ความมหัศจรรย์ของ FIAT | ประเสริฐ เอี่ยมรุ่งโรจน์

ความมหัศจรรย์ของ FIAT | ประเสริฐ เอี่ยมรุ่งโรจน์

ผมเป็นคนชอบอ่าน turnaround case ระดับโลก และกรณีศึกษาที่ผมเรียนรู้มากที่สุดคือการฟื้นฟูกิจการบริษัท FIAT บริษัทผลิตรถยนต์ในประเทศอิตาลี ในช่วงทศวรรษ 2000 FIAT ประสบกับมรสุมใหญ่ ผลประกอบการเลวร้ายมาก 

ในปี 2002 FIAT ซึ่งตระกูล Agnelli เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ขาดทุนถึง 4,300 ล้านยูโร บริษัทขาดเงินทุนหมุนเวียน credit rating ของบริษัทอยู่ใน junk status ความหมายคือความสามารถในการกู้เงินต่ำมาก FIAT มีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนต้องหาเงินทุนมาต่อท่อ oxygen ให้ธุรกิจเดินหน้าได้ 

ในเดือนพฤษภาคม 2002 FIAT บรรลุข้อตกลงกับสถาบันการเงินแปดแห่งในการกู้เงิน 3,000 ล้านยูโร เป็นเงินกู้ที่เรียกว่า convertible loan ความหมายคือถ้า FIAT จ่ายคืนเงินกู้ไม่ได้ เจ้าหนี้มีสิทธิ์ที่จะแปลงเงินกู้เป็นหุ้นของ FIAT ทางเจ้าหนี้มีเงื่อนไขสองประการในการปล่อยเงินกู้ 

หนึ่ง FIAT ต้องเปลี่ยน CEO เพราะเจ้าหนี้มีความเห็นว่าผู้บริหารคนเก่าไม่น่าที่จะกู้ชีพองค์กรได้ สอง FIAT ต้องขายกิจการที่เป็น non-core asset เพื่อลดภาระหนี้ แน่นอนตระกูล Agnelli ต้องยอมตามกฏเหล็กของเจ้าหนี้ 

เดือนตุลาคม 2002 FIAT ได้ CEO คนใหม่ชื่อ Gabriele Galateri ซึ่งเขาเสนอแผนฟี้นฟูกิจการ ปลดพนักงาน 8,000 คน ปิดโรงงานที่เมือง Sicily พร้อมขอให้รัฐบาลช่วยนำเงินกองทุนมาจ่ายเป็นค่าชดเชย ยังครับข่าวร้ายยังไม่จบ ในเดือนมกราคม 2003 Gianni Agnelli ซึ่งเป็นประธานกรรมการบริษัทเสียชีวิต 

ก่อนเสียชีวิตเขาเรียกน้องชายชื่อ Umberto มารับตำแหน่งต่อ เมื่อ Umberto เข้ามากุมบังเหียนองค์กร เขาเปลี่ยน CEO โดยแต่งตั้ง Giuseppe Morchio ซึ่ง Morchio ประกาศแผนฟื้นฟูสี่ปี เป้าหมายคือหยุดการขาดทุนในปี 2004 สั่งปิดโรงงาน 12 แห่งจากจำนวนทั้งหมด 138 โรงงาน ประกาศแผนการลงทุน 17,000 ล้านยูโรในการพัฒนารถยนต์รุ่นใหม่ ลดพนักงาน 12,300 คนจาก workforce ทั้งหมด 170,000 คน 

ข่าวร้ายของ FIAT ยังไม่หยุด อีก 16 เดือนต่อมา Umberto Agnelli เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง ก่อนเสียชีวิต Umberto ให้คนในตระกูลไปติดต่อกับผู้บริหารในเครือชื่อ Sergio Marchionne มารับตำแหน่ง CEO

ที่ต้องทำอย่างนี้ เพราะ Umberto ทราบว่า Morchio จะขอควบเก้าอี้ทั้งประธานบริษัทและ CEO ความหมายคือตระกูล Agnelli ถูกยึดอำนาจ

ความมหัศจรรย์ของ FIAT | ประเสริฐ เอี่ยมรุ่งโรจน์

Sergio Marchionne ตกใจกับข้อเสนอเพราะเขาไม่มีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมรถยนต์ แต่ตัวแทนของ Umberto บอกกับ Marchionne ว่าให้ลองไปคิดเรื่องนี้ดู เพราะการตัดสินใจของเขามีความหมายต่อความเป็นความตายของอาณาจักร FIAT อีกไม่กี่วันต่อมา Marchionne ดูข่าว BBC ที่มีข่าวด่วนว่า Umberto เสียชีวิตแล้ว เขาบอกว่าเวลาในการคิดมันหมดลงแล้ว เขาตอบตกลงที่จะไปกอบกู้ความยิ่งใหญ่ของ FIAT 

ก่อนจะเล่าต่อ ผมขอเล่าประวัติของ Marchionne เขาเป็นทั้งนักกฎหมาย เป็นนักการเงิน และเป็นนักเจรจาต่อรองตัวยง พูดง่าย ๆ เขาเป็นนักบริหารที่มี multi-disciplinary skill และเขามีประสบการณ์ในการ turnaround มาหลายองค์กร นี่เป็นเหตุผลที่ Umberto เลีอก Marchionne มาช่วยงานก่อนที่ Umberto จะเสียชีวิต 

เมื่อ Marchionne เข้ามาบริหาร FIAT เขาปรับรูปแบบการบริหารแบบ 180 องศา เดิมที FIAT เป็นองค์กรที่อนุรักษ์นิยมเต็มไปด้วยขั้นตอนในการทำงานและมีโครงสร้างที่เต็มไปด้วยไขมัน โครงสร้างเดิมขององค์กรคือมีแบรนด์สามแบรนด์ FIAT, Lancia, Alfa Romeo และทั้งสามหน่วยงานเป็นอาณาจักรที่เป็นเอกเทศ ทำให้ต้นทุนในการบริหารสูงกว่าคู่แข่ง มีคนพูดว่าแม้แต่น๊อตสักตัวหนึ่งทั้งสามแบรนด์ยังไม่ใช้ร่วมกัน 

หนึ่งเดือนแรกที่ Marchionne เข้ามาบริหารเขาเลือกผู้บริหารจำนวนหนึ่งมาเป็น dream team ที่กล้าคิด กล้าทำ เพื่อใช้คนเหล่านี้จุดไฟให้ติดในการฟื้นฟูกิจการ และเขาปรับองค์กรให้เป็น flat organization เขาให้โจทย์กับ dream team ว่าปัจจัยสำคัญที่สุดในการบริหารแผนฟื้นฟูคือเรื่องของ “เวลา” เขาบอกว่าในแต่ละวันที่พวกเราตื่นนอนองค์กรกำลังเผาเงินทิ้งเป็นหลักล้านยูโร 

ความมหัศจรรย์ของ FIAT | ประเสริฐ เอี่ยมรุ่งโรจน์
Sergio Marchionne

Marchionne ให้หลักในการทำงานกับ dream team คือ one meeting, one decision with fast implementation พูดภาษาง่าย ๆ คือ Marchionne ปฏิวัติระบบในการบริหารองค์กรแบบกลับหัวกลับหาง มากไปกว่านั้นเขาให้นโยบายกับ dream team ว่า FIAT จะอยู่รอดปลอดภัยได้ องค์กรต้องสร้าง hero product เพื่อทำให้ FIAT มีเครื่องพิมพ์ธนบัตรที่ทำงานแบบ 24/7 และ hero product ที่ Marchionne ให้นโยบายกับฝ่ายพัฒนาสินค้าใหม่คือรถ FIAT 500 

FIAT 500 เป็นรถขนาดเล็ก ๆ ที่ Marchionne มีความเห็นว่านี่คือไม้เด็ดที่จะทำให้ FIAT กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง ฝ่ายออกแบบก็รับลูกทันที ตั้ง task force team ที่มีนักออกแบบทั้งหมด 25 คนพร้อมเชิญ Alessandro Mendini ซึ่งเป็นนักออกแบบชื่อดังมาสร้าง input ใหม่พาทีมงานเดินออกจากกรอบความคิดเดิม เพื่อพัฒนา FIAT 500 ให้มีความกบฏ

4 กรกฏาคม 2007 FIAT เปิดตัว FIAT 500 เป็นงานเปิดตัวที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ จัดที่เมืองตูรินและเมืองใหญ่ ๆ อีก 30 เมืองทั่วประเทศอิตาลี ที่ใจกลางเมืองของแต่ละเมืองจะปิดไม่ให้รถสัญจรไปมายกเว้นรถ FIAT 500 รุ่นเก่าและใหม่

นี่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของ FIAT ที่เสมือนหนึ่งเป็น “สถาบันแห่งชาติ” พิธีเปิดที่เมืองตูรินมีแขกมาร่วมงาน 7,000 คน งานช่วงกลางคืนจัดที่จตุรัสกลางเมืองโดยมีโชว์ซึ่งถูกตบแต่งเป็น open air theater

 FIAT เลือก Marcho Balich ซึ่งเป็น producer ระดับโลกมาเป็นผู้จัดงาน ผลงานของเขาคือพิธีปิดกีฬาโอลิมปิคฤดูหนาวปี 2006 งานในคืนนั้นมีการถ่ายทอดสดผ่านสถานีโทรทัศน์ไปทั่วประเทศ 

ความมหัศจรรย์ของ FIAT | ประเสริฐ เอี่ยมรุ่งโรจน์

มีคนกล่าวว่าความยิ่งใหญ่ของพิธีเปิดสามารถหยุดคนอิตาลีได้ทั้งประเทศ และนี่คือจุดหักเหสำคัญ ตลาดให้การตอบรับ FIAT 500 เกินความคาดหมาย ในปี 2008 FIAT 500 ได้รับรางวัล European car of the year ในปี 2009 ได้รับรางวัล World car design of the year และ FIAT 500 กับผลงานอื่น ๆ ของ Marchionne

ทำให้องค์กรมีผลประกอบการที่สวยหรูดูดีเกินคาด ทั้ง ๆ ที่ตอน Marchionne มารับงานองค์กรเหมือน “เป็ดง่อย”

ยังครับเรื่องยังไม่จบครับ เมื่อ FIAT มีฐานะทางการเงินที่แข็งแรง ในปี 2008 ประเทศสหรัฐอเมริกาเกิด hamburger crisis วงการเงินเกิดความปั่นป่วนแบบหลุดโลก ส่งผลต่ออุตสาหกรรมรถยนต์

ประเด็นคือผู้ประกอบรถยนต์ที่เป็น big three คือ GM, Ford และ Chrysler จะล้มทั้งยืน ถ้ารัฐบาลไม่เข้ามาอุ้ม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Chrysler ซึ่งเป็นบริษัทรถยนต์ที่เล็กที่สูดในกลุ่ม big three 

คณะทำงานของรัฐบาลให้ความเห็นว่า Chrysler จะอยู่รอดได้ต้องมีพันธมิตรเป็น strategic alliance เพราะพันธมิตรจะมาเติมเต็มในสิ่งที่ Chrysler ขาด และนี่คือ “โอกาสทอง” ของ FIAT Marchionne ตั้งทีมเฉพาะกิจไปเจรจากับคณะทำงานของกระทรวงการคลังของสหรัฐ

โดย Marchionne ให้นโยบายว่า “เราจะแต่งงานกับ Chrysler บน cashless deal” ความหมายคือเป็น deal ที่ FIAT มาร่วมลงทุนใน Chrysler โดยไม่ต้องจ่ายเงิน เพราะในปี 2008 ราคาน้ำมันสูงมาก เพราะฉะนั้นเทคโนโลยีใหม่ในเรื่องเครื่องยนต์เป็นท่าบังคับให้ผู้ประกอบการสามารถอยู่รอดได้ และ FIAT ถือไพ่ที่เหนือกว่าเพราะพวกเขามีเทคโนโลยีนี้

ขอเล่าเรื่องยาวมาเป็นเรื่องสั้น จากวันที่ FIAT เซ็นต์ MOU กับ Chrysler ในเดือนธันวาคม 2008 พวกเขาใช้เวลาเพียงสองปีกว่า ๆ สร้าง Chrysler ให้เป็นแบรนด์ที่แข็งแกร่งกว่าเดิมอย่างมหาศาล พวกเขาเปลี่ยนแปลงกระบวนท่าในการบริหารใหม่หมด ไม่ว่าจะเป็น การออกแบบ การผลิต การตลาด การสื่อสารการตลาด

ทำให้ยอดขายของผลิตภัณฑ์ของ Chrysler ขายดีแบบติดจรวด เท่านั้นไม่พอในปี 2014 FIAT ขอซื้อหุ้น Chrsyler ทั้งหมด 100% แล้วควบรวมกิจการภายใต้ชื่อใหม่ FCA - FIAT CHRYSLER AUTOMOBILES ทำให้ FCA เป็น premier league player ในระยะเวลาที่สั้นมากอิตาลี

นี่คือความมหัศจรรย์ของ Sergio Marchionne ที่เขาเป็น turnaround artist ตัวจริงเสียงจริง.