กฎหมายควบคุมการรีวิวสินค้าที่เป็นธรรมและสุจริต | สุรินรัตน์ แก้วทอง

กฎหมายควบคุมการรีวิวสินค้าที่เป็นธรรมและสุจริต | สุรินรัตน์ แก้วทอง

เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นหนึ่งในสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน แต่เสรีภาพดังกล่าวจะต้องถูกใช้ภายใต้ข้อจำกัดของกฎหมาย

หนึ่งในปัญหาในปัจจุบันที่นำไปสู่การฟ้องร้องคดีมาอย่างต่อเนื่อง คือ การฟ้องร้องในคดีหมิ่นประมาทและการเรียกค่าเสียหายในมูลละเมิดจากการรีวิวสินค้าและบริการ ที่มีข้อโต้แย้งระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบการการว่า เป็นการรีวิวเท็จหรือเป็นการรีวิวที่ไม่เป็นธรรมและไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง

ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมามีการฟ้องร้องคดีเกี่ยวกับการรีวิวสินค้าและบริการขึ้นสู่ศาลเป็นคดีแพ่งและคดีอาญาเป็นจำนวนมาก หากมองในแง่มุมของผู้ให้บริการ ภาพลักษณ์และการแสดงความคิดเห็นต่าง ๆ มีผลต่อยอดขายและผู้ที่จะเข้ามาใช้สินค้าและบริการ

เนื่องจากในโลกยุคปัจจุบันรีวิวจากผู้รับบริการ ถือเป็นการตลาดที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจของผู้ให้บริการ และในขณะเดียวกันผู้บริโภคย่อมมีสิทธิในการแสดงความคิดเห็นเพื่อสะท้อนมุมมองจากผู้รับบริการ 

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันการรีวิวมีหลากหลายรูปแบบ มีทั้งการรีวิวด้วยข้อมูลตามความเป็นจริง รีวิวตามความชอบส่วนบุคคล การรีวิวด้วยอคติ รีวิวเพื่อให้มีการปรับปรุงคุณภาพบริการ การรีวิวเพื่อชื่นชมผู้ให้บริการ 

หรือแม้กระทั่งการว่าจ้างรีวิวเพื่อทำลายชื่อเสียงทางการค้าของคู่แข่ง หรือการว่าจ้างรีวิวที่เป็นการชื่นชม หรือโฆษณาเกินสมควรต่อสินค้าหรือบริการของตนเอง 

เมื่อพิจารณาตามบริบทของกฎหมายไทยจะเห็นได้ว่าประเทศไทยยังขาดกฎหมายที่ใช้บังคับโดยเฉพาะเจาะจงกับการรีวิวสินค้าและบริการที่เป็นธรรม ทั้ง ๆ ที่ชื่อเสียงทางการค้าและบริการที่ควรได้รับการปกป้องจากการรีวิว 

นอกจากนี้ ประเทศไทยควรมีรูปแบบมาตรฐานในการกำหนดแนวทางในการรีวิวให้มีความสุจริตและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และไม่นำการรีวิวมาเป็นเครื่องมือทางธุรกิจในทางที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือทำให้การรีวิวกลายเป็นการทำลายชื่อเสียงทางการค้าของบุคคลอื่นโดยไม่เป็นธรรม 

การรีวิวเป็นการรีวิวที่สอดคล้องกับความเป็นจริงซึ่งจะทำให้รีวิวกลายเป็นส่วนหนึ่งของการแนะนำเพื่อการพัฒนาสินค้าและบริการของผู้ผลิตและผู้ประกอบการได้อย่างแท้จริง

สิทธิในการรีวิวของผู้บริโภคนั้นเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาว่ากล่าวถกเถียงกันในสภาของประเทศสหรัฐอเมริกา และนำไปสู่การออกกฎหมายฉบับหนึ่งขึ้นมาใช้บังคับ คือ พระราชบัญญัติการรีวิวด้วยความเป็นธรรมของผู้บริโภคปีพุทธศักราช 2559 (Customer Fairness Review Act 2016) ทั้งนี้หัวใจและสาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ คือ การวางกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการรีวิวสินค้าและบริการด้วยความเป็นธรรม 

กฎหมายดังกล่าวได้กำหนดขอบเขตและรูปแบบที่ผู้บริโภคจะสามารถแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสินค้าและบริการให้มีความเป็นธรรมและสอดคล้องกับความเป็นจริง และวางกำหนดกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการใช้สิทธิในการฟ้องร้องผู้บริโภคหากเป็นการรีวิวเชิงลบ 

หรือหากเป็นกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจว่าจ้างรีวิวหรือดำเนินการให้มีการรีวิวที่มีลักษณะเป็นเท็จเพื่อหลอกลวงผู้บริโภคจะมีความผิดตามกฎหมายและมีบทลงโทษโดยเฉพาะ รวมถึงในกรณีที่เป็นผู้ประกอบอาชีพรับจ้างรีวิวหากเป็นการรีวิวสินค้าและบริการเกินจากที่เป็นจริงและมีลักษณะเข้าข่ายหลอกลวงผู้บริโภคจะมีความผิดตามกฎหมาย 

การมีกฎหมายขึ้นโดยเฉพาะสำหรับการรีวิวที่เป็นธรรมดังกล่าวของประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นการบ่งชี้ให้เห็นว่าการรีวิวเป็นสิ่งที่มีบทบาทสำคัญในตลาดสินค้าและบริการ ที่รัฐจะต้องเข้าควบคุมให้เกิดความเหมาะสมและไม่ให้เกิดความสับสนหลงผิดหรือสร้างมาตรฐานที่ไม่ถูกต้องในตลาดการค้าและบริการ

ในขณะที่ในปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีบทบัญญัติเฉพาะที่เข้ามาควบคุมดูแลการรีวิวสินค้าและบริการ ทำให้มีการรีวิวในลักษณะที่ไม่เป็นธรรมและไม่สุจริตอยู่เป็นจำนวนมาก

แม้กระทั่งการว่าจ้างให้ผู้มีชื่อเสียงเข้ามารีวิวสินค้าและบริการ ซึ่งไม่ตรงกับความเป็นจริงและเข้าข่ายการหลอกลวงผู้บริโภค หรือผู้บริโภคมีการรีวิวโดยไม่สุจริตและมีอคติในสินค้าและบริการ มีการว่าจ้างรีวิวเพื่อทำลายคู่แข่งทางการค้าโดยที่ไม่มีบทบัญญัติกฎหมายที่เข้ามาควบคุมดูแลการรีวิวให้สุจริตและเป็นธรรม 

กฎหมายที่ควบคุมการรีวิวในประเทศไทยในปัจจุบันมีเพียงแค่บทบัญญัติกฎหมายทั่วไป คือ ความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา หรือการฟ้องหมิ่นประมาททางแพ่งในมูลละเมิดเท่านั้น ทำให้การกำหนดกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการรีวิวสินค้าและบริการของประเทศไทยยังไม่มีมาตรฐานเท่าที่ควร 

ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทยควรมีการบัญญัติกฎหมายหรือกฎเกณฑ์เฉพาะขึ้นมาเพื่อควบคุมการรีวิวสินค้าและบริการให้เป็นรูปธรรมทั้งในลักษณะของรูปแบบของการรีวิวและบทกำหนดโทษสำหรับการรีวิวที่เป็นเท็จหรือการรีวิวสินค้าและบริการที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง 

การมีกฎหมายในกรณีนี้จะทำให้การรีวิวสินค้าและบริการเป็นการรีวิวสินค้าเพื่อให้มีการปรับปรุงแก้ไขคุณภาพของสินค้าและบริการอย่างแท้จริงและไม่มีการนำการรีวิวสินค้ามาเป็นเครื่องมือทางการตลาดที่เป็นการหลอกลวงผู้บริโภค 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกยุคปัจจุบันที่ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงสื่อสังคมออนไลน์ได้อย่างกว้างขวางและสามารถนำสื่อสังคมออนไลน์เหล่านั้นมาใช้เป็นเครื่องมือในการแสดงความคิดเห็นในประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับสินค้าและบริการได้อย่างหลากหลาย

ทำให้การรีวิวสินค้าและบริการมีความสุจริตและเป็นธรรมมากที่สุดกับทุกฝ่ายและเป็นประโยชน์สูงสุดกับระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย. 
คอลัมน์ กฎหมาย 4.0
ผศ.สุรินรัตน์ แก้วทอง
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์