกิจ: การนำแพล็ตฟอร์มดิจิทัลมาช่วยการบริหารจัดการในกระบวนการต่าง ๆ ของธุรกิจจะสามารถช่วยการบริหารจัดการให้สามารถตรงเป้าหมายได้มากขึ้นจากการมีข้อมูลที่ชัดเจนประกอบการตัดสินใจของแผนกต่าง ๆ ช่วยให้กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตสินค้าและมอบบริการทำได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ ลดต้นทุน มากขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการจำเป็นต้องศึกษาเพื่อทดสอบผล และประเมินการลงทุนในแพล็ตฟอร์มต่าง ๆ ว่าคุ้มค่ากับต้นทุนที่ลดลง-ยอดขายที่เพิ่มขึ้นหรือไม่

4. ร่วมมือกับ Fulfillment Partner: เพื่อเพิ่มตัวเลือกการจัดส่ง และลดต้นทุนในด้านขนส่งในขณะที่ยังคงคุณภาพ-เวลาในการส่งมอบสินค้า ให้รองรับการสั่งซื้อสินค้าจากผู้บริโภคทุกช่องทาง

KURU แบรนด์รองเท้าชื่อดังที่มีการวางจำหน่าย Online แบบ 100% ซึ่งมีจุดเด่นในการออกแบบและผลิตรองเท้าที่ใส่สบาย ซึ่งปัญหาที่ทำให้ต้นทุนสูงขึ้นมากคือค่าบรรจุภัณฑ์และค่าขนส่ง เนื่องจากรองเท้าและบรรจุภัณฑ์มีขนาดใหญ่ จึงทำให้มีค่าขนส่งแพง

อีกทั้งบางครั้งก็เกิดความเสียหายของสินค้าระหว่างขนส่ง เพื่อปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ การจัดส่ง และประสบการณ์ของลูกค้า KURU ได้ร่วมมือกับ BillerudKorsnäs นักออกแบบบรรจุภัณฑ์และระบบคลังสินค้า ซึ่งไม่เพียงช่วยให้ขนาดและน้ำหนักของการขนส่งลดลงเท่านั้น แต่บรรจุภัณฑ์ที่มีความคล่องตัวยังส่งผลให้ต้นทุนการขนส่งลดลงอีกด้วย ส่งผลให้ลดค่าใช้จ่ายจากการส่งสินค้าผิด ค่าขนส่งที่ไม่จำเป็น และการรับสินค้าที่เสียหายจากการขนส่งได้

ถึงแม้ราคาสินค้าสูงขึ้น แต่สินค้า Grocery และ FMCG (Fast Moving Consumer Goods หรือสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไปที่ซื้อขายได้รวดเร็วเพราะมีราคาถูกและเป็นสิ่งจำเป็นของผู้บริโภค) โดยข้อมูลจาก Adobe พบว่า ผู้บริโภคในสหรัฐฯ ใช้จ่ายเงินออนไลน์ 78.8 พันล้านดอลลาร์ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 7.1% เทียบจากปีที่แล้ว

ซึ่งนี่อาจเป็นโอกาสสำหรับธุรกิจ E-commerce ที่ขายสินค้าประเภทนี้ เนื่องด้วยปัญหาน้ำมันแพงทำให้ผู้บริโภคเลี่ยงการขับรถเพื่อออกไปซื้อสินค้าและหันมาสั่งออนไลน์แทน ดังนั้นผู้ประกอบการอาจต้องกลับมาโฟกัสการสร้างโปรโมชั่นส่งเสริมการขายในช่องทางออนไลน์และช่องทางการซื้อสินค้าที่จะอำนวยความสะดวกแก่ผู้บริโภคมากที่สุด เช่นการให้บริการลูกค้าแบบ Omni-channel ตลอด 24 ชั่วโมง การส่งฟรีเมื่อถึงยอดที่กำหนดและมีบริการส่งไวภายใน 1 ชั่วโมง เป็นต้น

นอกจากการการปรับตัวของผู้ประกอบการแล้ว ภาครัฐต้องมีมาตรการเพื่อเร่งดำเนินการแก้ปัญหาภาวะเงินเฟ้อ เช่น มาตรการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่ม โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยและผู้ประกอบการรายย่อย ลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบที่จำเป็นต่อภาคการผลิต ตรึงราคาน้ำมัน รวมถึง ควบคุมและดูแลราคาสินค้าไม่ให้มีการฉวยโอกาสปรับราคาเกินจริง ซึ่งเป็นวาระเร่งด่วนที่ภาครัฐต้องรีบยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้