ปัจจัยภายในหนุนหุ้นไทยกลับมาโดดเด่น

ปัจจัยภายในหนุนหุ้นไทยกลับมาโดดเด่น

ในเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ภาวะการลงทุนในประเทศไทยถือได้ว่าค่อนข้างราบเรียบผันผวนน้อยกว่าในต่างประเทศเพราะประเทศไทยไม่มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงแบบมีนัยสำคัญ ในขณะที่ฝั่งต่างประเทศกลับมีปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อภาพการลงทุนในประเทศแบบมีนัยสำคัญ แต่ที่แปลกก็คือ ปัจจัยเสี่ยงกลับมีความชัดเจนและเห็นภาพได้ชัดมาก ในขณะที่เดือน พ.ค.ปัจจัยดังกล่าวก็ยังคงส่งผลกระทบต่อเนื่อง

 โดยปัจจัยที่มีผลต่อภาพการลงทุนที่สำคัญมีด้วยกัน 3 ปัจจัย ปัจจัยแรก คือ นโยบายการเงินของ FED ที่มีแนวโน้มที่จะใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัว โดยการส่งสัญญาณที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยที่สอง คือสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่าง ยูเครน กับ รัสเซีย ซึ่งไม่น่าจะเสร็จสิ้นในระยะเวลาอันใกล้ เป็นสาเหตุที่ทำให้สินค้าโภคภัณฑ์หลายอย่างปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะ ราคาพลังงาน

และปัจจัยที่ 3 คือ อัตราเงินเฟ้อทั้งในระดับโลกและในสหรัฐอเมริกา ที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น อย่างรวดเร็ว ปัจจัยสำคัญทั้งสามเป็นปัจจัยหลักที่ทำภาวะการลงทุนผันผวนไปทั่วโลก ในขณะที่ปัจจัยบวกไม่ชัดเจน อย่างไรก็ดี ปัจจัยเสี่ยงที่เราเห็นในรอบนี้ค่อนข้างชัดเจน ไม่มีอะไรคลุมเคลือ นักลงทุนส่วนใหญ่รับรู้ และยอมรับ คือ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ FED ที่ไม่น่าจะน้อยกว่าร้อยละ 0.5 ในเดือนพ.ค.ภาวะสงครามยังคงยืดเยื้อ และอัตราเงินเฟ้อ ก็คงยังเดินหน้าปรับตัวสูงขึ้น

ในส่วนของภาวะการลงทุนนั้นในช่วงเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ดัชนีตลาดหุ้นแกว่งตัว ออกด้านข้าง และผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล ก็ปรับตัวสูงขึ้น สอดคล้องกับของสหรัฐอเมริกา โดยมีปัจจัยกดดันที่สำคัญได้แก่ แนวนโยบายการเงินของ Fed ที่เข้มงวดมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทั้งการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในระดับที่ไม่น่าจะน้อยกว่า 0.5% ต่อครั้ง หรือการลดขนาดงบดุล ซึ่งจะมีเพดานอยู่ที่ราว 9 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือน 

  และปัจจัยดังกล่าวทำให้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯในเดือนเม.ย. ปรับสูงขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัดไม่ว่าจะเป็นรุ่นระยะสั้นหรือระยะยาวก็ตามการปรับขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯในเดือนเมษายน นี้ส่งผลกระทบต่อความน่าสนใจของตลาดหุ้นและสินทรัพย์อื่นอย่างหลีกเลี่ยงมิได้

เนื่องจาก อัตราผลตอบแทนที่แท้จริงที่นักลงทุนจะได้รับจากการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกา รุ่น 10 ปี ได้ปรับตัวสูงขึ้นจนมีค่าเป็นบวกแล้ว ( Real Yield จะคำนวณมาจากผลตอบแทนจากการลงทุนที่ตัดอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ออกไป ซึ่งจะสะท้อนให้เห็นผลตอบแทนที่แท้จริงในรูปของกำลังซื้อที่นักลงทุนจะได้รับ) ก่อให้เกิดแรงขายในสินทรัพย์ข้างเคียงต่างๆ ในขณะเดียวกัน Earning yield gap ของตลาดหุ้นก็ได้รับผลกระทบตามไปด้วย จากส่วนต่างที่ลดลง เนื่องจากประมาณการกำไรต่อหุ้นของตลาดหุ้นไม่ได้ถูกปรับขึ้นเพื่อชดเชย

สำหรับผู้ที่รับความเสี่ยงได้และสนใจลงทุนในหุ้น ผมยังคงให้มุมมองเป็นบวกในการเลือกลงทุนในหุ้นไทย เพราะ บาทอ่อนเป็นประโยชน์กับเรา การเปิดเมืองรับการท่องเที่ยวก็เป็นประโยชน์กับเรา ดังนั้นสถานการณ์ในประเทศไทยมีความน่าสนที่เพิ่มขึ้นแต่เพื่อเป็นการลงทุนอย่างระมัดระวัง เน้นลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ กลุ่ม Defensive growth ( ไฟฟ้า น้ำ การสื่อสาร และการคมนาคมขนส่ง) เป็นสำคัญ ซึ่งปลอดภัยมากกว่าในช่วงแรงกดดันเงินเฟ้อสูงรวมถึงเศรษฐกิจขาลง กลุ่มการแพทย์ กลุ่มพาณิชย์ และกลุ่มบริหารสินทรัพย์ ส่วนกลุ่มที่อาจเป็นธีมที่น่าสนใจประจำเดือนนี้มองไปยังกลุ่มส่งออก ที่อาจได้ ผลบวกจากการอ่อนค่าของเงินบาท เช่นกลุ่มอาหารและสินค้าเกษตรเป็นต้น

นอกจาก หุ้นไทยที่จะมีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีจากปัจจัยบวกภายในประเทศแล้วนั้น การกระจายการลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ ยังคงเป็นทางเลือกที่สำคัญ สำหรับนักลงทุนที่สนใจการลงทุนในตราสารหนี้ โดยมองว่า พอร์ตการลงทุนของกองทุนรวมตราสารหนี้ที่มีส่วนผสมระหว่างตราสารหนี้ระดับที่ลงทุนได้ หรือ Investment grade และตราสารหนี้ต่ำกว่าระดับลงทุนได้ หรือ High Yield Bond ยังเป็นทางเลือกที่ดี เพื่อสร้างผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้น ในช่วงที่เงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง 

ทั้งนี้ ระยะเวลาการถือครอง ควรมีความเหมาะสมประมาณ 2 ปี เพื่อข้ามผ่านความผันผวนของการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ย และ ราคาตราสารหนี้ อย่างไรก็ดี High Yield Bond เป็นการลงทุนในตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงสูงกว่าตราสารหนี้ปกติ ดังนั้น ผู้ลงทุนควรศึกษารายละเอียดก่อนตัดสินใจลงทุนควบคู่ไปกับระดับความเสี่ยงที่ท่านสามารถยอมรับได้ นอกจากนี้ ท่านควรทราบปัจจัยแวดล้อม อาทิ สถานะทางการเงิน โอกาสการดำเนินธุรกิจ ความสามารถในการแข่งขันในเชิงธุรกิจของผู้ออกตราสารเป็นต้น