ข้าวเหนียวมะม่วงของมิลลิ ผลประโยชน์ของ Soft Power

ข้าวเหนียวมะม่วงของมิลลิ  ผลประโยชน์ของ Soft Power

ปฏิเสธไม่ได้ว่า กระแสความดังของ “มิลลิ” ศิลปินไทยบนเวทีโคเชลลา เทศกาลดนตรีระดับโลกที่รัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐนั้น ส่งแรงกระเพื่อมอย่างแรงข้ามทวีป

หากมองอย่างผิวเผินตื้นเขินที่สุดโดยไม่วิเคราะห์เนื้อหาอื่นๆ การโชว์ทานข้าวเหนียวมะม่วงกลางเวทีในเทศกาลดนตรีระดับโลกที่มีคนดูเรือนแสนไม่นับรวมผู้ชมทางบ้านอีกนับไม่ได้ถือได้ว่าเป็น soft power ในการช่วยโปรโมตของหวานสุดโปรดสุดยอดขายดีที่แทบทุกร้านอาหารไทยในสหรัฐนำเสนอ เช่นเดียวกับเมนูอย่างต้มยำกุ้งและผัดไทย

การแสดงท่ีมีการทานข้าวเหนียวมะม่วงนี้เองทำให้คนต่างชาติที่ไม่รู้จักอาหารทานเล่นประเภทนี้มีความสนใจใคร่รู้หรือถึงกับไปสรรหามาลองทาน เช่นเดียวกับคนไทยทั้งในและต่างประเทศที่ต่างก็โปรดปรานเมนูนี้อยู่แต่เป็นทุนเดิม ต่างไปสรรหามาทานให้หายอยาก ประจวบเหมาะกับเป็นฤดูมะม่วงพอดิบพอดี ทำให้พ่อค้าแม่ขายก็พลอยได้อานิสงส์ในครั้งนี้ไปด้วย

เช่นเดียวกับปรากฏการณ์มิวสิควีดีโอของ “ลิซ่า BLACKPINK” ที่ใส่ชฎาเต้นจนเป็นที่สนใจของคนทั่วโลกจนเป็นสปริงบอร์ดเพิ่มความดังของลิซ่า ที่ในปัจจุบันไม่ว่าจะหยิบจับอะไรก็เป็นกระแสเป็นเงินเป็นทองไปเสียหมด

ยกตัวอย่างเช่น เทศกาลลูกชิ้นยืนกินของบุรีรัมย์ หรือร้านหมูกระทะที่ลิซ่าไปทานก็กลายเป็นกระแสดึงคนดูดเม็ดเงินให้แก่บุรีรัมย์ท้องถิ่นบ้านเกิดของลิซ่าอย่างมาก และทั้งหมดก็ถือเป็นหนึ่งในตัวอย่างของผลประโยชน์จาก soft power ที่ใกล้ตัวที่สุด

อีกตัวอย่างผลประโยชน์ของ soft power ที่ชัดเจนคือกรณีของ “จา พนม” พระเอกนักบู๊จากจังหวัดสุรินทร์ ในหนังที่ดังระดับโลกอย่างองค์บาก และต้มยำกุ้ง ซึ่งทำให้ศิลปะการต่อสู้มวยไทยเป็นที่รู้จักและนิยมทั่วโลก เรียกได้ว่า มวยไทยถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมหลักๆ ที่นักท่องเที่ยวต่างชาติเวลามาไทยมักจะเลือกทำนอกเหนือจากการท่องเที่ยวแบบดั้งเดิม ทำให้เกิดธุรกิจค่ายมวยสำหรับนักท่องเที่ยว และหรือเกิดเป็นคลาสสอนทั้งในไทยและต่างประเทศมากมาย

จริงๆ สามารถพูดได้ว่า “คนไทยเรา”นั้นมีความฉลาดในการจัดการ soft power ได้อย่างดีตั้งแต่สมัยโบราณ ซึ่งตัวชี้วัดก็คือชื่อเสียงในระดับโลกและจำนวนนักท่องเที่ยวจำนวนกว่า 40 ล้านคนต่อไป จนได้ชื่อว่าเป็นที่หนึ่งในใจของนักท่องเที่ยวทั่วโลก

คนไทยทำการตลาดเก่งตั้งแต่สมัยโบราณ ตั้งแต่ยุคปู่ยุคทวดแล้วที่คนทั่วโลกทราบว่าประเทศไทยหรือสยามนั้นเป็นดินแดนอันห่างไกลทางตะวันออกที่มีความสวยงาม มีประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ตรึงใจ เป็นดินแดนโพ้นทะเลที่น่าค้นหาน่ารู้จัก อย่างที่ถูกฉายภาพในหนังและละครเวทีอย่าง Anna and the King

แต่ยังมีประเทศที่มีความฉลาดในการจัดการ soft power ได้มากกว่าไทยที่เราสมควรศึกษาและนำมาต่อยอดความคิดเพื่อพัฒนา อาทิ สหรัฐที่ส่งออกวัฒนธรรมฮอลลีวูด และกอบโกยรายได้จากการท่องเที่ยว การศึกษา อาหารและสินค้าต่างๆ อาทิ McDonald's และ KFC หรืออย่างอังกฤษที่ขายความเป็นเจ้าของภาษาอังกฤษแท้ดั้งเดิม วัฒนธรรม และการศึกษาที่มีมาตรฐานผู้ดี

เช่นเดียวกับญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ที่ได้ผลประโยชน์จากความนิยมชมชอบในหนังละครและเพลงจนทำให้สินค้าในทุกประเภทตั้งแต่รถยนต์ เครื่องสำอาง ยันอาหาร และการท่องเที่ยวนั้นเป็นที่นิยมของคนทั่วโลก

จะเห็นได้ว่าการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ของ soft power นั้นมีหลายมิติ ทั้งในรูปแบบของสินค้าและบริการ หากจะยกตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด เช่น กระแสวัฒนธรรม K-pop ของเกาหลีที่สร้างรายได้เพิ่ม GDP ให้เกาหลีกว่า 5,000 ล้านดอลลาร์ และกระแสนี้ก็ยังมีการเติบโตขึ้นไปเรื่อยๆ เฉลี่ย 8-9% ต่อไป

ผลประโยชน์จาก soft power ในประเทศชั้นนำเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญหรือเกิดขึ้นในชั่วข้ามคืน แต่เกิดจากการวางแผนและนโยบายที่ชาญฉลาด ภายใต้ความร่วมมือระหว่างรัฐ เอกชนและสังคมที่สนับสนุนส่งเสริมเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน