ทัศนะมิติต่อการระบาดของโควิด | ธีระศักดิ์ พัชรวิภาส

ทัศนะมิติต่อการระบาดของโควิด | ธีระศักดิ์ พัชรวิภาส

การระบาดของโควิด-19 ยังเป็นปัญหาของระบบสาธารณสุขของทั้งโลก แม้ได้ระบาดกันมานานกว่าสองปีแล้วและมีการฉีดวัคซีนกันกว่า 70 % ของประชากรในหลาย ๆ ประเทศตามที่องค์การอนามัยโลกเสนอแต่แรก

หลายคนได้รับวัคซีนมากกว่าสามเข็ม แต่ก็ยังเข้าใจกันว่าติดเชื้อได้ ณ โอกาสนี้ผมจึงพยายามรวบรวมข้อสงสัยเกี่ยวกับการระบาดของโควิด ที่อ้างอิงจากบทความวิชาการที่กระจัดกระจายมารวบรวมเชื่อมต่อ เพื่อสร้างแนวคิดในอีกมุมมอง ด้วยคำถาม-ตอบ

ถาม: ทำไมผู้ติดเชื้อโควิดมีอาการแตกต่างกัน
     ผมเคยเสนอแนวคิดเพื่ออธิบายว่า การได้รับเชื้อโควิดไม่ได้หมายความว่าบุคคลนั้นติดเชื้อเสมอไป  เนื่องจากความแตกต่างทางพันธุกรรมของแต่ละคนทั้งทาง "ด้านการติดเชื้อ” และ "ภูมิคุ้มกัน” 

ต้องเข้าใจว่าเชื้อไวรัสจะติดต่อเพิ่มจำนวนได้ก็ต้องเข้าไปภายในเซลล์เป้าหมายที่เหมาะสมต่อไวรัสชนิดนั้น ๆ (รวมทั้งโควิด) โดยเซลล์เป้าหมายต้องมีสารที่เหมาะสม (ที่ผิวเซลล์) ให้เชื้อเข้าจับเพื่อเข้าไปเพิ่มจำนวนในเซลล์ 

จากการศึกษาวิจัยพบว่า สารบนผิวเซลล์ของคนเราแต่ละคนมีความหลากหลายแตกต่างกัน คนที่มีสารบนผิวเซลล์แบบที่เหมาะต่อการจับของไวรัสจึงจะติดเชื้อจริง ถ้าสารดังกล่าวของคน ๆ นั้นไม่เหมาะถึงได้รับเชื้อก็ไม่เกิดการติดเชื้อจริงซึ่งคนกลุ่มนี้อาจมีประมาณ 70-85% แล้วแต่กลุ่มประชากร 

ถาม:  แล้วคนที่ตรวจพบเชื้อแต่ไม่ติดเชื้อจริง  ก็ไม่ควรมีอาการอะไรเลย... ใช่หรือไม่
     อันนี้ขอยกตัวอย่างกรณีคนที่แพ้สารหรือเรียกกันว่าภูมิแพ้  เมื่อคนเหล่านี้ได้รับสารแปลกปลอมบางชนิด ระบบภูมิคุ้มกันของคน ๆ นั้นจะตอบสนองต่อสารที่แพ้ เชื้อโควิดที่เข้าไปในร่างกาย (แต่ไม่เข้าเซลล์) 

ก็อุปมาคล้ายสารที่แพ้ สามารถกระตุ้นให้เกิดการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันได้และทำให้เกิดอาการได้ แต่จะอยู่ในระดับที่จำกัด เพราะไม่มีการเพิ่มจำนวนของเชื้อซึ่งต่างจากคนที่ติดเชื้อจริงซึ่งจะมีเชื้อโควิดเพิ่มขี้นอย่างมากแล้วกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้มีการตอบสนองได้อย่างต่อเนื่องจึงเป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการรุนแรงมากขึ้น 

ทั้งนี้ ต้องเข้าใจว่าอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ นี้เกิดจากการตอบสนองของภูมิคุ้มกัน (ไม่ได้เกิดจากเชื้อโดยตรง) ดังนั้น ในคนที่ไม่ติดเชื้อจริงแต่ได้สัมผัสเชื้อก็มีการอาการได้แต่มักเป็นอาการเล็กน้อย ยกเว้นในกลุ่ม 608 ซึ่งอาจอาการมากขี้นกว่าปกติ

ถาม: ถ้าภูมิคุ้มกันเป็นสาเหตุของอาการต่าง ๆ ก็หมายความว่าการมีภูมิคุ้มกันเป็นสิ่งที่เกิดโทษต่อร่างกาย
     ระบบภูมิคุ้มกันมีหลายแบบ (ซึ่งมีรายละเอียดมาก) แบบที่ทำให้เกิดอาการต่าง ๆ จากสารแปลกปลอมหรือเชื้อโควิดก็เป็นแบบหนึ่ง อย่างไรก็ตามมีภูมิคุ้มกันแบบหนึ่งที่เรียกว่า “เซลล์นักฆ่า” (จะสร้างขึ้นมาภายในเวลา 1-2 สัปดาห์) ซึ่งสามารถถูกสร้างขึ้นมาได้หากคน ๆ นั้นมี “พันธุกรรมทางภูมิคุ้มกัน” ที่เหมาะสม 

ทัศนะมิติต่อการระบาดของโควิด | ธีระศักดิ์ พัชรวิภาส

ต้องเข้าใจว่าเราแต่ละคนจะสร้างเซลล์นักฆ่าได้ต่างกัน ถ้าสมมติว่าเชื้อโควิดมีอวัยวะหลายอย่าง คนที่สร้าง “เซลล์นักฆ่าต่อหัวใจของโควิด” ได้ก็จะกำจัดได้หมด แต่หากสร้างได้ต่อส่วนอื่น ๆ ของเชื้อโควิดก็อาจไม่สามารถทำลายโควิดได้อย่างสิ้นซาก อาจยังคงมีหลงเหลืออยู่หรือใช้เวลานาน หรืออาจไม่สามารถกำจัดเชื้อได้เลย

ถาม: แล้วทำไมฉีดวัคซีนตั้งหลายเข็มยังติดเชื้อ
     เนื่องจากวัคซีนทำให้เกิดเซลล์จดจำ (memory B cell) สามารถสร้างแอนติบอดีขึ้นมาปิดกั้นไม่ให้เชื้อเข้าจับกับโมเลกุลติดเชื้อโควิดที่อยู่บนผิวเซลล์เป้าหมายได้ (โดยเฉพาะคนที่มีโอกาสติดเชื้อจริง) 

อย่างที่ได้กล่าวแล้ว การพบเชื้อหรือรับเชื้อไม่ได้หมายความว่าคน ๆ นั้นติดเชื้อเสมอไป คนที่ได้รับวัคซีนและมีการสร้างภูมิคุ้มกันแล้ว เมื่อได้รับเชื้อก็ยังมีอาการได้จากการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันตามที่กล่าว แต่มักไม่มีอาการรุนแรง

 การตรวจพบเชื้อในคนที่ฉีดวัคซีนจึงไม่ควรถูกเหมารวมว่าเป็นการติดเชื้อเพราะต้องเข้าใจว่าเชื้อโควิดมีคุณสมบัติเกาะติดตามสภาวะต่าง ๆ ได้เป็นเวลานาน  การพบเชื้อที่โพรงจมูกหรือช่องปากไม่ได้หมายความว่าเชื้อเข้าไปในระบบทางเดินหายใจแล้วเสมอไป

ทัศนะมิติต่อการระบาดของโควิด | ธีระศักดิ์ พัชรวิภาส

ถาม: แต่ก็มีบางคนที่ฉีดวัคซีนครบ แล้วมีอาการรุนแรงจนถึงเสียชีวิต
     ทั้งนี้ เนื่องจากพันธุกรรมทางภูมิคุ้มกันของคน ๆ นั้น ไม่สามารถสร้างเซลล์จดจำและไม่สามารถสร้าง “ทีเซลล์” ที่เหมาะสมในการกำจัดเชื้อโควิดได้ ประกอบกับยังขาดยาที่สามารถกำจัดเชื้อโควิดได้อย่างมีประสิทธิภาพจริง 

ถาม: หมายความยารักษาโควิด ได้ผลหรือไม่
     การทดสอบประสิทธิภาพของยาต้องมีการศึกษาที่รอบคอบ ต้องเลือกตัวอย่างจากกลุ่มที่ติดเชื้อจริงซึ่งน่าจะมีไม่เกิน 3% ของประชากร การใช้ตัวอย่างโดยเหมารวมคนที่ตรวจพบเชื้อแต่ไม่ติดเชื้อจริง (ประมาณ 70-85%) น่าจะเป็นเหตุทำให้การแปลผลประสิทธิภาพของยาชนิดนั้น ๆ ผิดพลาดได้ 

การเลือกตัวอย่างที่นำมาศึกษาจึงควรตรวจหาปริมาณของเชื้อร่วมกับระดับค่าสารไซโตไคน์บางชนิดจากการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันด้วย ซึ่งหากมีระดับสูงมาก ๆ ก็จะเป็นการยืนยันได้มากขึ้นว่าตัวอย่างที่ศึกษามีการติดเชื้อจริง 

ถาม: เราควรคอยฉีดวัคซีนเพื่อรักษาระดับแอนติบอดีไหม
     จริง ๆ แล้วการฉีดวัคซีนควรมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดเซลล์จดจำเป็นสำคัญ เมื่อร่างกายมีเซลล์จดจำก็จะสร้างแอนติบอดีขึ้นมาได้ทันเพื่อปิดกั้นไม่ให้เชื้อเข้าจับกับโมเลกุลติดเชื้อโควิดที่อยู่บนผิวเซลล์เป้าหมาย ทำให้ไม่มีการเพิ่มจำนวนเชื้อ โดยเซลล์จดจำจะอยู่ได้นานเป็นปีๆ 

อย่างไรก็ตามการที่เราจะสร้างเซลล์จดจำหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับ“พันธุกรรมทางภูมิคุ้มกัน” ของคนๆนั้น ปัญหาตอนนี้คือมีการฉีดวัคซีนกันไปเรื่อย ๆ โดยไม่ให้ความสำคัญต่อการตรวจสอบการตอบสนองทางภูมิคุ้มกัน 

ทำให้คนที่ “พันธุกรรมทางภูมิคุ้มกัน” ไม่สามารถสร้างเซลล์จดจำ และ “เซลล์นักฆ่าที่ตรงเป้าหมาย” (หัวใจของเชื้อโควิด) ก็สูญเสียโอกาสในการรักษาที่เหมาะสม (แม้ว่าจะคิดว่ามีเพียง 0.2-2% ของผู้รับเชื้อก็ตาม)

ถาม: แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าฉีดวัคซีนแล้วมีเซลล์จดจำ
    อันนี้เป็นเรื่องยากแต่ไม่ได้หมายความว่าเป็นไปไม่ได้ถ้าเราเข้าใจและมีแนวทางศึกษากันต่อไปอย่างชัดเจน แต่ในเบื้องต้นอาจตรวจว่ามีการสร้างแอนติบอดีแบบ IgG หรือไม่  โดยเฉพาะหากตรวจพบ IgA ด้วยก็จะยิ่งช่วยได้มากขึ้น การตรวจพบ IgM เพียงอย่างเดียวโดยไม่มีการสร้าง IgG น่าจะแสดงว่าไม่มีการสร้างเซลล์จดจำ 

ทัศนะมิติต่อการระบาดของโควิด | ธีระศักดิ์ พัชรวิภาส

ถาม: สรุปแล้วแล้วเราควรทำอย่างไรต่อไป 
    กำหนดนโยบายเปิดประเทศอย่างมีทิศทาง ทำให้เกิดความเข้าใจร่วมกันว่าการตรวจพบเชื้อไม่ได้หมายความว่าติดเชื้อเสมอไป มีแนวทางที่สมดุลและเหมาะสมกับการใช้ชีวิตท่ามกลางการระบาดของโควิด  การฉีดวัคซีนที่มีมากพอแล้วจะช่วยป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับระบบสาธารณสุขของประเทศ (และโลก) 

อย่างไรก็ตามก็ควรมีมาตรการที่เหมาะสมในการดูแล “ผู้ที่ติดเชื้อจริงและไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้” ซึ่ง (ในกรณีโควิด) น่าจะมีอยู่ประมาณ 0.2-2%  

กรณีนโยบายโควิดเป็นศูนย์ไม่น่าเป็นไปได้ในบริบทที่เป็นอยู่ในโลกปัจจุบันที่จำเป็นต้องมีการเดินหน้าของระบบเศรษฐกิจและสังคม และควรเตรียมใจกับการระบาดของไวรัสอื่น ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นใหม่ได้เสมอในอนาคต

โดยเฉพาะการระบาดที่มีการติดต่อทางระบบทางเดินหายใจ ซึ่งทำให้เกิดการติดต่อได้ง่ายกว่าระบบอื่น ๆ และที่สำคัญควรทำการศึกษาให้เกิดองค์ความรู้อย่างแท้จริงและสร้างความเข้าใจอย่างเป็นระบบให้ได้.