อเมริกาฆ่านักเรียนนับสิบ...อีกแล้ว! | ไสว บุญมา

อเมริกาฆ่านักเรียนนับสิบ...อีกแล้ว! | ไสว บุญมา

สัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์สยองอีกครั้งในสหรัฐ กล่าวคือ หนุ่มอายุ 18 ปีบุกเข้าไปในโรงเรียนชั้นประถมในรัฐเท็กซัส แล้วใช้ปืนยิงเด็กและครู ส่งผลให้เด็กตาย 19 คน กับครูอีก 2 คน

เหตุการณ์สังหารหมู่อเมริกาทำนองนี้มีขึ้นเป็นประจำ ล่าสุดคอลัมน์นี้เพิ่งอ้างถึงเหตุการณ์เมื่อวันที่ 14 พ.ค.ที่เป็นหนุ่มอายุ 18 ปีเช่นกัน ใช้ปืนปลิดชีวิตผู้คนในซูเปอร์มาร์เก็ตไป 10 คน

การใช้อาวุธร้ายฆ่าผู้อื่นดังกล่าวไม่เลือกที่เกิด สำหรับส่วนที่เกิดขึ้นในโรงเรียนและมีผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 10 คน จนเป็นที่อ้างถึงกันเสมอ ได้แก่ (1) วัยรุ่นอายุ 17 ปีก่อเหตุในโรงเรียนชั้นมัธยมในรัฐเท็กซัสเมื่อวันที่ 14 พ.ค.2561 มีผู้เสียชีวิต 10 คน

(2) เมื่อวันที่ 14 ก.พ.ปีเดียวกัน หนุ่มอายุ 19 ปีบุกเข้าไปในโรงเรียนชั้นมัธยมในรัฐฟลอริดา แล้วกราดยิงนักเรียนและครู ทำให้มีผู้เสียชีวิต 17 คน 

(3) หนุ่มอายุ 20 ปีก่อเรื่องใหญ่ในโรงเรียนชั้นประถมในรัฐคอนเนตทิกัต เมื่อวันที่ 14 ธ.ค.2555 โดยยิงเด็กชั้นประถม 1 ตาย 20 คน กับครูและผู้บริหารโรงเรียนอีก 7 คน และ

(4) เมื่อปี 2542 วัยรุ่นอายุ 17 และ 18 ปีบุกเข้าไปในโรงเรียนชั้นมัธยมในรัฐโคโลราโด แล้วยิงนักเรียนตาย 12 คน กับครูอีก 1 คน

หลังเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวทุกครั้ง ชาวอเมริกันออกมาถกเถียงกันอย่างกว้างขวางและเข้มข้นว่า จะทำอย่างไรกันต่อไปเพื่อมิให้มันเกิดซ้ำ หนึ่งในมาตรการที่อยู่ในกระบวนการถกเถียงกันมานาน แต่ดูจะไม่มีผลดีอย่างเป็นรูปธรรมคือ การควบคุมการมีอาวุธปืนไว้ในครอบครอง โดยเฉพาะปืนจำพวกยิงเร็วที่ใช้อยู่ในกองทัพ 

ปัจจัยที่ทำให้เป็นเช่นนั้นคือ ผู้ได้ประโยชน์หลักจากการครอบครองปืนของชาวอเมริกันโดยทั่วไป ได้แก่ กลุ่มผู้ผลิตและผู้ค้าอาวุธปืน

กลุ่มนี้มีพลังทางการเงินที่จะสนับสนุนนักการเมือง ซึ่งทำตามมุมมองของพวกตนละต่อต้านผู้คัดค้าน ดังที่คอลัมน์นี้อ้างถึงหลายครั้ง นอกจากกลุ่มนี้ยังมีกลุ่มต่างๆ อีกนับพัน รวมทั้งบริษัทผลิตน้ำมันและสถาบันการเงินที่มีอิทธิพลสูงต่อนักการเมือง 

ด้วยเหตุนี้ การใช้ประชาธิปไตยในสหรัฐจึงมิได้เป็นไปตามอุดมการณ์จริงๆ เพราะพลังทางการเงินของบุคคลและกลุ่มของผู้ได้ประโยชน์ดังกล่าว ทำให้ชาวอเมริกันมีสิทธิไม่เท่าเทียมกัน อันเป็นต้นเหตุสำคัญของความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ความเหลื่อมล้ำเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เกิดความเครียด ซึ่งในสังคมอเมริกันนับวันจะเพิ่มขึ้นจนดูจะมีลักษณะเรื้อรังดังที่คอลัมน์นี้อ้างถึงเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ท่ามกลางความเครียดนั้น เยาวชนอเมริกันอายุเพียง 18 ปีมีสิทธิซื้อปืนสารพัดชนิดได้ในมลรัฐส่วนใหญ่

ในขณะที่ต้องมีอายุ 21 ปีขึ้นไปจึงจะซื้อบุหรี่และเครื่องดื่มชนิดที่มีแอลกอฮอล์ได้ ที่เป็นเช่นนั้นเพราะสังคมอเมริกันเชื่อว่าการมีปืนไว้ในครอบครองเป็นสิทธิพื้นฐานของการเป็นพลเมือง

แต่ตอนที่เขาคิดเรื่องสิทธิพื้นฐาน เทคโนโลยีเอื้อให้ทำได้แค่ปืนแก๊ปซึ่งยิงได้นาทีละไม่กี่นัด ต่างกับปืนที่เยาวชนหาซื้อได้ในสมัยนี้ซึ่งแต่ละนาทียิงได้หลายร้อยนัด เมื่อเทคโนโลยีและสิ่งต่างๆ เปลี่ยนไป แนวคิดเรื่องสิทธิพื้นฐานมิได้รับการปรับให้เหมาะสม สังคมจึงมีปัญหาจากคำสาปของเทคโนโลยี

 ผลร้ายของการไม่ปรับแนวคิดเรื่องสิทธิพื้นฐาน เห็นได้ชัดในกรณีการสวมหน้ากากเมื่อไวรัสโควิด-19 เริ่มระบาด ชาวอเมริกันจำนวนมากปฏิเสธมาตรการสวมหน้ากาก เพราะอ้างว่ามันละเมิดสิทธิของตน ส่งผลให้พวกเขาตายด้วยไวรัสตัวนี้สูงที่สุดในโลก

การสังหารเด็กในห้องเรียนครั้งล่าสุดนำไปสู่การถกเถียงกันอย่างเข้มข้นอีกครั้งในสังคมอเมริกัน ไม่ต่างกับเมื่อมันเกิดขึ้นทุกครั้งที่อ้างถึง เนื่องจากในเดือน พ.ย.ปีนี้ จะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด และหนึ่งในสามของวุฒิสภา 

นักการเมืองจึงเริ่มออกมาแสดงท่าทีเกี่ยวกับสิทธิในการมีปืนไว้ในครอบครอง ในขณะเดียวกันกลุ่มผู้ผลิตและค้าปืนก็ออกมาแสดงจุดยืนของตนซึ่งจะมีผลต่อการเลือกตั้งดังกล่าว

ผู้สันทัดกรณีมักมีความเห็นกันว่าจะไม่มีอะไรในด้านมาตรการครอบครองปืนเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ฉะนั้น การสังหารเด็กนับสิบในโรงเรียนอเมริกันจะเกิดขึ้นอีกแน่นอน