ผลศึกษาชี้ชัด หยุดฟาร์มอุตสาหกรรม ช่วยลดภาวะ"โลกร้อน"

ผลศึกษาชี้ชัด หยุดฟาร์มอุตสาหกรรม  ช่วยลดภาวะ"โลกร้อน"

แต่ละปีสัตว์ประมาณ 80 ล้านตัวทั่วโลกถูกนำมาเลี้ยงในฟาร์มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ซึ่งมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม นำไปสู่ภาวะโลกร้อนได้

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก World Animal Protection เผยผลการศึกษาล่าสุด พบทั่วโลกมีแนวโน้มการบริโภคเนื้อหมูและเนื้อไก่เพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสภาพภูมิอากาศ เรียกร้องรัฐบาลออกมาตรการเร่งด่วน เพื่อบรรลุเป้าหมายตามข้อตกลงปารีส แนะแนวทางสร้างการมีส่วนร่วมลดปัญหา “โลกร้อน” (Climate Change)

โชคดี สมิทธิ์กิตติผล ผู้จัดการแคมเปญระบบอาหาร องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก เปิดเผยว่า องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ได้จัดทำรายงานเรื่อง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความโหดร้ายทารุณ : เผยผลกระทบที่เกิดขึ้นจริงจากฟาร์มอุตสาหกรรม (Climate Change and Cruelty: Revealing the True Impact of Factory Farming) ถือเป็นครั้งแรกที่มีการประเมินผลกระทบเชิงบวกต่อสภาพภูมิอากาศของโลก

ผลกระทบจากฟาร์มอุตสาหกรรม

จากการลดการบริโภคเนื้อไก่และเนื้อหมู ควบคู่กับการยุติความโหดร้ายทารุณในฟาร์มอุตสาหกรรม ซึ่งการศึกษาครั้งนี้ เกิดจากการคาดการณ์ว่า การทำฟาร์มอุตสาหกรรมจะเติบโตขึ้น จากความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั่วโลก

ผลจากการศึกษาพบว่า ในแต่ละปี สัตว์ประมาณ 80 ล้านตัวทั่วโลก จะถูกนำมาเลี้ยงในฟาร์ม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นฟาร์มอุตสาหกรรมที่ทารุณโหดร้าย เมื่อวิเคราะห์ถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

ผลศึกษาชี้ชัด หยุดฟาร์มอุตสาหกรรม  ช่วยลดภาวะ\"โลกร้อน\" ภาพ : Fotokostic/Shutterstock
 

จากกรณีตัวอย่างของฟาร์มผลิตเนื้อไก่และเนื้อหมู ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก 4 ประเทศ ได้แก่ เนเธอร์แลนด์ สหรัฐฯ บราซิล และจีน เน้นเฉพาะการผลิตเนื้อไก่เพียงอย่างเดียว

พบว่ามีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณสูงมาก เทียบเท่ากับปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยจากรถยนต์ 29 ล้านคันในช่วงระยะเวลา 1 ปี จากเหตุผลดังกล่าวจำเป็นจะต้องควบคุมการขยายตัวของฟาร์มอุตสาหกรรม

ทำลายป่าปลูกพืชอาหารสัตว์

ผลการศึกษายังพบอีกว่า การประเมินฟาร์มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ใน 4 จุดสำคัญของโลกข้างต้น ยังมีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้

บริเวณพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญได้ถูกถากถางเพื่อปลูกพืชแล้วนำมาแปรรูปเป็นอาหารสัตว์ในฟาร์ม ก่อนส่งสู่ปลายทางคือตลาดเนื้อสัตว์ทั่วโลก สายการผลิตนี้เป็นปัจจัยหลักของการปล่อยก๊าซคาร์บอน สู่ชั้นบรรยากาศ และยังทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า 

ยกตัวอย่างการทำลายป่าเพื่อปลูกพืชอาหารสัตว์ในบราซิล หากประเมินเฉพาะผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการผลิตอาหารสัตว์ที่นิยมคือ ถั่วเหลือง เพื่อป้อนฟาร์มเลี้ยงไก่เนื้อ พบว่าได้ส่งผลเสียต่อสภาพภูมิอากาศเพิ่มขึ้นเป็นปริมาณ 2 เท่าในเนเธอร์แลนด์ และ 1.5 เท่าในจีน

มีการประเมินว่า หากลดการบริโภคเนื้อไก่และเนื้อหมูจากฟาร์มอุตสาหกรรมใน 4 จุดสำคัญของโลกข้างต้น ให้เหลือร้อยละ 50 ควบคู่กับการใช้ผลิตภัณฑ์จากฟาร์มที่มีสวัสดิภาพสัตว์สูงขึ้นร้อยละ 50 ภายในปี พ.ศ.2583 จะลดผลกระทบที่จะมีต่อสภาพภูมิอากาศได้ถึงครึ่งหนึ่งต่อปี เทียบเท่ากับการนำรถยนต์ออกไปจากท้องถนนถึง 45 ล้านคัน ภายใน 1 ปี

“หลายคนไม่ทราบว่า สาเหตุหนึ่งที่สำคัญของการเกิดภาวะโลกร้อน แท้จริงแล้วซ่อนอยู่ในจานอาหารของเรา นั่นคือเนื้อสัตว์จากฟาร์มอุตสาหกรรม ประเทศไทยเป็นที่ตั้งของฟาร์มอุตสาหกรรมจำนวนมาก

ผลศึกษาชี้ชัด หยุดฟาร์มอุตสาหกรรม  ช่วยลดภาวะ\"โลกร้อน\" ภาพ :iStock.com/fotokostic

เรียกร้องให้ลดการตัดไม้

ดังนั้น ในฐานะประเทศต้นทาง เราไม่สามารถปฏิเสธผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในไทยได้เลย ด้วยเหตุนี้ องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยและรัฐบาลทั่วโลก เร่งดำเนินการตามข้อตกลงปารีส ลดการตัดไม้ทำลายป่า

และการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เริ่มจากหยุดการเกิดใหม่ของฟาร์มอุตสาหกรรม เราเหลือเวลาเพียงน้อยนิดที่จะรักษาโลกของเราไว้ได้ ภาครัฐต้อจริงจังและ เริ่มจัดการปัญหานี้อย่างเร่งด่วน” นายโชคดี กล่าว

ทั้งนี้ องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกเรียกร้องให้ : รัฐบาลต้องยับยั้งการสร้างฟาร์มอุตสาหกรรมใหม่ภายในระยะเวลา 10 ปีข้างหน้านี้

รวมทั้งมีนโยบายและสนับสนุนทางการเงินเพื่อเสริมสร้างระบบอาหารที่มีมนุษยธรรมและมีความยั่งยืน, ภาคอุตสาหกรรมต้องเปลี่ยนไปสู่ระบบอาหารที่มีมนุษยธรรมและมีความยั่งยืน

โดยพัฒนาสวัสดิภาพสัตว์ตามมาตรฐานขั้นต่ำด้านสวัสดิภาพสัตว์ฟาร์ม (FARMS) ลดสัดส่วนการผลิตโปรตีนจากเนื้อสัตว์ลงร้อยละ 50 ภายในปี พ.ศ.2583

รวมถึงยุติการนำพืชเชิงเดี่ยว เช่น ถั่วเหลือง มาใช้เป็นอาหารสัตว์ในฟาร์ม, ผู้บริโภคควรบริโภคเนื้อสัตว์น้อยลง และเลือกบริโภคเฉพาะเนื้อสัตว์ที่มาจากการเลี้ยงอย่างมีสวัสดิภาพ (Eat Less and Better)

เพิ่มเติมอ่านได้ที่ https://www.worldanimalprotection.or.th/climate-change-and-cruelty