'กรมทางหลวง' จ่อเปิด PPP ปีหน้า ลุยมอเตอร์เวย์ 2 สาย ลงทุนกว่า 8.7 หมื่นล้าน

“กรมทางหลวง” เตรียมเดินหน้า 2 โครงการมอเตอร์เวย์ M5 – M9 ดึงเอกชนร่วมลงทุน PPP ปีหน้า วงเงินกว่า 87,000 ล้านบาท พร้อมลงนามข้อตกลงคุณธรรม ตรวจสอบได้ทุกขั้นตอนประมูล
นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ทล.เตรียมเดินหน้าเปิดประมูลโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 5 (M5) ช่วงรังสิต – บางปะอิน และโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 (M9) ช่วงบางขุนเทียน – บางบัวทอง วงเงินลงทุนรวม 2 โครงการกว่า 87,393 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างจัดเตรียมเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (RFP) คาดจะสามารถประกาศเชิญชวนเอกชนได้ในปี 2569 ซึ่งจะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP โดยศึกษาความเหมาะสมแต่ละโครงการ แบ่งเป็น
โครงการ M5 (ช่วงรังสิต – บางปะอิน) วงเงินลงทุนประมาณ 31,358 ล้านบาท จะดำเนินการในรูปแบบ PPP Gross Cost เอกชนเป็นผู้ลงทุนก่อสร้าง ดำเนินงาน และบำรุงรักษาโครงการ รัฐเป็นเจ้าของรายได้ค่าผ่านทางทั้งหมด และจ่ายค่าตอบแทนให้เอกชนตามผลการดำเนินงาน (Performance-Based Payment) โดยมีระยะเวลาดำเนินโครงการไม่เกิน 34 ปี แบ่งเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 การออกแบบและก่อสร้าง (ไม่เกิน 4 ปี) และระยะที่ 2 การดำเนินงานและบำรุงรักษา (30 ปี)
ส่วน โครงการ M9 (ช่วงบางขุนเทียน – บางบัวทอง) วงเงินลงทุนประมาณ 56,035 ล้านบาท จะดำเนินการในรูปแบบ PPP Net Cost โดยเอกชนเป็นผู้ลงทุนก่อสร้าง ดำเนินงาน และบำรุงรักษา พร้อมมีสิทธิในการจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทาง ขณะที่รัฐยังคงถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เอกชนลงทุน ระยะเวลาดำเนินโครงการรวม 34 ปี แบ่งเป็น ระยะที่ 1 การออกแบบและก่อสร้าง (4 ปี) และระยะที่ 2 การดำเนินงานและบำรุงรักษา (30 ปี)
อย่างไรก็ดี ทล.ได้ประเมินผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ พบว่าทั้งสองโครงการคาดว่าจะสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจทั้งทางตรง และทางอ้อมไม่ต่ำกว่า 300,000 ล้านบาท แบ่งเป็น โครงการ M5 คาดว่าจะสร้างมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) ประมาณ 7,928 ล้านบาท และก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจรวมกว่า 120,000 ล้านบาท และโครงการ M9 คาดว่าจะสร้างมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) ประมาณ 18,069 ล้านบาท และก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจรวมกว่า 200,000 ล้านบาท
นายอภิรัฐ กล่าวด้วยว่า กรมทางหลวง ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองให้มีมาตรฐานระดับสากล พร้อมดำเนินการอย่างสุจริต โปร่งใส และตรวจสอบได้ เพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดให้แก่ประเทศ ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐาน การจ้างงาน การลงทุน และการยกระดับระบบโลจิสติกส์ของไทยสู่ความยั่งยืนในระยะยาว
ทั้งนี้ เพื่อดำเนินโครงการอย่างมีประสิทธิภาพ ทล.ได้ลงนามข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) สำหรับโครงการ M5 และ M9 ร่วมกับผู้สังเกตการณ์ตามข้อตกลงคุณธรรมจากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT เพื่อแสดงเจตจำนงในการดำเนินโครงการอย่างสุจริต โปร่งใส และตรวจสอบได้ในทุกขั้นตอน
อีกทั้งยังเป็นไปตามแนวทางของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ และพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้สังเกตการณ์จากภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่กระบวนการจัดทำร่างประกาศเชิญชวน ร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน ร่างสัญญาร่วมลงทุน ไปจนถึงการลงนามในสัญญา เพื่อให้ทุกขั้นตอนเป็นไปอย่างโปร่งใส และมีธรรมาภิบาล
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์