“อะไรๆ ก็…แพง”

ไปทางไหน ได้ยินแต่เสียงคนบ่นว่า น้ำมันแพง อาหารแพง สินค้าแทบทุกอย่าง แพง… แพ๊ง… แพง วันนี้คุยกันเรื่อง “เงินเฟ้อ” ครับ ปัญหาที่จางหายไปหลายปี แต่อยู่ดีๆก็กลับมาใหม่ ทั้งๆที่เศรษฐกิจโลกเพิ่งเริ่มฟื้นตัวอ่อนๆ จากวิกฤตโควิด-19 เท่านั้นเอง 

สาเหตุเริ่มต้น ก็คือเมื่อปีที่แล้ว ประเทศทั้งหลายเริ่มผงกหัวจากวิกฤติโควิด พอคลายล็อกดาวน์และเริ่มเปิดประเทศ ธุรกิจและธุรกรรมต่างๆฟื้นตัว ผู้คนออกมาใช้ชีวิตภายนอกมากขึ้น ซื้อสินค้ามากขึ้น

เมื่ออุปสงค์เพิ่มขึ้น แต่การผลิตได้หยุดชะงักไปพักใหญ่ ราคาสินค้าจึงเริ่มสูงขึ้น แต่นั่นก็เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น เพราะธุรกิจต่างๆก็ได้เพิ่มกำลังการผลิตด้วยเหมือนกัน ซึ่งมีผลให้สินค้าไม่ขาดแคลนมากเกินไป และราคาสินค้ามีทีท่าว่าจะเริ่มชะลอตัวลงบ้าง

แต่กลับมีปัจจัยใหม่เข้ามา ที่ทำให้เงินเฟ้อดำเนินต่อไปอีก นั่นคือ “สงคราม ยูเครน-รัสเซีย” สงครามนี้ ทำให้สินค้าโภคภัณฑ์ ได้รับผลกระทบอย่างหนัก 

น้ำมันจากรัสเซีย กระทบต่อเนื่องไปถึง ต้นทุนพลังงานในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขนส่งสินค้าและผู้คน ต้นทุนที่แพงขึ้นนี้ ถูกส่งต่อไปยังผู้บริโภค 

นอกจากรัสเซียแล้ว ยูเครนเอง ยังเป็นแหล่งผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ที่สำคัญ เช่น ข้าวสาลี ซึ่งเกษตรกรที่นั่นผลิตได้น้อยลง เพราะในช่วงฤดูกาลผลิต กลับต้องเผชิญภัยสงคราม ทำให้ผลิตได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย 

รัสเซียและยูเครน เป็นผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ที่สำคัญ เช่น เหล็กดิบ ข้าวสาลี และข้าวบาร์เลย์ ทำให้ประเทศผู้สั่งสินค้าเข้า ต้องแบกรับภาระราคาอาหารที่สูงขึ้นด้วย 

ทั้งสองประเทศนี้รวมกัน ส่งออกข้าวสาลี มากถึง 25% ของปริมาณส่งออกของโลกครับ เมื่อปริมาณการจำหน่ายลดลงมาก จึงกระทบต่อราคาสินค้า

พออะไรๆก็แพงขึ้น “ค่าจ้างแรงงาน” จึงสูงขึ้นตามไปด้วย และทั้งหมดนี้มีผลให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น จนถึงระดับที่น่ากลัว เช่นในอเมริกา เงินเฟ้อเมื่อเดือนมีนาคมและเดือนเมษายน 2022 เทียบกับเดือนเดียวกันปี 2021 อยู่ที่ 8.5% และ 8.3% ตามลำดับ 

เป็นอัตราเงินเฟ้อที่ทำสถิติ สูงที่สุดในรอบ 40 ปี ส่วนของ อังกฤษแคนาดา และเยอรมัน ในเดือนมีนาคม 2022 ก็อยู่ที่ 6.2% 6.7% และ 7.3% ตามลำดับ และยังมีแนวโน้มสูงขึ้น

ไทยเรา ในเดือนมีนาคม และเมษายน 2022 เงินเฟ้ออยู่ที่ 5.73% และ 4.65% ตามลำดับ ต่ำกว่าประเทศที่กล่าวถึงข้างต้น แต่ก็ยังไว้วางใจไม่ได้

คุณคงพอเข้าใจ ถึงสาเหตุของเงินเฟ้อรอบนี้แล้วนะครับ ผลคือรัฐบาลทุกประเทศต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เหมือนที่บ้านเรากำลังทำกันอยู่นี่แหละ 

แต่มันก็ไม่ง่ายนักหรอก เพราะไม่มีใครสามารถสกัดการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิตได้ ส่วน ธนาคารกลาง ของประเทศต่างๆ ก็พยายามใช้ นโยบายการเงิน เพื่อเพิ่มอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสม และในจังหวะที่เหมาะสม 

ใครๆต่างพยายามเดาใจกันว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเพิ่งยืนอัตราดอกเบี้ยไว้เช่นเดิมเมื่อไม่กี่วันมานี้ จะมีแนวโน้มเพิ่มอัตราดอกเบี้ยภายในปีนี้หรือไม่ 

แล้วคนทั่วไป ได้รับผลกระทบอย่างไร? ต้องถือว่าโชคดีที่ “อัตราการว่างงาน” ของเรายังต่ำ แปลว่าผู้คนยังพอจะมีรายได้ เพื่อประคับประคองชีวิต แต่ยังไงก็ลำบาก เพราะอะไรๆก็ แพง... แพ๊ง... แพง

เวลามีเงินเฟ้อแบบนี้ ผู้ผลิตมักพยายามชะลอการขึ้นราคาสินค้า เพราะทราบดีว่า ผู้บริโภค มีความรู้สึก “อ่อนไหว” ต่อราคา และนิยมใช้กลยุทธ์ “Shrinkflation” แทน

ผมใช้คำศัพท์ ราวกับเป็นวิชาการเศรษฐศาสตร์อันลึกซึ้ง แต่ที่ไหนได้ คุณคุ้นเคยอย่างดีแล้วครับ เช่นเวลาเราไปกินก๋วยเตี๋ยว เขาขายราคาเดิม แต่มีลูกชิ้นน้อยลงหนึ่งลูก หมูน้อยลงหนึ่งชิ้น นั่นแหละครับ...Shrinkflation 

ธุรกิจใหญ่ๆ ทั้งเมืองนอกและเมืองไทย ทำแบบนี้กันครับ เช่นทำบรรจุภัณฑ์ขนาดเล็กลง ใส่จำนวนวิตามิน หรือ อาหาร หรือ เครื่องดื่ม ฯลฯ น้อยลง หรือขายขนมโดนัทชิ้นเล็กลง แต่ขายราคาเดิม คนซื้ออาจรู้สึกได้ในตอนต้น แต่สักพักก็ลืมครับ

สถานการณ์เวลานี้ สงครามยูเครน-รัสเซีย ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะยุติได้ในเวลาอันรวดเร็ว และปัจจัยหลักที่กระทบต่อเงินเฟ้อ ก็จะยังอยู่ต่อไปอีกระยะหนึ่ง

คนไทยเรา หนีปัญหานี้ไม่ได้หรอกครับ ต้องเผชิญต่อไปเหมือนชาวโลก เพียงแต่เราอย่าท้อถอย เราจะต้อง “คิดบวก” ไว้สิครับว่า เราเคยเจอปัญหาเงินเฟ้อรุนแรงมาหลายรอบแล้ว รอดมาทุกครั้ง ยังไงรอบนี้เราก็ต้องรอด 

ดูการอภิปราย งบประมาณ สัปดาห์ที่แล้วสิครับ น่าหวาดเสียวออก แต่พอลงคะแนน รัฐบาลก็รอด แต่ก็ยังต้องลุ้นต่อว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจจะเป็นเช่นใด

แล้วเดือนสิงหาคมนี้ ยังต้องลุ้นอีกว่า นายกฯ จะรอด จากการตีความการดำรงตำแหน่ง ว่าครบ 8 ปีหรือไม่ ถ้าหากว่ารอด การเลือกตั้งต้นปีหน้า ผลจะเป็นอย่างไร 3 ลุงจะยังรักกันหรือไม่…โห...น่าหวาดเสียวทั้งนั้นเลยครับ 

ที่สำคัญคือ “ราคากล้วย” ตอนนี้ก็สูงมากเสียด้วย เพราะว่าเกิด “Political  Inflation” แล้วใครจะเอากลยุทธ์ “Shrinkflation” มาใช้ ก็คงไม่ได้ผล เพราะว่า ลิงแถวนั้น คงไม่ยอมรับกันหรอก

อ้าว! คุยเรื่องเงินเฟ้ออยู่ดีๆ วนมาเรื่องนี้ได้ยังไงเนี่ย?