'คลัง' เผยสถานการณ์จัดเก็บรายได้ 7 เดือน อยู่ที่ 1.4 ล้านล้าน ยังเป็นไปตามเป้า

'คลัง' เผยสถานการณ์จัดเก็บรายได้ 7 เดือน อยู่ที่ 1.4 ล้านล้าน ยังเป็นไปตามเป้า

"คลัง" ระบุจัดเก็บรายได้ 7 เดือนแรกปีงบประมาณ 2568 อยู่ที่ 1.4 ล้านล้านบาท ยังเป็นไปตามประมาณการ ชี้ภาษีมูลค่าเพิ่มและรายได้รัฐวิสาหกิจนำส่งจัดเก็บได้สูงอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนภาษีรถยนต์ยังต่ำเป้า

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2568 (ต.ค. 2567 – เม.ย. 2568) โดยภาพรวมพบว่า รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิได้รวมทั้งสิ้น 1,425,063 ล้านบาท ซึ่งถือว่าใกล้เคียงกับประมาณการที่ตั้งไว้และสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าถึง 37,485 ล้านบาท หรือคิดเป็น 2.7% และเมื่อเทียบกับประมาณการตามเอกสารงบประมาณพบว่าจัดเก็บได้สูงกว่า 7,101 ล้านบาท หรือ 0.5% 

สำหรับรายละเอียดการจัดเก็บรายได้จาด 3 กรมภาษีหลัก ได้แก่

  • กรมสรรพากร จัดเก็บรายได้รวม 1,138,182 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 47,325 ล้านบาท หรือ 4.3% และสูงกว่าประมาณการ 17,950 ล้านบาท หรือ 1.6%
  • กรมสรรพสามิต จัดเก็บรายได้รวม 309,064 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 4,675 ล้านบาท หรือ 1.5% แต่ต่ำกว่าประมาณการ 33,583 ล้านบาท หรือ 9.8% 
  • กรมศุลกากร จัดเก็บรายได้รวม 66,694 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 1,989 ล้านบาท หรือ 2.9% และต่ำกว่าประมาณการ 4,606 ล้านบาท หรือ 6.5%
     

ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้การจัดเก็บรายได้เป็นไปตามเป้าหมายและสูงกว่าปีก่อน มาจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่จัดเก็บจากการบริโภคในประเทศ ที่มีการจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการอย่างสำคัญ รวมทั้งการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจ

อย่างไรก็ดี ภาษีรถยนต์จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าที่ส่งผลให้อัตราภาษีเฉลี่ยลดลง

"โดยกระทรวงการคลังจะยังคงติดตามและบริหารการจัดเก็บรายได้อย่างใกล้ชิดในช่วงที่เหลือของปีงบประมาณ 2568 เพื่อเสริมสร้างฐานะการคลังให้มีความมั่นคงและพร้อมสนับสนุนการดำเนินนโยบายต่างๆ ของภาครัฐต่อไป"

ในด้านฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2568 (ต.ค. 2567 - เม.ย. 2568) รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้น 1,421,850 ล้านบาท ในขณะที่มีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณทั้งสิ้น 2,378,577 ล้านบาท ส่งผลให้เกิดดุลเงินงบประมาณขาดดุล 956,727 ล้านบาท โดยรัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลจำนวน 691,753 ล้านบาท ทำให้เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนเม.ย. 2568 มีจำนวนทั้งสิ้น 252,125 ล้านบาท