พร้อมหรือไม่ เส้นตาย7 ก.ค.พิพากษา อนาคตการค้าไทย-สหรัฐ

ห้วงเวลา 90 วันที่สหรัฐชะลอการขึ้นภาษีให้กับประเทศต่างๆ กำลังหมดลงไปทุกวัน ท่ามกลางการค้าที่กำลังปั่นป่วนการนำเข้าและส่งออก
ที่อยู่โหมดโหมกักตุนสินค้าและวัตถุดิบไว้เพื่อลดผลกระทบหาก อัตราภาษีต่างตอบโต้ (Reciprocal Trade and Tariffs)ของสหรัฐมีผลบังคับใช้จริง 7 ก.ค. 2568
การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรืออังค์ถัด(UNCTAD) เผยแพร่ รายงานคาดการณ์การ กำหนดขนาดภาษีศุลกากรใหม่ของสหรัฐ สาระส่วนหนึ่งบอกไว้ว่า สหรัฐซึ่งเป็นประเทศหนึ่งที่มีอัตราภาษีในระดับต่ำมาช้านาน แต่ปัจจุบันนี้สวรรค์แห่งการค้าที่สหรัฐเคยครอบครองอยู่กำลังจะหมดหายไป
เมื่อ 2 เม.ย. รายการภาษีศุลกากรที่ดาหน้าปรับเพิ่มขึ้นหลายสิบเท่าตัวและใช้กับหลายๆประเทศได้ปรากฎแก่สายตานักค้าระหว่างประเทศทุกคน เกือบทุกรัฐบาล ถึงกับนั่งไม่ติดวิ่งเข้าสู่เวทีการเจรจากับสหรัฐแบบตัวต่อตัว ด้วยความคาดหวังว่าจะทำให้ผลกระทบดังกล่าวลดลงให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
จนแล้วจนรอดอัตราภาษีดังกล่าวที่เดิมจะให้ใช้ทันที 9 เม.ย. ก็มีอันต้องเลื่อนไป 90 วัน จากวันนั้น จนถึงตอนนี้ เวลาล่วงเลยไป กำหนดเวลาการผ่อนผันค่อยๆหมดลง เส้นตายการบังคับใช้ภาษีใหม่ใกล้เข้ามาทุกที
เกิดคำถามว่า “ประเทศไทยพร้อมไหม” ที่จะรับมือกับภูมิทัศน์ทางการค้าใหม่ในอนาคต ที่พบว่าหากไม่ทำอะไรเลยภาษีที่ไทยต้องจ่ายคือ 36% และหากกรรมการที่ไม่น่าจะสั่นระฆังได้ทัน เพราะแม้ศาลการค้าระหว่างประเทศ (The Court of International Trade: CIT) มีคำสั่งให้ระงับมาตรการทางภาษีที่บังคับใช้ภายใต้อำนาจของกฎหมาย International Emergency Economic Powers Act (IEEPA) ศาลวินิจฉัยว่าฝ่ายบริหารของสหรัฐ ใช้อำนาจเกินขอบเขตที่รัฐธรรมนูญกำหนด จากนั้นศาลอุทธรณ์สหรัฐ(U.S. Court of Appeals for the Federal Circuit: CAFC) ได้อนุมัติคำขอฉุกเฉินของรัฐบาลสหรัฐ ให้คงมาตรการทางภาษีไว้ชั่วคราว
“ศาล CAFC ได้กำหนดให้ฝ่ายบริหารของสหรัฐ ยื่นข้อโต้แย้งฉบับสมบูรณ์ภายในวันที่ 9 มิ.ย.2568 ในระหว่างนี้ หน่วยงานศุลกากรสหรัฐ (U.S. Customs and Border Protection: BCP) จะยังคงจัดเก็บภาษีนำเข้าต่อไปได้จนกว่าจะมีคำตัดสินสิ้นสุด กระบวนการพิจารณาในชั้นศาลอุทธรณ์คาดว่าจะใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 6-18 เดือน”
โอกาสที่ไทยจะพึ่งพาความโชคดี หรือปาฎิหารย์ คงริบหรี่เต็มที ดังนั้น การตั้งหน้าตั้งตา จัดทัพและเนื้อหาการเจรจากับสหรัฐให้ชัดเจนและเป็นรูปธรรม จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในตอนนี้
เพราะรายงานของอังค์ถัดประเมินตามข้อมูลพื้นฐานภาษีและการค้าของแต่ละประเทศไว้ว่า แม้ไทยและประเทศต่างๆจะเดินหน้าเจรจาการค้าแต่อัตราภาษีที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นก็ยังอยู่ในระดับที่สูง โดยไทยอยู่ที่ 28.1% มาเลเซีย 15.7% สิงคโปร์ 4.8% อินโดนีเซีย 31.8% เวียดนาม 36.9%
่“ก็หวังว่า บทความนี้จะเป็นความกังวลเกินกว่าเหตุ ท่ามกลางการเตรียมงานแบบหลังม่านที่รัฐบาลซุ่มทำแบบเงียบๆและข้อมูลที่ไม่มีใครรู้คือความคืบหน้าการเจรจาเป็นไปในทางที่ดี"
หากความเป็นจริงเป็นไปในทิศทางตรงกันข้ามกับจิตนาการ คือไทยไม่พร้อมเมื่อเส้นตาย 90 วัน สิ้นสุดลง คนไทยคงต้องรักษาเนื้อรักษาตัวรับแรงกระแทกเศรษฐกิจที่จากนี้จะมีแต่ข่าวรายไม่เว้นวัน