กกต.จะต้องรับผิดขนาดไหนในกรณีใบส้มคุณสุรพล | ชำนาญ จันทร์เรือง

กกต.จะต้องรับผิดขนาดไหนในกรณีใบส้มคุณสุรพล | ชำนาญ จันทร์เรือง

ตามที่ได้มีผู้ให้ความเห็นไว้เกี่ยวกับกรณี กกต.ชุดปัจจุบัน ๗ คน ได้ให้ใบส้ม (เลือกตั้งเสร็จ ชนะแล้ว ไม่ประกาศรับรองผล สั่งให้เลือกตั้งใหม่ โดยตัดสิทธิลงแข่งขัน) แก่คุณสุรพล เกียรติไชยากร

สุรพล เกียรติไชยากร อดีตผู้สมัคร ส.ส. เชียงใหม่ เขต ๘ ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ ๒๔  มีนาคม ๒๕๖๒ ต่อมา ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งมีคำพิพากษาว่าไม่ผิด และศาลจังหวัดฮอดได้มีคำพิพากษาให้ กกต.เยียวยาชดใช้ค่าเสียหาย ๖๔.๑ ล้านบาท โดยได้มีการให้ความเห็นไปในหลายแนวทาง นั้น

ผมขออธิบายให้เข้าใจว่าการที่เจ้าหน้าที่ดำเนินกิจการต่าง ๆ ของ หน่วยงานของรัฐนั้น หาได้เป็นไปเพื่อประโยชน์อันเป็นการเฉพาะตัวไม่ การปล่อยให้ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ในกรณีที่ปฏิบัติงานในหน้าที่และเกิดความเสียหายแก่เอกชน เป็นไปตามหลักกฎหมายเอกชนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงเป็นการไม่เหมาะสม

ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเจ้าหน้าที่จะต้องรับผิดในการกระทำต่าง ๆ เป็นการเฉพาะตัวเสมอไป เมื่อการที่ทำไปทำให้หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกเพียงใด ก็จะมีการฟ้องไล่เบี้ยเอาจากเจ้าหน้าที่เต็มจำนวนนั้นในอดีตนั้น ทั้งที่บางกรณีเกิดขึ้นโดยความไม่ตั้งใจหรือความผิดพลาด เพียงเล็กน้อยในการปฏิบัติหน้าที่ 

นอกจากนั้น ยังมีการนำหลักเรื่องลูกหนี้ร่วมให้เจ้าหน้าที่ต้องร่วมรับผิดในการกระทำของเจ้าหน้าที่ผู้อื่นด้วย ซึ่งระบบนั้นมุ่งหมายแต่จะได้เงินครบโดยไม่คำนึงถึงความเป็นธรรมที่จะมีต่อแต่ละคน กรณีเป็นการก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่เจ้าหน้าที่ และยังเป็นการบั่นทอนกำลังใจในการทำงานของเจ้าหน้าที่ด้วย 

จนบางครั้งกลายเป็นปัญหาในการบริหาร เพราะเจ้าหน้าที่ไม่กล้าตัดสินใจดำเนินงานเท่าที่ควร เพราะเกรงความรับผิดชอบที่จะเกิดแก่ตน ดังนั้น จึงกำหนดให้เจ้าหน้าที่ต้องรับผิดทางละเมิดในการปฏิบัติงานในหน้าที่เฉพาะเมื่อเป็นการจงใจกระทำ เพื่อการเฉพาะตัวหรือจงใจให้เกิดความเสียหาย หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเท่านั้น 
 

และให้แบ่งแยกความรับผิดของ แต่ละคนมิให้นำหลักลูกหนี้ร่วมมาใช้บังคับ ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและเพิ่มพูนประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของรัฐนั่นเอง จึงได้มีการตรา พ.ร.บ.ว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.๒๕๓๙ ขึ้นมา

เมื่อมาพิจารณากรณีใบส้มฯนี้ เราลองลำดับเหตุการณ์ว่าหากคดีถึงที่สุด(จะโดยการอุทธรณ์หรือฎีกาหรือไม่ก็ตาม) สิ่งแรกก็คือต้องแจ้งกระทรวงการคลังเพื่อตั้งงบประมาณชดใช้พร้อมกับการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดขึ้นคณะหนึ่งจำนวนไม่เกินห้าคน เพื่อพิจารณาเสนอความเห็นเกี่ยวกับผู้ต้องรับผิด 

และจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่ผู้นั้นต้องชดใช้ ตามข้อ ๘,๙ และ๑๐ ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙

กกต.จะต้องรับผิดขนาดไหนในกรณีใบส้มคุณสุรพล | ชำนาญ จันทร์เรือง

๑.ถ้าสอบสวนแล้วปรากฏว่ามิใช่การจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง แต่เป็นการประมาทเลินเล่อธรรมดาที่เป็นปฏิบัติหน้าที่ตามที่วิญญูชนอาจผิดพลาดได้ กกต.ทั้งหลายก็ไม่ชดใช้แต่อย่างใด ก็เป็นเรื่องที่ต้องใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินซึ่งมาจากภาษีเรานั่นเอง 

๒.ถ้าสอบสวนแล้วปรากฏว่าเป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เช่น ในการเลือกตั้งครั้งนั้นไม่มีใบเหลืองใบแดงก่อนการรับรองผลเลย งั้นเอาใบส้มไปสักใบหนึ่งก็ยังดี อย่างนี้ต้องโดนชดใช้เงินแน่ และต้องมาดูว่าใครรับผิดชอบแค่ไหน 

ถึงตัวเจ้าหน้าที่หรือไม่ อย่างไร ทั้งหมดทั้งปวงก็ต้องพิสูจน์กันตามมาตรา ๘ ของ พรบ.ว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่  พ.ศ.๒๕๓๙ ที่บัญญัติไว้ว่าในกรณีที่หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายเพื่อการละเมิดของเจ้าหน้าที่

ให้หน่วยงานของรัฐ มีสิทธิเรียกให้เจ้าหน้าที่ผู้ทำละเมิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวแก่หน่วยงานของรัฐได้ถ้าเจ้าหน้าที่ได้กระทำการนั้นไปด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง 

สิทธิเรียกให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจะมีได้เพียงใดให้คำนึงถึงระดับความร้ายแรงแห่งการกระทำ และความเป็นธรรมในแต่ละกรณีเป็นเกณฑ์ โดยมิต้องให้ใช้เต็มจำนวนของความเสียหายก็ได้ ถ้าการละเมิดเกิดจากความผิดหรือความบกพร่องของหน่วยงานของรัฐหรือระบบการดำเนินงานส่วนรวม ให้หักส่วนแห่งความรับผิดดังกล่าวออกด้วย 

กกต.จะต้องรับผิดขนาดไหนในกรณีใบส้มคุณสุรพล | ชำนาญ จันทร์เรือง

ในกรณีที่การละเมิดเกิดจากเจ้าหน้าที่หลายคน มิให้นำหลักเรื่องลูกหนี้ร่วมมาใช้บังคับและเจ้าหน้าที่ แต่ละคนต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเฉพาะส่วนของตนเท่านั้น

ซึ่งเมื่ออ่านคำพิพากษาของศาลจังหวัดฮอดที่ระบุว่า “...การที่จำเลยที่ ๒ ถึงถึงที่ ๗ (กกต.๖ คน – ผู้เขียน)ไม่รับฟังข้อเท็จจริงในสำนวนการสืบสวนและไต่สวนที่กล่าวหาโจทก์ให้ถี่ถ้วนรอบคอบ ทำให้การวินิจฉัยผิดพลาดคลาดเคลื่อน จึงเป็นการใช้อำนาจที่ไม่ชอบ การลงโทษไม่ได้สัดส่วน และรุนแรงเกินกว่าเหตุ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ...”

แล้ว กกต.ก็ต้องเหนื่อยหน่อยล่ะที่จะต่อสู้ว่ามิได้จงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงน่ะครับ ส่วนใครจะต้องรับผิดขนาดไหนอย่างไรก็ต้องแยกเป็นรายบุคคลไป และ กกต.มี ๗ คน แต่มีเข้าประชุมเพียง ๖ คนและมีมติเอกฉันท์อีกด้วย  ซึ่งก็ต้องถามว่าอีกคนไปไหน มีความจำเป็นอย่างไรจึงไม่ได้เข้าประชุม

ขอเน้นว่าหน่วยงานสามารถเรียกให้ผู้ที่จะต้องชดใช้เงินได้เลย โดยไม่ต้องไปฟ้องศาลอีก ถึงไปฟ้องศาลอีกศาลก็ไม่รับ เพราะหน่วยงานสามารถใช้มาตรการบังคับทางปกครองโดยสามารถยึด อายัดทรัพย์สิน ฯลฯ ได้เลย ถ้าใช้ไม่ได้ เช่น ตายหรือสาบสูญ ฯลฯจึงจะสามารถไปฟ้องศาลปกครองได้ 

และในทำนองกลับกันเมื่อคำสั่งชดใช้เงินเป็นคำสั่งทางปกครอง ผู้ที่ถูกคำสั่งหรือถูกมาตรการบังคับทางปกครองก็สามารถไปฟ้องที่ศาลปกครองเพื่อโต้แย้งได้ ตัวอย่างก็คือคดีคุณยิ่งลักษณ์ที่เอาคดีไปฟ้องศาลปกครองเพิกถอนการยึดอายัดทรัพย์สินของตนเอง 

ซึ่งการใช้มาตรการบังคับทางปกครองนั้นเป็นไปตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.๒๕๓๙ ในส่วนที่ ๒ ที่ว่าด้วยการบังคับตามคำสั่งทางปกครองที่กำหนดให้ชำระเงินน่ะครับ

อาจจะดูเข้าใจยากไปนิดหนึ่ง แต่ก็จำเป็นที่จะต้องอ้างตัวบทของกฎหมายเข้ามาประกอบการอธิบายด้วย ทั้งนี้ เพื่อสามารถนำไปอ้างอิงได้ และเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง ไม่เกิดความสับสน ว่ากันไปคนละทางสองทางเหมือนที่พยายามอธิบายกันน่ะครับ.