สร้างนิสัยเพื่ออนาคต

สร้างนิสัยเพื่ออนาคต

การอ่านคือรากฐานสำคัญที่ทำให้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และปรับตัวรับกับการเปลี่ยนแปลง

สิ่งที่มนุษย์หวาดกลัวมากที่สุดมีเพียงไม่กี่อย่าง เช่น กลัวเชื้อโรค กลัวโรคระบาด กลัวภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ กลัวภัยสงคราม กลัวภัยจากภาวะโลกร้อน ฯลฯ ซึ่งในอดีตเชื่อว่าโลกคงถึงจุดจบเป็นแน่หากเกิดวิกฤติการณ์ดังกล่าวนี้พร้อมๆ กัน

แต่มนุษย์โลกก็พิสูจน์ความแข็งแกร่งให้ได้เห็นด้วยการฝ่าฟันอุปสรรคเหล่านี้ได้ ถึงแม้จะยังไม่พิชิตปัญหาทั้งหมดอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แต่ก็แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงในแต่ละอย่างได้เป็นอย่างดี

ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดก็คือการระบาดของโรค Covid-19 ที่ทำให้เราพัฒนาวิธีการทำงานในรูปแบบ WFH หรือการทำงานที่บ้านได้แทบจะทันที 

เช่นเดียวกับการปรับตัวรับความผันผวนทางเศรษฐกิจด้วยการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์มเมชันและอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งทั้งหมดนั้นมีแรงขับดันสำคัญคือ “เพื่อหาเลี้ยงชีพ” เพราะไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร เราก็จำเป็นต้องมีรายได้เพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้องเป็นอันดับแรก

แต่การเผชิญกับวิกฤตการณ์ยาวนานหลายปี อาจทำให้เราต้องคิดถึงเรื่องอื่นๆ นอกเหนือจากเรื่องของปากท้องกันบ้าง โดยเฉพาะเรื่องคุณค่าของชีวิตซึ่งเราต้องให้เวลากับตัวเองด้วยการทบทวนเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน และต้องหมั่นคิดว่าอะไรคือสิ่งที่มีความสำคัญต่อตัวเราเองมากที่สุด

หลายๆ คนอาจตอบว่า “ความรู้” ซึ่งแน่นอนว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยให้เราฟันฝ่าอุปสรรคและปัญหาต่างๆ ได้สำเร็จ แต่หากคิดต่อว่าอะไรที่ทำให้เรากลายเป็นคนที่ใฝ่รู้และรักการพัฒนาตัวเอง ด้วยการเรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัวได้มากที่สุด ก็เห็นจะมีแต่ “การอ่าน” ที่เป็นรากฐานสำคัญที่สุดของการพัฒนากระบวนการเรียนรู้

สอดคล้องกับงานวิจัยจำนวนมากที่สะท้อนให้เห็นว่าพ่อแม่ที่มีเวลาเลี้ยงดูลูก และใส่ใจด้วยการหมั่นอ่านหนังสือและร้องเพลงให้ลูกได้ฟังแม้จะยังฟังไม่รู้เรื่องจะสามารถกระตุ้นพัฒนาการของเด็กได้ดีกว่าเด็กทั่วไปอย่างเห็นได้ชัด

เพราะการอ่านหนังสือให้ลูกฟังตั้งแต่ยังเล็กเป็นการสร้างนิสัย “รักการอ่าน” ที่จะกระตุ้นพัฒนาการทางสมองและเปิดโลกการเรียนรู้ให้กับเด็ก ๆ ได้อย่างไร้ขีดจำกัด การอ่านจึงเป็นประตูสู่ความรู้ ที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง

พ่อแม่หลายๆ คนอาจคิดว่าการอ่านเป็นกระบวนการธรรมชาติที่เกิดขึ้นเองเหมือนการพูดและการฟังเพราะแทบไม่ต้องสอนอะไรเด็กทารกก็สามารถพูดตามได้อย่างเป็นธรรมชาติ และยิ่งพ่อกับแม่เป็นคนละเชื้อชาติก็อาจทำให้ลูกพูดได้มากกว่า 1 ภาษา ซึ่งเด็กๆ สามารถเรียนภาษาที่ 2, 3 หรือ 4 ได้อย่างต่อเนื่อง

แต่กับการอ่าน ไม่ได้เป็นเรื่องอัตโนมัติแบบนั้น เพราะจำเป็นต้องสร้างนิสัยรักการเรียนรู้ผ่านการอ่านนิทานให้ฟังตั้งแต่ยังเด็ก ซึ่งเด็กที่ผ่านการสร้างนิสัยในการอ่านจะสามารถจับประเด็นและสรุปความได้ดีกว่าเด็กทั่วไป รวมถึงรักการเรียนรู้ จึงพัฒนากระบวนการคิดเชิงตรรกะได้อย่างเป็นระบบ

ถึงแม้ว่าอาจมีบางครั้งที่พ่อแม่กระตุ้นการอ่านไม่ได้ผลเพราะปัจจุบันมีเด็กที่เป็น “สมาธิสั้น” ราวๆ 6% แต่ส่วนใหญ่ที่เหลือนั้นสามารถพัฒนากลไกในการเรียนรู้ผ่านการอ่านได้เลย 

ซึ่งนี่จะเป็นรากฐานสำคัญให้เขาเติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพและพร้อมเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ ตลอดเวลาและนั่นก็คือรากฐานสำคัญที่ทำให้เขาเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และปรับตัวรับกับการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดไปในอนาคต