ผลกระทบจากนโยบายของ FED และความผันผวนกับตลาดการเงินในไทย

ผลกระทบจากนโยบายของ FED และความผันผวนกับตลาดการเงินในไทย

เมื่อตลาดการเงินโลกยังคงอยู่ในช่วงที่ความผันผวนสูง ทั้งเรื่องนโยบายการเงินสหรัฐฯ แรงกดดันเงินเฟ้อ ความเร็วและขนาดของการขึ้นดอกเบี้ยของFED ยังคงไม่แน่นอนและปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา

ตลาดการเงินโลกยังคงอยู่ในช่วงที่ความผันผวนสูงต่อเนื่อง จากปัจจัยหลัก คือ เรื่องของนโยบายการเงินของสหรัฐฯ และแรงกดดันเงินเฟ้อ ซึ่งการสื่อสารเกี่ยวกับเวลา ความเร็วและขนาดของการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ยังคงไม่แน่นอนและปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา จากปลายปีก่อนที่มองว่าดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ อาจปรับสูงขึ้นอีก 1.00% ในปีนี้ แต่ปัจจุบันตลาดคาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นอีกถึง 2.00-2.25% ในปีนี้ ไม่นับรวมที่ขึ้นไปแล้ว 0.25%

 ในการประชุมครั้งก่อนหน้า ในส่วนของนโยบายการเงินในเมืองไทยยังมีแนวโน้มผ่อนคลายเพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างเต็มที่ ในขณะที่เครื่องชี้แนวโน้มเงินเฟ้อต่างๆ รวมถึงอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังอยู่ในกรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย ทำให้ไม่จำเป็นต้องเร่งรีบปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายหรือเปลี่ยนท่าทีตามแนวโน้มดอกเบี้ยในตลาดโลกแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าตลาดการเงินในเมืองไทยจะไม่ได้รับผลกระทบจากความผันผวนในตลาดสหรัฐฯ เสียทีเดียว โดยการส่งผ่านเรื่องของดอกเบี้ยที่สูงขึ้นและความผันผวนในตลาดการเงินเกิดขึ้นได้หลายช่องทาง ได้แก่

1. อัตราแลกเปลี่ยน

ปัจจัยพื้นฐานด้านเศรษฐกิจและตลาดการเงินที่มีส่วนต่อการกำหนดทิศทางของอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลักๆ ได้แก่ ส่วนต่างของดอกเบี้ย เงินเฟ้อ และภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งจะเห็นได้ว่าอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นของสหรัฐฯ และเศรษฐกิจที่อยู่ในวัฏจักรที่ขยายตัวได้ดีกว่าเมื่อเทียบกับศักยภาพ มีส่วนทำให้เงินดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินบาท โดยปัจจุบันค่าเงินบาทปรับทดสอบระดับ 34 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. และหากอ่อนค่าขึ้นไปอีกก็จะเป็นระดับที่อ่อนค่าที่สุดในรอบ 3 ปี ซึ่งหากแนวโน้มดอกเบี้ยสหรัฐฯ ยังคงปรับสูงขึ้นต่อเนื่องก็อาจสร้างแรงกดดันต่อเงินบาทเพิ่มขึ้นไปอีก 

ซึ่งเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่าก็จะส่งผลต่อกลุ่มธุรกิจที่ต้องค้าขายกับต่างประเทศ หรืออาจทำให้เกิดเงินทุนไหลออกจากแรงขายของนักลงทุนต่างประเทศ อย่างไรก็ตามค่าเงินบาทอ่อนค่าลงไม่มากนัก (-1.6% นับจากต้นปี ถึงสิ้นสุดวันที่ 24 เม.ย. 65) เมื่อเทียบกับเงินประเทศอื่นเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น (10.6%) วอนเกาหลีใต้ (-4.5%) หรือ ริงกิตมาเลเซีย (-3.9%) แต่โดยรวมก็บ่งบอกแนวโน้มการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ สรอ. ได้เป็นอย่างดี

อีกเรื่องหนึ่งจะเป็นเรื่องของต้นทุนการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (Hedging) ซึ่งดอกเบี้ยระยะสั้นของสหรัฐฯ ที่ปรับตัวขึ้นเร็วกว่าของไทยก็จะทำให้ผู้ส่งออกมีต้นทุนการทำ Hedging ที่เพิ่มมากขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้

2. อัตราดอกเบี้ย

ส่วนช่องทางของอัตราดอกเบี้ยนั้น แม้ดอกเบี้ยนโยบายของไทยมีแนวโน้มที่คงที่ตลอดปี 2565 เป็นอย่างน้อย แต่ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยก็ปรับตัวสูงขึ้นตามแนวโน้มของดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ทำให้เส้นผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยมีความชันเพิ่มขึ้นมาก โดยนับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 2 ปี และ 10 ปี ปรับตัวขึ้น 0.64% และ 0.94% ตามลำดับ (ข้อมูลจาก ThaiBMA ณ สิ้นวันที่ 24 เม.ย.) ซึ่งนับได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ค่อนข้างเร็ว เมื่อพิจารณาจากเศรษฐกิจไทยที่ยังอยู่ในช่วงการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป และยังมีความเสี่ยงอยู่จากผลกระทบของการแพร่ระบาด และเงินเฟ้อที่เริ่งตัวขึ้น โดยอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นและความผันผวนที่มากขึ้นก็จะส่งผ่านไปยังต้นทุนทางการเงินของภาคเอกชนผ่านช่องทางการกู้ยืมต่างๆ ในขณะที่การลงทุนในตลาดพันธบัตรก็อาจจะให้ผลตอบแทนที่ไม่ดีนักในนี้เนื่องจาก Yield ที่ปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว

3. ราคาหลักทรัพย์

ตลาดหลักทรัพย์ไทยหลักปรับตัวทำจุดสูงสุดของปีที่ 1,719.55 และเป็นระดับที่สูงที่สุดในรอบ 2 ปี หลังจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 เป็นต้นมา แต่ก็ค่อยๆ ปรับตัวลดลง จากภาพรวมที่มีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น แม้ในภาพรวมจะดูมีความหยืดหยุ่นและปรับตัวลดลงไม่มากเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศหลัก เช่น ดัชนี S&P500 และ NASDAQ Composite ของสหรัฐฯ ที่ปรับตัวลดลงนับตั้งแต่ต้นปี 8.3% และ 16.0% ตามลำดับ 

ในขณะที่ดัชนี SET ยังให้ผลตอบแทนเป็นบวกในปีนี้ แม้จะได้รับแรงสนับสนุนจากหุ้นกลุ่มพลังงาน แต่หากความความผันผวนในตลาดการเงินยังสูงเหมือนช่วงที่ผ่านมา ก็อาจทำให้มีแรงเทขายเกิดขึ้นได้เช่นกัน โดยปัจจัยหลักยังเป็นเรื่องของ ธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่ส่งสารการเร่งขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง รวมถึงเงินเฟ้อที่ยังคงเร่งตัวขึ้น ไม่นับว่าต้นทุนทางการเงินและดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นมีส่วนต่อการลดประมาณการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดโดยตรง และความเสี่ยงที่เศรษฐกิจชะลอตัวลงกว่าที่ผ่านมาก็มีไม่น้อย ซึ่งส่วนนี้ยังคงต้องอาศัยระยะเวลาก่อนจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่แน่ชัด

4. การคาดการณ์ต่างๆ (Expectation)

อีกผลกระทบหนึ่งคือเรื่องของการคาดการณ์ของแนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคต ซึ่งหากธนาคารกลางสหรัฐฯ ขึ้นดอกเบี้ยไม่เร็วพอที่ผู้เล่นในตลาดคาดไว้ ก็จะทำให้มุมมองเรื่องของแรงกดดันเงินเฟ้อกลับมาลดทอนความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ หรือ หากมองว่าความเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจถดถอยเพิ่มมากขึ้น ก็จะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัวลง และส่งผ่านมายังประเทศไทยในส่วนของการส่งออกและการลงทุนต่างๆ

ท้ายนี้ การเปลี่ยนแปลงของตลาดการเงินยังคงเกิดขึ้นตลอดเวลาจากปัจจัยพื้นฐานต่างๆ และการคาดการณ์ต่างๆ ของนักลงทุน ทำให้ตลาดไทยเองได้รับผลกระทบไปด้วย ซึ่งเน้นย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของการทำความเข้าใจเศรษฐกิจ แนวโน้มนโยบายการเงิน และภาวะตลาดการเงินต่างประเทศได้เป็นอย่างดี

หมายเหตุ บทวิเคราะห์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานต้นสังกัดแต่อย่างใด