สังคมนิยมแท้ยังไม่แพ้ | วิทยากร เชียงกูล

สังคมนิยมแท้ยังไม่แพ้ | วิทยากร เชียงกูล

เมื่อสหภาพโซเวียตรัสเซียล่มสลาย 21 ปีที่แล้ว (ค.ศ.1991) ขณะที่จีนและประเทศสังคมนิยมอื่นๆ ปรับตัวเป็นทุนนิยมโดยรัฐในช่วงระยะเวลาใกล้เคียงกัน คนจำนวนมากมักคิดว่าสังคมนิยมพ่ายแพ้อย่างราบคาบแล้ว

การเปลี่ยนแปลงของประเทศที่เคยเรียกตัวเองว่าเป็นสังคมนิยม เป็นปัญหาเฉพาะกรณีหรือเฉพาะถิ่น ซึ่งเกิดจากปัจจัยเฉพาะหลายข้อทั้งในรัสเซีย จีน และที่อื่นๆ

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไม่ได้แปลว่าสังคมนิยมโดยหลักการ หรือสังคมนิยมที่แท้จริงคือ สังคมที่เสมอภาค เป็นธรรม ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ จะล่มสลายใช้งานไม่ได้อีกแล้วเป็นการทั่วไป

พวกสังคมนิยมแนวอิสระเสรี (Libertarian Socialism) และพวกสังคมนิยมอนาคิสต์ไม่ยอมรับว่า สังคมนิยมแบบที่โซเวียตรัสเซีย จีน ฯลฯ ทดลองทำแบบลองผิดลองถูกนั้นเป็นสังคมนิยมที่แท้จริง แต่เป็นทุนนิยมโดยรัฐมากกว่า

มิเคอิล บูกานิน (1814-1876) นักปฏิวัติสังคมนิยมอนาคิสต์ชาวรัสเซีย ซึ่งเป็นคนรุ่นเดียวกับคาร์ล มาร์กซ์ (ชาวเยอรมัน) เคยวิจารณ์ไว้ล่วงหน้าว่า สังคมนิยมแนวที่พรรคการเมืองแบบแนวหน้าที่อ้างว่าเป็นตัวแทนชนชั้นคนงานที่ยึดอำนาจรัฐได้ และเป็นรัฐบาลบริหารรัฐแทนชนชั้นนายทุนนั้นจะนำไปสู่เผด็จการและล้มเหลว

ปีเตอร์ โครพอตกิ้น (1842-1921) นักปฏิวัติสังคมนิยมอนาคิสต์ชาวรัสเซียรุ่นก่อนเลนิน ซึ่งมีชีวิตยืนยาวพอที่จะได้กลับไปเห็นการปฏิวัติสังคมนิยมของรุสเซียในปี 1917 วิเคราะห์ไว้เช่นกันจากภาพจริงในตอนนั้นว่า สังคมนิยมในรัสเซียแบบที่ขึ้นอยู่กับรัฐที่รวมศูนย์อำนาจมากอย่างพรรคบอลเชวิคนั้นจะล้มเหลว

พวกสังคมนิยมแนวอนาคิสต์ เสนอว่า การจะสร้างสังคมนิยมที่แท้จริง คือสังคมที่จะให้ทั้งความเสมอภาค เป็นธรรม และสิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนควบคู่กันไปได้นั้น

จะต้องเป็นสังคมที่มีการจัดระบบบริหารแบบกระจายอำนาจและทรัพยากรไปสู่คอมมูน (ประชาคมแบบสหกรณ์) ย่อยๆ ทั้งในโรงงานและชุมชนต่างๆ ประชาชนเลือกคณะกรรมการบริหารแต่ละหน่วยกันเองอย่างเป็นประชาธิปไตยในแนวราบ 

ส่วนการร่วมมือค้าขายแลกเปลี่ยนทำงานร่วมกันในโครงการระดับใหญ่ขึ้นในระดับจังหวัด ภูมิภาค ประเทศ ให้ใช้ระบบเครือข่ายสหพันธ์ ที่ตัวแทนคณะกรรมการแต่ละคอมมูนมาประชุมตกลงร่วมมือกัน ทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม โดยที่แต่ละคอมมูนต่างยังคงเป็นอิสระ เท่าเทียมกัน โดยไม่จำเป็นต้องมีรัฐและรัฐบาลกลาง

นักคิดอนาคิสต์วิเคราะห์ว่า ในประวัติศาสตร์ที่ยาวนานกว่า 2 ล้านปี ของมนุษยชาติอย่างน้อย 95% ของยุคสมัย ชุมชนส่วนใหญ่ที่อยู่ในยุคหาของป่าล่าสัตว์อยู่กันแบบกลุ่มประชาคมเล็กๆ ที่คนในกลุ่มทำงานใช้ชีวิตร่วมกันแบบค่อนข้างเสมอภาค ไม่จำเป็นต้องมีรัฐ ไม่ต้องมีผู้ปกครอง ไม่ต้องมีตำรวจ ทหาร ฯลฯ พวกเขาอยู่กันได้อย่างมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ค่อนข้างดีทั้งทางกายและความคิดจิตใจ

นักคิดอนาคิสต์วิเคราะห์ว่า สังคมแบบมีรัฐ มีชนชั้นผู้ปกครอง เพิ่งเกิดในยุคหลังมาก คือราว 1 หมื่นปีที่แล้วเท่านั้น และก็เกิดขึ้นเฉพาะบางเมืองในบางภูมิภาค สังคมแบบกลุ่มประชาคมเล็กๆ หาของป่าล่าสัตว์และหรือทำเกษตรแบบง่ายๆ ยังคงดำรงอยู่ในหลายภูมิภาค

สังคมนิยมแท้ยังไม่แพ้ | วิทยากร เชียงกูล

แม้ในยุคที่สังคมส่วนใหญ่มีรัฐและรัฐบาลกลางเป็นเครื่องมือเมื่อ 200-300 ปีที่แล้ว ประชาชนบางกลุ่มก็เคยมีความพยายามที่จะสร้างสังคมนิยมแบบอนาคิสต์ในหลายแห่งหลายยุค

เช่น ที่ปารีสในยุคการปฏิวัติของปารีสคอมมูน (ค.ศ.1871) ในแคว้นคาตาลันญา สเปน ในยุคการปฏิวัติสเปน (ค.ศ.1930-1939) และในเขตแดนเสรีในภูมิภาคหนึ่งของยูเครนในช่วงการปฏิวัติสังคมนิยมรัสเซีย (ค.ศ.1917-1921) 

สังคมนิยมแบบอนาคิสต์หรือประชาชนจัดการตนเอง เป็นสังคมที่สมาชิก มีทั้งความเสมอภาคและมีเสรีภาพ และบริหารงานเศรษฐกิจการเมืองกันอย่างได้ผลค่อนข้างดี แต่ที่พวกเขาอยู่ได้ไม่นาน เพราะถูกปราบปรามทำลายล้างโดยกองทัพฝ่ายตรงข้ามที่เห็นต่าง และมีกำลังเข้มแข็งกว่า

ระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมเองที่เน้นการเติบโตทางวัตถุ การบริโภคแบบเก่งแย่งแข่งขัน ก็ไม่ได้ชนะอย่างเด็ดขาด เพราะว่ามันยังคงเป็นระบบที่สร้างปัญหา ทั้งวิกฤติทางเศรษฐกิจสังคมเรื่องการสร้างความขัดแย้ง การกดขี่เอารัดเอาเปรียบและความเหลื่อมล้ำต่ำสูง ความยากจนขาดแคลน และวิกฤติระบบนิเวศ การทำลายระบบนิเวศสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดภัยทางธรรม โลกร้อน ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง โรคระบาด ฯลฯ

สังคมนิยมแท้ยังไม่แพ้ | วิทยากร เชียงกูล

วิกฤติที่ร้ายแรง 2 เรื่องนี้เป็นปัญหาที่จากตัวระบบโครงสร้างการผลิตแบบทุนนิยมอุตสาหกรรมเอง เพราะระบบนี้มุ่งหากำไรสูงสุดของนายทุนเอกชน ที่อยู่ตรงกันข้ามกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน

หลังจากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจการเงินในสหรัฐที่ลามไปทั่วโลกปี ค.ศ.2007-2008 ปัญญาชนหัวก้าวหน้ามองว่า ตัวระบบทุนนิยมข้ามชาติคือตัวการสร้างปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ การว่างงาน ความยากจน เกิดขบวนการยึดครองวอลสตรีท/ต่อต้านโลกาภิวัตน์ โดยปัญญาชนหนุ่มสาวในประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมและกึ่งพัฒนาอุตสาหกรรมหลายประเทศ

วิกฤติความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศที่รุนแรงขึ้นทำให้นักอนุรักษ์/ฟื้นฟูระบบนิเวศหลายกลุ่ม เห็นคล้ายกับแนวคิดชาวอนาคิสต์ที่ว่า แนวทางแก้ไขปัญหาวิกฤตของโลกจะต้องแก้ไขทั้งระบบโครงสร้าง

คือต้องเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจการเมืองทุนนิยมอุตสาหกรรมให้เป็นระบบสังคมนิยมอนาคิสต์แนวอนุรักษ์ระบบนิเวศ (Eco-Anarchism) โลกมนุษย์จึงจะสามารถแก้ไขปัญหาวิกฤติของระบบทุนนิยมและระบบนิเวศของโลกได้อย่างแท้จริง 

สังคมนิยมแท้ยังไม่แพ้ | วิทยากร เชียงกูล

พรรคกรีนและพรรคฝ่ายซ้ายในประเทศพัฒนาอุตสาหกรรม มีนโยบายปฏิรูปในแนวคล้ายกันเพิ่มขึ้น แต่ที่ฝ่ายทุนนิยม โดยเฉพาะพวกขวาจัดฟาสซิสต์ยังคงมีคนหนุนหลังมาก เพราะพวกเขาขูดรีดแรงงานจากประเทศอื่นและทรัพยากรของโลก มาแบ่งปันให้คนงานบางส่วนพออยู่ได้ และเพราะพวกเขาหลอกลวงครอบงำได้เก่ง

การเปลี่ยนแปลงปฏิวัติทางสังคมเพื่อสร้างระบบสังคมนิยมที่แท้จริง (ที่มีทั้งเสมอภาคและเสรีภาพควบคู่กันไป) อาจจะดูเหมือนเป็นอุดมคติมาก ทั้งฝ่ายนายทุนและชนชั้นกลางที่ได้ประโยชน์จากระบบทุนนิยมก็ขัดขวางอย่างหนัก แต่เราก็อาจนำแนวคิดของสังคมนิยมแนวอนาคิสต์ที่คัดค้านทั้งระบบทุนนิยมและระบบการมีรัฐที่มีอำนาจรวมศูนย์มาก ไปประยุกต์ใช้เพื่อแก้/บรรเทาปัญหาทางสังคมในโลกปัจจุบันได้ในหลายเรื่อง 

เช่น การกระจายอำนาจการปกครองและการบริหารจัดการทางเศรษฐกิจแบบให้คณะกรรมการคนงาน ชุมชนสหกรณ์ สหภาพแรงงาน ประชาคม องค์กรชุมชนต่างๆ มีบทบาทในการจัดการหน่วยต่างๆ ของตนเองได้เพิ่มขึ้น ลดอำนาจรัฐส่วนกลางเป็นรัฐบาลท้องถิ่นและลดบทบาทนายทุนลง เพิ่มบทบาทของสหกรณ์ผู้ผลิต ผู้บริโภค วิสาหกิจชุมชน ฯลฯ การจัดการศึกษา บริการทางสังคมและอื่นๆ แบบที่ประชาชนจัดการตนเอง เพื่อความเป็นธรรมและเสรีภาพส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นได้

ความเป็นไปได้มีอยู่ แต่อุปสรรคคือประชาชนยังขาดความรู้ความเข้าใจที่แท้จริง เพราะประชาชนถูกครอบงำโดยรัฐและนายทุนให้เชื่อว่าระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมจะช่วยให้ประชาชนทุกคนรวยขึ้นในวันข้างหน้า และระบบประชาธิปไตยรัฐสภาแบบนายทุนจะพัฒนาไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่ประชาชนจะมีสิทธิเสรีภาพ

แต่นี่คือการครอบงำให้ประชาชนมีความหวังในระบบทุนนิยม และไม่รู้ จักคิดวิเคราะห์อย่างวิพากษ์วิจารณ์ และคิดหาระบบเศรษฐกิจทางเลือกอื่นมาแทนระบบทุนนิยม

เราต้องช่วยกันค้นคว้า/เผยแพร่ให้ประชาชนมีความรู้ ความคิดอ่าน และเห็นว่ามีแนวทางปฏิวัติปฏิรูปสังคมแนวทางอื่น ที่ควรเป็นประชาธิปไตยแนวกระจายอำนาจ การจัดการทรัพยากร ทุน แรงงาน สู่ประชาชนในหน่วยการผลิตและชุมชนต่างๆ อย่างแท้จริง ประชาชนจึงจะมีโอกาสสร้างสังคมที่ดีกว่าสังคมนายทุนในยุคปัจจุบันได้.