สร้าง "ตำแหน่ง" ของผลิตภัณฑ์ให้ชัด เคล็ดไม่ลับครองใจผู้บริโภคทั้งไทยและจีน

สร้าง "ตำแหน่ง" ของผลิตภัณฑ์ให้ชัด เคล็ดไม่ลับครองใจผู้บริโภคทั้งไทยและจีน

เวลาเราคิดจะทำธุรกิจ เขียนแผนธุรกิจ วางแผนการตลาด การกำหนด "ตำแหน่ง" เป็นหนึ่งในสิ่งสำคัญที่เราต้องทำ และมักเป็นปัญหาให้ต้องคิดว่า "ควรกำหนดอย่างไร?" ถึงจะครองใจผู้บริโภคได้

จากคำถามว่า "ควรกำหนดตำแหน่งอย่างไร?" อ้ายจง ในฐานะอาจารย์การตลาด ที่ปรึกษาการตลาดทั้งในไทยและในจีน พบว่า "ผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อย กำหนดตำแหน่งตามที่อยากเป็น และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อแบรนด์หรือผลิตภัณฑ์ตนเอง" คือพูดง่ายๆ ว่า เป็นการมองแบบตัวผู้ประกอบการเป็นหลัก อย่างช่วงที่การท่องเที่ยวไทยบูม ก่อนการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้นำพาให้สินค้าไทยฮิตไปด้วยในกลุ่มผู้บริโภคชาวจีน ในตอนนั้นถ้าหากใครมีโอกาสเดินทางไปยังแหล่งท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวจีนนิยมไป เช่น เอเชียทีค (Asiatique) ตลาดนัดรถไฟ สยาม หรือข้ามไปที่ถนนนิมมานเหมินทร์ และถนนคนเดิน จังหวัดเชียงใหม่ เราจะได้เห็นร้านค้าที่เขียนรายละเอียดโปรโมทสินค้าของตนเป็นภาษาจีนเต็มไปหมด มิหนำซ้ำ สินค้าบางอย่างที่เขียนว่า สินค้าไทย แต่จริงๆ เป็นสินค้าจากผู้ผลิตจีนที่มาสวมรอยเป็นสินค้าไทยด้วยซ้ำ เพราะทุกคนเชื่อว่า "สินค้าอะไรก็ตาม ขายได้หมด ในกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนในไทย ขอแค่ระบุว่า สินค้าไทย และเป็นสินค้าในกลุ่มที่กระแสดี เช่น มาส์กหน้า มะม่วงอบแห้ง นมอัดเม็ด" แต่เมื่อผ่านไปสักพัก สินค้าไทยจำนวนมากเริ่มเจอปัญหา "ขายไม่ได้" เนื่องจากไม่มีจุดยืน ไม่มีตำแหน่งที่ชัดในใจของผู้บริโภค เรียกได้ว่า ไม่ตรงตามความต้องการกลุ่มเป้าหมายนั่นเอง

บทความที่เกี่ยวข้อง

การกำหนด ตำแหน่ง ให้กับแบรนด์หรือผลิตภัณฑ์ของเรา ที่เราอาจจะเคยเห็นผ่านหน้าผ่านตาในช่วงไม่นานนี้ ที่มีหลายๆ แบรนด์/ผลิตภัณฑ์อยู่บนกราฟนั้น เรียกว่า "Perceptual Positioning Map"

หลักการสร้าง Perceptual Positioning Map ควรเป็นอย่างไร ?

Perceptual Positioning Map ที่ควรจะเป็น ควรอยู่บนพื้นของ customer centric หาจาก customer perception เขาใช้เกณฑ์อะไรเขามองอย่างไรในแบรนด์เราและแบรนด์คู่แข่งในการที่เขาจะตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์ อย่างเช่นการใช้เครื่องมือ Social listening tool - วิเคราะห์ความคิดเห็นของผู้คนโดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายจากโลกโซเชียลออนไลน์

รู้ความคิดเห็น หรือเสียงจากผู้บริโภค (Voice of Customer) ที่มีต่อเราและคู่แข่ง แล้วทำอย่างไรต่อ?

เรารู้เพื่อนำมาหา "ปัจจัย" หรือเหตุที่ผู้บริโภคใช้ในการตัดสินใจเลือกผลิตภัณฑ์ในกลุ่มของเราและคู่แข่งเรา จากนั้นนำมาเป็นแกนในกราฟ "แกนของเกณฑ์ที่ผู้บริโภคใช้เลือก" และเราก็นำข้อมูลที่เราได้จากเสียงผู้บริโภค การสำรวจหรือการวิจัยตลาด เพื่อหา Perception การรับรู้ของผู้บริโภค มาจัดตำแหน่งในกราฟให้กับทั้งเราและคู่แข่ง โดยพอเรารู้ Position ที่เราเป็นอยู่แล้ว เราก็เอามา Match กับตำแหน่งที่เราอยากให้เป็น

อ่านมาถึงตรงนี้ ทุกคนน่าจะเข้าใจแล้วว่า หลักการกำหนดตำแหน่งที่ควรเป็น จะได้เจาะตลาดได้จริงๆ คือ

  1. ฟังเสียงผู้บริโภค 
  2. รู้ให้ได้ว่า เขารับรู้เราอย่างไร เราอยู่ตำแหน่งไหนในการรับรู้ของเขา 
  3. ปรับตำแหน่งที่เราอยากให้เป็น (จากตำแหน่งที่เราเรียนรู้จากผู้บริโภค)

 

ในคลาส "หลักการตลาด Marketing Principles" อ้ายจง ย้ำกับนักศึกษาเสมอว่า อยู่บนพื้นฐานความจริง แล้วก็ลากเส้นประ ลากตำแหน่งที่เราอยากไปถึง เพราะถ้าเรากำหนด Position กำหนดใน STP (Segmentation Targeting Positioning) ตามสิ่งที่เป็นจริง คือวิเคราะห์ตลาดและเสียงผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายของเรา มันจะทำให้การตลาดออกมาดี และตอบสนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมายได้จริงๆ

S - Segmentation แบ่งส่วนตลาด หมายถึง การแบ่งความต้องการของตลาดออกเป็นกลุ่มย่อย กล่าวคือ จัดกลุ่มคนที่จะมีโอกาสเป็นลูกค้าเราได้ โดยแบ่งคนที่มีพฤติกรรม มีลักษณะที่เหมือนกัน ไว้ในกลุ่มเดียวกัน

เกณฑ์ที่ใช้แบ่งที่เป็นไปได้

  • ภูมิศาสตร์ เช่น ประเทศ ภาค จังหวัด 
  • ประชากรศาสตร์ ลักษณะทั่วไปของบุคคล (อายุ เพศ รายได้ อาชีพ) และรูปแบบการดำรงชีวิต
  • ด้านจิตวิทยา เช่น ค่านิยม ชนชั้นทางสังคม
  • พฤติกรรม เช่น โอกาสในการซื้อ (ซื้อเค้กฉลองวันเกิดกับซื้อเค้กงานแต่ง ก็ต่างกัน) ผลประโยชน์ที่ต้องการ (ซื้อแชมพูเพื่อขจัดรังแค บำรุงเส้นผมเพราะผมร่วงเยอะ ก็แตกต่างไปตามประโยชน์ที่ผู้บริโภคต้องการ) อัตราในการใช้ (ใช้มาก ใช้น้อย)

การแบ่ง Segmentation การจะใช้เกณฑ์ไหน ต้องแบ่งออกจากกันให้ชัดเจน

T - Targeting คือกลุ่มเป้าหมาย ก็กำหนดจาก Segmentation ว่าเราจะเอากลุ่มไหนมาเป็นเป้าหมายของเราบ้าง เราอาจจะเอาทุก Segment ที่เป็นไปได้ หรือเอาแค่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยพิจารณาจาก ศักยภาพของเรา (ผู้ประกอบการ) เช่น เงินทุน ทรัพยากรบุคคล โดยเป้าหมายไม่ควรใหญ่หรือเล็กเกินไป เมื่อวิเคราะห์ตามศักยภาพ ซึ่ง "ขนาดมูลค่าของตลาด" และ "ขนาดกลุ่มเป้าหมาย" คือตัวแปรที่ต้องพิจารณา

P - Positioning การกำหนดตำแหน่ง รายละเอียดตามที่ได้เขียนไปข้างต้น

ใครก็ตามที่ทำการตลาด สามารถเรียนรู้เรื่องนี้ และลองนำกลับไปปรับ ไปวิเคราะห์กับสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ได้ครับ

ผู้เขียน: ภากร กัทชลี (อ้ายจง) อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่