กรมปศุสัตว์ ถกญี่ปุ่น แบ่งโซนเลี้ยงสัตว์ หวังส่งออกเนื้อหมูดิบ

กรมปศุสัตว์ ถกญี่ปุ่น แบ่งโซนเลี้ยงสัตว์ หวังส่งออกเนื้อหมูดิบ

กรมปศุสัตว์ หารือ MAFF กระชับความร่วมมือไทย-ญี่ปุ่น หนุนแบ่งเขตเลี้ยงไก่ หมู ป้องโรคระบาด เล็งส่งออกเนื้อสุกรสด หวังโกยรายได้ปีละ10,000 ล้านบาท

นายสัตวแพทย์รักไทย งามภักดิ์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่จาก กรมปศุสัตว์ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายการเกษตร) เจ้าหน้าที่ผู้ช่วยดำเนินการ (ด้านการเกษตร) และสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตร เดินทางเข้าร่วมหารือเพื่อเดินหน้ากระชับความสัมพันธ์ด้านการค้าปศุสัตว์กับประเทศญี่ปุ่น โดยได้ร่วมหารือกับกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงแห่งประเทศญี่ปุ่น (Ministry of Agriculture, Forestry and Fisheries: MAFF) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านสุขภาพสัตว์ ระบบการผลิต และการค้าสินค้าปศุสัตว์อย่างยั่งยืน ณ กรุงโตเกียว

กรมปศุสัตว์ ถกญี่ปุ่น แบ่งโซนเลี้ยงสัตว์ หวังส่งออกเนื้อหมูดิบ

 

ในการหารือร่วมกับ ดร.โอกิตะ มาซัตสิงุ ผู้อำนวยการสำนักงานสุขภาพสัตว์ และ ดร.มัตสึโอะ คาซูโตชิ หัวหน้าสัตวแพทย์ของญี่ปุ่น ทั้งสองฝ่ายได้หารือในหลายประเด็นสำคัญ ได้แก่ การจัดทำระบบ Notifiable Avian Influenza (NAI) Zoning เพื่อแบ่งเขตพื้นที่ควบคุมโรคไข้หวัดนก สนับสนุนให้ไทยสามารถส่งออกเนื้อสัตว์ปีกได้ต่อเนื่องแม้มีการระบาดในบางพื้นที่ และการจัดทำระบบคอมพาร์ทเมนต์ปลอดโรคสุกร Swine Disease-Farm Compartment เพื่อขยายตลาดการส่งออกเนื้อสุกร แช่เย็นและแช่แข็ง (เนื้อสุกรดิบ) โดยเสนอระบบฟาร์มที่มีการควบคุมป้องกันโรคอย่างเข้มงวด และการตรวจสอบย้อนกลับได้ภายใต้การควบคุมของสัตวแพทย์ภาครัฐ

กรมปศุสัตว์ ถกญี่ปุ่น แบ่งโซนเลี้ยงสัตว์ หวังส่งออกเนื้อหมูดิบ

ทั้งนี้ หากสามารถเปิดตลาดเนื้อสุกรดิบในญี่ปุ่นได้ จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศไทยมากกว่าปีละ 10,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ ไทยและญี่ปุ่นยังเห็นพ้องในความร่วมมือด้านการแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการ การฝึกอบรมสัตวแพทย์ การเฝ้าระวังโรค การจัดทำรายงานสุขภาพสัตว์ และการพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับ เพื่อยกระดับมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ไทยสู่ระดับสากล

กรมปศุสัตว์ ถกญี่ปุ่น แบ่งโซนเลี้ยงสัตว์ หวังส่งออกเนื้อหมูดิบ

ในปี 2567 ไทยมีมูลค่าการส่งออกสินค้าปศุสัตว์ไปญี่ปุ่นรวมกว่า 85,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์ประมาณ 70,000 ล้านบาท อาหารสัตว์เลี้ยง 14,000 ล้านบาท และอื่นๆ เช่น เนื้อสุกรแปรรูป ไข่ไก่ และผลิตภัณฑ์นมประมาณ 1,000 ล้านบาท

ผลการหารือในครั้งนี้นับเป็นก้าวสำคัญในการขับเคลื่อนการค้าปศุสัตว์ไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน พร้อมเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศคู่ค้า และยกระดับความสามารถในการแข่งขันของสินค้าปศุสัตว์ไทยในตลาดโลก