"ศุลกากร" ผนึกกำลัง DSI - กรอ. ตรวจยึด "ขยะพิษ" กว่า 700 ตัน จากโมร็อกโก

"ศุลกากร" ผนึกกำลัง DSI - กรอ. ตรวจยึด "ขยะพิษ" กว่า 700 ตัน จากโมร็อกโก

"ศุลกากร" ผนึกกำลัง DSI และ กรอ. ตรวจยึด "กากอันตราย" ปนเปื้อนโลหะหนัก ตะกั่ว แคดเมียม กว่า 700 ตัน จากโมร็อกโก เตรียมผลักดันออกนอกประเทศ ย้ำเฝ้าระวังการลักลอบนำเข้าสินค้าเข้าข่ายของเสียอันตรายภายใต้อนุสัญญาบาเซลอย่างใกล้ชิด

วันที่ 10 มิ.ย.2568 กรมศุลกากรแถลงข่าวร่วมกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และการท่าเรือแห่งประเทศไทย เข้าตรวจสอบ และอายัดสินค้านำเข้าจากต่างประเทศจำนวน 36 ตู้คอนเทนเนอร์ น้ำหนักรวมกว่า 736 ตัน ณ สำนักงานศุลกากรท่าเรือกรุงเทพ หลังพบเข้าข่ายเป็น "ของเสียอันตราย" ตามอนุสัญญาบาเซล เตรียมผลักดันออกนอกประเทศ พร้อมเดินหน้าปราบปรามการลักลอบนำเข้าอย่างเข้มงวด

นายธีรัชย์ อัตนวานิช อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยว่า การดำเนินการในครั้งนี้เป็นไปตามนโยบายที่ให้ความสำคัญกับการป้องกันและปราบปรามการนำเข้าของเสียอันตราย เพื่อความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม และประชาชน โดยกรมศุลกากรเฝ้าระวังการลักลอบนำเข้าสินค้าที่เข้าข่ายของเสียอันตรายภายใต้อนุสัญญาบาเซลอย่างใกล้ชิด
 

เปิดโปง "ZINC CONCENTRATE" ปนเปื้อนโลหะหนัก

การตรวจสอบครั้งนี้เป็นการร่วมมือระหว่างสำนักงานศุลกากรท่าเรือกรุงเทพ และกรมโรงงานอุตสาหกรรม โดยได้ตรวจสอบตู้สินค้าตกค้างที่ระบุในใบตราส่งว่าเป็น ZINC CONCENTRATE จำนวน 36 ตู้คอนเทนเนอร์ น้ำหนักรวม 736,425 กิโลกรัม มีต้นทางจากประเทศโมร็อกโก

จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าสินค้ามีลักษณะเป็นผงละเอียดสีน้ำตาล มีกลิ่นฉุน บรรจุในถุงกระสอบ และเมื่อใช้เครื่อง X-ray fluorescence (XRF) ตรวจสอบ พบปริมาณธาตุโลหะหลักเป็นสังกะสี 32.2% และเหล็ก 13.5% ที่น่ากังวลคือ มีการปนเปื้อนของโลหะหนักอันตราย อาทิ ตะกั่ว 1.24%, แคดเมียม 890 ppm และพลวง 540 ppm ซึ่งเข้าข่ายเป็นของเสียอันตรายตามอนุสัญญาระหว่างประเทศที่ควบคุมการเคลื่อนย้ายของเสียอันตรายข้ามแดน และการกำจัด (อนุสัญญาบาเซล) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการถ่ายโอนของเสียอันตรายจากประเทศพัฒนาแล้วไปยังประเทศกำลังพัฒนา
ขยะพิษ


นายธีรัชย์ เน้นย้ำว่า กรณีดังกล่าวเข้าข่ายความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 และประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย พ.ศ.2556 บัญชีที่ 5.2 ของเสียเคมีวัตถุ ลำดับที่ 2.2 รวมถึงอนุสัญญาบาเซล โดยตรง

สำหรับของเสียอันตรายชุดนี้ กรมศุลกากรจะดำเนินการผลักดันออกนอกประเทศโดยทันที พร้อมทั้งจะบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง ในการป้องกันไม่ให้สินค้าอันตรายลักษณะนี้เข้ามาในประเทศไทยอีก เพื่อความปลอดภัย และสุขอนามัยที่ดีของประชาชนอย่างยั่งยืน

\"ศุลกากร\" ผนึกกำลัง DSI - กรอ. ตรวจยึด \"ขยะพิษ\" กว่า 700 ตัน จากโมร็อกโก

สถิติจับกุมพุ่งต่อเนื่อง

รายงานข่าวจากกรมศุลกากร เปิดเผยว่า สถิติการจับกุมการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ เศษพลาสติก และสังกะสีออกไซด์ ในปีงบประมาณ 2568 (ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2567 – 9 มิ.ย.2568) แบ่งเป็น ขยะอิเล็กทรอนิกส์ จับกุมได้ 37 ราย จำนวน 505,073 กิโลกรัม เศษพลาสติก จับกุมได้ 13 ราย จำนวน 445,122 กิโลกรัม และสังกะสีออกไซด์ จับกุมได้ 2 ราย จำนวน 499,649 กิโลกรัม

โดยกรมศุลกากรยืนยันว่าจะเดินหน้าบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร และตรวจเข้มการนำเข้า-ส่งออกสินค้าทุกประเภทอย่างเคร่งครัดต่อไป 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์