“รสนา” ทายาท “มหา 5 ขัน” ม้านอกสายตาสู้กระแสโพล?

“รสนา” ทายาท “มหา 5 ขัน” ม้านอกสายตาสู้กระแสโพล?

พลัน “ท่านมหา” พล.ต.จำลอง ศรีเมือง เจ้าของฉายา “มหา 5 ขัน” ออกโรงเชียร์ น.ส.รสนา โตสิตระกูล ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 7 “ม้านอกสายตา” อย่างเธอ ก็ถูกจับตามองทันที

แน่นอน, เรื่องนี้มีความเป็นมา หลายคนที่ไม่ได้อยู่ในยุคสมัยเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.เมื่อปี 2528 อาจไม่รู้ว่า “มหาจำลอง” คือ ต้นตำรับ “ม้านอกสายตา” ขนานแท้ ที่เคยทยานเข้าเส้นชัย ชนิดเหนือความคาดหมาย  

เหตุที่ทำให้เรื่องนี้เป็นประเด็นก็เพราะ เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2565 น.ส.รสนา โตสิตระกูล ผู้สมัครผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร หมายเลข 7 ได้โพสต์เฟซบุ๊กซาบซึ้งใจ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) อดีตผู้ว่าฯ กทม. 2 สมัย กรณีเขียนจดหมายชักชวนคนกทม.ให้เลือก “รสนา” หมายเลข 7 ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ระบุว่า

“ดิฉันรู้สึกซาบซึ้งใจที่ลุงจำลองกรุณาเขียนข้อความด้วยลายมือของท่านเองว่า

“วันที่ 22 พฤษภาคม 2565 นี้ ผมขอฝากชาว กทม. มาช่วยกันเลือก คุณรสนา เบอร์ 7 เป็นผู้ว่า กทม. เปลี่ยนผลโพลทั้งหลายได้ ให้เหมือนสมัยที่เคยเลือกผมนะครับ ผมมั่นใจว่า ถ้าพร้อมกันเลือกคุณรสนา จะไม่เสียเปล่าอย่างแน่นอนครับ”

ลุงจำลอง เคยถูกปรามาสว่าเป็น “สินค้าแบกะดิน” ใช้ฝาเข่งเป็นป้ายหาเสียง และใบปลิวหาเสียงก็มีจำนวนน้อยไม่สามารถเทียบชั้นกับ คุณชนะ รุ่งแสง ในการแข่งขันชิงผู้ว่า กทม.สมัยปี 2528 แต่ปรากฏว่าได้รับการเลือกตั้งแบบถล่มทลาย เอาชนะคุณชนะ รุ่งแสง อย่างขาดลอย ซึ่งลุงจำลองในสมัยนั้นก็เป็นม้านอกสายตา และไม่มีใครเชื่อว่าจะชนะ แต่เมื่อชาวกทม.พร้อมใจกันเทคะแนนเสียงให้ลุงจำลอง ทำให้พลิกความคาดหมายจนทำให้ลุงจำลองได้รับเลือกเป็นผู้ว่า กทม.ในปี 2528

ดิฉันก็ตกอยู่ในสภาพม้านอกสายตาแบบคุณลุงจำลอง ที่มีคะแนนโพลชี้นำต่ำจนคน กทม.ไม่เชื่อว่าจะชนะได้ แต่ถ้าคน กทม. มีเจตจำนงจะยุติการทุจริตคอร์รัปชัน ดิฉันก็จะเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดให้กับชาว กทม. ในการยุติการทุจริตเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาว กทม.ให้ดีขึ้น

ดิฉันขอกราบขอบพระคุณคุณลุงจำลองที่มั่นใจในตัวดิฉันและสนับสนุนให้ชาวกทม.ช่วยกันเลือกรสนาเบอร์ 7 เพื่อเปลี่ยนผลโพลให้ได้ และยังเชื่อมั่นว่าคะแนนของชาว กทม.จะไม่เสียเปล่า ดิฉันจะไม่ทำให้ลุงจำลองและชาว กทม.ผิดหวังอย่างแน่นอน”

“รสนา” ทายาท “มหา 5 ขัน” ม้านอกสายตาสู้กระแสโพล?

ก่อนหน้านี้ (5 เม.ย.65) รสนา เคยโพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า “ลุงจำลอง ศรีเมือง ต้นแบบผู้ว่าฯ กทม.ของดิฉัน สำหรับดิฉัน ลุงจำลอง ศรีเมือง เป็นต้นแบบแห่งแรงบันดาลใจให้ก้าวสู่สนามเลือกตั้ง ผู้ว่าฯกทม. เพราะลุงมีคุณสมบัติสำคัญ 3 ประการ คือ

1) ท่านเป็นต้นแบบแห่งความซื่อสัตย์สุจริต อันเป็นที่ประจักษ์ ถือศีล 8 ใช้ชีวิตอย่างสมถะ จนได้ฉายาว่า “มหาจำลอง” มหาห้าขัน แต่เหนืออื่นใด ท่านบริหารงบประมาณ กทม.ทุกบาททุกสตางค์อย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ ในการสร้างคุณภาพชีวิตทุกด้านให้แก่ชาว กทม.ถ้วนหน้า

2) ท่านเป็นต้นแบบของผู้สร้างความเจริญอย่างใหม่ให้กรุงเทพฯทัดเทียมกับมหานครทั้งหลายในโลก คนกรุงเทพฯรุ่น Gen X Y Z คงคิดไม่ถึงว่าบุรุษในชุดม่อฮ่อมเชยๆ ท่านนี้จะเป็นผู้ว่าฯกทม.คนแรกที่ริเริ่มระบบขนส่งมวลชนทางรางด้วยรถไฟฟ้ายกระดับสายแรกของกรุงเทพฯและของประเทศไทย นั่นคือรถไฟฟ้าบีทีเอส (BTS)

ครั้งหนึ่งดิฉันเคยยืนโหนรถไฟฟ้าบีทีเอสไปกับลุง ท่านบอกว่า ท่านภูมิใจที่ได้สร้างความสะดวกสบายในการสัญจรให้แก่พี่น้องชาวกรุงเทพฯ และมีเจตนารมณ์แน่วแน่ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการว่าจะทำให้ชาว กทม.ทุกคนแม้มีรายได้น้อยก็สามารถขึ้นรถไฟฟ้าราคาถูกเพียง 15 บาทตลอดสาย แต่น่าเสียดายที่ผู้ว่าฯท่านต่อๆ มาได้ละทิ้งเจตนารมณ์ขนส่งมวลชนราคาถูกเพื่อทุกคนในเมืองใหญ่

3) ท่านเป็นผู้บุกเบิกการแก้ปัญหาน้ำท่วม ด้วยการระดมเก็บขยะในคูคลองและใช้งบประมาณจำนวนน้อยในการขุดลอกคูคลองหลายสายเพื่อการระบายน้ำใน กทม. ซึ่งก่อให้เกิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ต่างๆ อย่างยั่งยืนตามมาจนถึงทุกวันนี้ ได้แก่ การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและเชิงนิเวศน์ ที่สำคัญท่าน ได้เปิดโครงการเรือด่วนโดยสารมวลชนในคลองแสนแสบและคลองมหานาค ช่วยขนส่งคนกว่า 3 ล้านคน/ปี จากชานเมืองเข้าสู่ใจกลางกรุงเทพมหานครที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ

ดิฉันขอประกาศสานต่อยอด 3 นโยบายตามเจตนารมณ์ลุงจำลองให้ก้าวหน้าเป็นจริง ดังนี้

1) ดิฉันยึดมั่นในความซื่อสัตย์สุจริต โปร่งใส ตรวจสอบได้ ของผู้บริหาร กทม.อย่างยิ่งยวด และปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาลของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี โดยมุ่งประสิทธิภาพ ความรวดเร็วในการให้บริการและสร้างผลงานตามนโยบายและภาระหน้าที่ของผู้ว่าฯให้เกิดประโยชน์สุขแก่ชาว กทม.โดยถ้วนหน้า

2) ดิฉันจะต่อยอดเจตนารมณ์ระบบรถไฟฟ้าบีทีเอสราคาถูก เป็นธรรม ในราคาตั๋ว 20 บาทตลอดสาย โดยลั่นกลองส่งสัญญาณนับหนึ่ง ยกเลิกสัมปทานรถไฟฟ้าบีทีเอส เพื่อสานต่อนโยบายค่ารถไฟฟ้าราคาถูกของลุงจำลอง ศรีเมือง ซึ่งทำได้แน่นอน ถ้าดิฉันเข้าไปเป็นผู้บริหาร กทม.!

3) ดิฉันขอต่อยอดการแก้ปัญหาน้ำท่วม และการคมนาคมทางเรือของลุงจำลอง

ด้วยนโยบาย “ระบายน้ำท่วม จ้างงานประชาชนร่วมขุดลอก 1,600 คลอง ฟื้นเสน่ห์วิถีท่องเที่ยวเวนิสตะวันออก” และขยายเส้นทางสัญจรทางน้ำในนครหลวงของประเทศไทย ซึ่งเป็นราชอาณาจักรแห่งเดียวในโลกที่มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกทางชลมารคอันสง่างาม เป็นที่ชื่นชมไปทั่วโลก

ดิฉันพูดได้อย่างเต็มปากว่า นโยบายค่าตั๋วรถไฟฟ้าบีทีเอสราคาถูก และฟื้นกรุงเทพฯเป็นเมืองเวนิสตะวันออก เป็นมรดกตกทอดทางนโยบายมาจากท่าน พล.ต.จำลอง ศรีเมือง หรือ “ลุงจำลอง” ต้นแบบผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่เป็นไอดอลของดิฉันและของชาวกรุงเทพฯ เสมอมา

วันนี้ดิฉันได้เสนอตัวเองมาให้พี่น้องชาวกรุงเทพฯ เลือกเป็นแม่บ้านหัวหน้าผู้รับใช้ครอบครัวใหญ่ กทม.อย่างซื่อสัตย์สุจริต ที่ประชาชนผู้เป็นเจ้าของภาษีสามารถกำกับและตรวจสอบให้ทำงานตามนโยบายที่สัญญากับประชาชนไว้

“รสนา” ทายาท “มหา 5 ขัน” ม้านอกสายตาสู้กระแสโพล?

ที่ผ่านมานับตั้งแต่สมัยที่ดิฉันได้รับความไว้วางใจจากพี่น้องชาว กทม.ให้ทำหน้าที่เป็น ส.ว.กทม.ด้วยคะแนนสูงของประเทศเกือบแปดแสนคะแนนแต่สื่อหลักและโพลสำนักต่างๆ ก็ยังเห็นดิฉันเป็นม้านอกสายตามาจนกระทั่งถึงวันนี้

อย่างไรก็ตาม ดิฉันเชื่อมั่นว่าพี่น้องประชาชนชาว กทม. เจ้าของเสียงเลือกตั้งส่วนใหญ่ในจำนวน 4,481,523 คน ณ วันเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. 22 พฤษภาคม 2565 ยังจดจำและชื่นชมผลงานของผู้ว่าฯ กทม.คนซื่อชื่อ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ฉายา “มหาจำลอง” ได้เป็นอย่างดี และจะเชื่อมั่นในตัวดิฉัน ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. เบอร์ 7 ว่าจะสามารถเป็นทายาทสานต่อนโยบายที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ของ “ลุงจำลอง” ให้สำเร็จในยุคที่ดิฉันได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร”

สำหรับปรากฏการณ์ “จำลองฟีเวอร์” ที่หลายคนอาจยังไม่เคยรับรู้ และไม่ได้อยู่ในยุคนั้น

ที่น่าย้อนให้เห็นคือ จากการลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. เมื่อปี2528 เบอร์ 8 ในนาม “กลุ่มรวมพลัง” พล.ต.จำลอง ชนะเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียง 408,233 คะแนน ถึงขนาด แอ๊ด คาราบาว แต่งเพลงให้ชื่อ “มหาจำลองรุ่น 7”

หลังจากนั้นปี 2531 จึงก่อตั้ง พรรคพลังธรรม แต่สื่อมักเรียก “พรรคพลังผัก” เนื่องจากสนับสนุนให้คนเลิกกินเนื้อสัตว์หันมากินอาหารมังสวิรัติ กระแสความนิยมในตัว พล.ต.จำลองในฐานะนักการเมืองผู้สมถะ พุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดเป็นกระแส “จำลองฟีเวอร์” และเรียกกันติดปากว่า "มหาจำลอง"

และได้รับเลือกตั้งเข้าดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯกทม. อีกสมัยในปี 2533 ด้วยคะแนนท่วมท้นถึง 703,671 คะแนน ทิ้งห่างนายเดโช สวนานนท์ ผู้สมัครจากพรรคประชากรไทยถึง 419,894 คะแนน แต่ก่อนที่จะครบวาระ 4 ปี ก็ลาออก และผันตัวเองสู่สนามเลือกตั้งระดับชาติ ซึ่งการเลือกตั้งทั่วไป ส.ส.เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2535 พรรคพลังธรรม ยังได้รับคะแนนความนิยมสูงสุดในพื้นที่กรุงเทพฯ กวาดที่นั่งส.ส.ถึง 32 ที่นั่งจาก 35 ที่นั่ง

รวมทั้งในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พล.ต.จำลอง ยังเป็นแกนนำสำคัญในการประท้วงต่อต้านรัฐบาลสุจินดา คราประยูร ซึ่งถูกกล่าวหาเป็น “เผด็จการทหาร” โดยถูกจับกุมกลางที่ชุมนุมสมรภูมิราชดำเนินเมื่อบ่ายวันที่ 18 พฤษภาคม และวันที่ 20 พฤษภาคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งให้บุคคลทั้งสองเข้าเฝ้า โดยมีพระราชดำรัสยุติเหตุการณ์บานปลาย  

หลังจากนั้น พล.ต.จำลอง ลาออกจากทุกตำแหน่งทางการเมืองตามที่เคยสัญญาไว้เมื่อครั้งชุมนุม ทามกลางกระแสโจมตีจากฝ่ายตรงข้ามว่า “จำลองพาคนไปตาย”

อีกวีรกรรมสำคัญ พล.ต.จำลอง ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีพร้อมกับรัฐมนตรีจากพรรคพลังธรรม เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2538 เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับนโยบาย สปก. 4-01 ของพรรคประชาธิปัตย์ และเป็นเหตุให้ นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภา

นอกจากนี้ พล.ต.จำลอง ยังถือว่า เป็นผู้นำพา นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เข้าสู่การเมือง

โดยอาจต้องย้อนไปเมื่อปี 2537 ช่วง รัฐบาลชวน หลีกภัย 1 เตรียมปรับ ครม. พล.ต.จำลอง ได้เดินทางไปยังตึกชินวัตร และขึ้นไปยังห้องทำงานของทักษิณ ก่อนเอ่ยปากเชิญมาเป็น รมว.กระทรวงการต่างประเทศ ในโควต้าของ “พรรคพลังธรรม” เบื้องต้นทักษิณขอปรึกษาครอบครัวก่อน และได้ตอบตกลงในอีกไม่กี่วันต่อมา จากนั้นเส้นทางทางการเมืองของทักษิณ ก็เริ่มต้นขึ้น  

ขณะที่จุดแตกหักระหว่าง “จำลอง” กับ “ทักษิณ” เกิดขึ้นช่วง การเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ปี 2547 แต่มีการวิเคราะห์กันว่ามีความไม่พอใจซึ่งกันและกันมาก่อนแล้ว กระทั่งเหลืออด จนกลายเป็นวิวาทะโต้ตอบกันผ่านสื่อ

เนื่องจาก พล.ต.จำลอง ต้องการให้ “ทักษิณ” และพรรคไทยรักไทย สนับสนุนดร.มานะ มหาสุวีระชัย อดีตสมาชิกพรรคพลังธรรม

แต่ “ทักษิณ” มีท่าทีบ่ายเบี่ยง เพราะ “ดร.มานะ” เคยทำให้ “ทักษิณ” และสมาชิกพรรคไทยรักไทยสายพลังธรรมเดิม ไม่พอใจ เนื่องจากเลือกสมัครเข้าพรรคประชาธิปัตย์ แทนที่จะเลือก “พรรคไทยรักไทย” ประกอบกับเมื่อพิจารณาจากคู่แข่งอื่นๆ ในสนามเลือกตั้งแล้ว ไม่ว่าจะเป็น อภิรักษ์ โกษะโยธิน, ร.อ.เฉลิม อยู่บำรุง หรือแม้กระทั่ง ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ถือเป็นเรื่องลำบากที่จะดัน ดร.มานะ ให้ได้คะแนนเป็นอันดับหนึ่งได้

เมื่อ “ทักษิณ” มีท่าทีปฏิเสธไม่ทำตามความต้องการ พล.ต.จำลอง จึงเริ่มแสดงท่าทีที่ไม่พอใจชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ โดยครั้งหนึ่งได้ตอบคำถามสื่อมวลชนถึงการสนับสนุน ดร.มานะว่า เพื่อให้เป็นแรงถ่วง ไม่ให้ “ทักษิณ” ลืมตัวไปมากกว่านี้

รวมทั้งให้สัมภาษณ์หลังจากนั้นอีกว่า ที่ต้องสนับสนุน ดร.มานะ ก็เพื่อไถ่บาป ที่ตนเป็นคนชักนำ “ทักษิณ” เข้ามาสู่วงการเมือง

ขณะที่ “ทักษิณ” ให้สัมภาษณ์สวนกลับทันควันว่า พล.ต.จำลองเป็นแค่คนรู้จัก ไม่เคยมีความสัมพันธ์อะไรเป็นพิเศษ นับจากนั้นความสัมพันธ์ของคู่ก็ขาดสะบั้นลง...

ส่วน น.ส.รสนา ก็ถือว่า เป็นคน “มีของ” พอตัว เคยมีผลงานที่น่าตื่นตาพอสมควร โดยเฉพาะการรณรงค์ด้านสุขภาพและสิทธิผู้บริโภค ทั้งยังมีบทบาทสำคัญในการเปิดโปงขบวนการทุจริตยา กรณีการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ในกระทรวงสาธารณสุข เมื่อปี 2541

โดย “รสนา” เป็นหนึ่งในแกนนำล่ารายชื่อ 50,000 รายชื่อ เพื่อยื่นตรวจสอบการทุจริตยาของกระทรวงสาธารณสุข จนทำให้นายรักเกียรติ สุขธนะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้น ถูกศาลตัดสินจำคุกเป็นเวลา 15 ปี และถูกยึดทรัพย์ 233.8 ล้านบาท(รวมเวลาการเคลื่อนไหวทั้งสิ้นกว่า 6 ปี)

การเคลื่อนไหวยับยั้งการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เมื่อปี 2548

โดยยื่นเรื่องต่อศาลปกครองในการยับยั้งการแปรรูปของ กฟผ. อันนำมาสู่คำสั่งเพิกถอนพระราชกฤษฎีกาแปรรูป กฟผ. ทั้ง 2 ฉบับ

เป็นหนึ่งในแกนนำฟ้องร้องคดีของบริษัทปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย หรือ ปตท. จนส่งผลให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้รับความเสียหายเป็นมูลค่าหลายพันล้านบาท

ในปี2549 น.ส.รสนาได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) กรุงเทพมหานคร ด้วยคะแนนอันดับ 4 (แต่ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ เพราะเกิดรัฐประหาร “19 กันยา” เสียก่อน) จากนั้นปี 2551 ลงรับสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานครอีกครั้ง ครั้งนี้ได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนนเป็นอันดับ 1 มีคะแนนนำอันดับ 2 อย่างนายนิติพงษ์ ห่อนาค นักแต่งเพลงชื่อดังขาดลอย(น.ส.รสนาได้ 743,397 คะแนน ส่วนนายนิติพงษ์ ได้ประมาณ 200,000 คะแนน)

ที่สำคัญ น.ส.รสนา ยังมีส่วนร่วมกับกลุ่มพันธมิตรประชาชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในการขับไล่รัฐบาล “ทักษิณ”ด้วย

ดังนั้น เมื่อวิเคราะห์ฐานเสียง ความนิยมในอดีตของ มหาจำลอง และฐานเสียงของ น.ส.รสนาเอง ก็ถือว่า มีโอกาสลุ้นชนะเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ได้เหมือนกัน

เพียงแต่จะสามารถฟื้นฐานเสียงเหล่านั้นกลับมาได้อย่างเป็นกอบเป็นกำหรือไม่ เพราะอย่าลืมฐานเสียงของ มหาจำลองนั้น เกิดจาก “กระแสความนิยม” ในขณะนั้นเป็นสำคัญ และไม่แน่ว่า ยังคงติดตัวมาตลอดจนถึงวันนี้มากน้อยแค่ไหน?

ส่วนฐานเสียงของ “รสนา” เอง เชื่อว่าส่วนใหญ่ยังคงอยู่ เพราะเป็นคะแนนนิยมส่วนตัวอยู่แล้ว

แต่เหนืออื่นใด คือ กระแสความนิยม นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครหมายเลข 8 ที่โพล(ผลสำรวจความคิดเห็นประชาชน) ทุกสำนัก ต่างยกให้เป็นเต็ง 1 นำโด่งคนอื่น ตั้งแต่ต้นจนแม้กระทั่งครั้งล่าสุด คือ ก้างขวางคอชิ้นใหญ่อยู่ในเวลานี้

ที่ “รสนา” จะต้องสร้างปรากฏการณ์ “ม้านอกสายตา” ในเกือบจะโค้งสุดท้าย ทยานสู่เส้นชัยได้อย่างไร เหมือน “มหาจำลอง” เมื่อปี 2528 และเหมือน “รสนา” เอง ขณะลงสมัครรับเลือกตั้งส.ว. “รวมกัน” จะทำได้หรือไม่

ที่สำคัญ ความขลังของ “มหาจำลอง” ในวันนี้กับวันนั้นต่างกันหรือไม่ วันเวลาเปลี่ยน ใจคนเปลี่ยนหรือไม่ คือ สิ่งที่ต้องลุ้นจนวินาทีสุดท้ายของผลเลือกตั้ง