เตรียมคนเพื่อเป็นประเทศรายได้สูง | ก้าวไกลวิสัยทัศน์

บ่นกันเสมอว่าเราเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูงมานานนับทศวรรษ รุ่นเดียวกันเมื่อหลายทศวรรษก่อนก็กลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจดิจิทัลไปแล้ว
เพื่อนบ้านรุ่นหลังทำท่าจะแซงไปก่อนในอีกไม่ถึงสิบปีข้างหน้า ซึ่งผู้รู้บอกว่าสิ่งที่ต้องทำเพื่อไต่ระดับให้ได้คือการยกระดับความสามารถ คือยกระดับความรู้ ทักษะ และทัศนคติของผู้คน
World Bank บอกไว้ว่าเปอร์เซ็นต์ของบุคลากรที่มีความสามารถสูงในด้านต่างๆ ซึ่งไม่ใช่แค่ด้านเทคโนโลยี ในประเทศรายได้สูงเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณตามการเพิ่มขึ้นของ GDP per capita รายได้ที่เพิ่มขึ้นมาพร้อมกับการมีผู้คนที่มีความสามารถสูงมากขึ้นมากกว่าการเพิ่มขึ้นของรายได้
อยากมีรายได้เพิ่มสองบาท ต้องยกระดับความสามารถขึ้นสี่เท่า จึงมีไม่กี่ประเทศที่ยกระดับประเทศได้สำเร็จ ยิ่งมีรัฐบาลที่ใส่ใจกับประชานิยม การยกระดับความสามารถของผู้คนยิ่งอยู่นอกสายตา งานยาก งานที่ต้องมีความพยายาม เก็บไว้ก่อน แจกเงินทองกันก่อนดีกว่า
เมื่อความสามารถที่สูงกว่านำไปสู่รายได้ที่มากกว่า คนที่มีความสามารถสูงกว่าคนส่วนใหญ่เป็นหลายเท่าตัว จึงสร้างรายได้อย่างมหาศาล กลายเป็นช่องว่างรายได้ที่แตกต่างกันมาก อาจารย์จากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ของฮ่องกงบอกว่าบ้านเรามีความไม่เท่าเทียมทางรายได้สูงที่สุดในเอเชียตะวันออก
การยกระดับความสามารถจึงกลายเป็นปัญหา “ไก่กับไข่” คนทั่วไปที่รายได้ต่ำก็ไม่มีเงินทองไปยกระดับความสามารถ เมื่อความสามารถไม่เพิ่มขึ้น หรือเพิ่มขึ้นไม่มากพอ รายได้ก็ไม่เพิ่ม ในทางตรงข้าม กลุ่มคนที่มีรายได้สูงยิ่งมีโอกาสเข้าถึงหนทางในการยกระดับความสามารถ มีเงินทองพอจะเข้าถึงเทคโนโลยีชั้นนำของโลก แล้วซึมซาบเทคโนโลยีชั้นนำเหล่านั้นมาเติมเต็มความสามารถของตนขึ้นเป็นทวีคูณ ช่องว่างรายได้ก็ยิ่งห่างมากขึ้นไปเรื่อย ๆ
เหตุการณ์ทำนองนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเจาะจงเฉพาะที่บ้านเรา แต่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในแทบทุกประเทศที่เติบโตมาจากประเทศรายได้ปานกลาง แต่โชคดีที่ประเทศเหล่านั้นมีรัฐบาลที่มุ่งมั่นจะยกระดับความสามารถของผู้คนอย่างจริงจังและกระทำอย่างต่อเนื่อง
รัฐบาลขับเคลื่อนการยกระดับความสามารถของผู้คนโดยมีการวางแผน มีขั้นตอนดำเนินการ มีเป้าหมายที่สอดคล้องกับภาพอนาคตที่คาดหวัง มีความสอดคล้องกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และบริบทโลกที่ปรับเปลี่ยนไป มีการติดตามประเมินผลความสำเร็จอย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่วาดฝันโปรเจกต์แล้วสักแต่ว่าทำพอให้มีการใช้จ่ายเงินทอง
สร้างตึกอาจใช้เวลาเป็นแรมเดือน แต่สร้างคนใช้เวลาเป็นแรมปี ถ้าสร้างไปเปลี่ยนแปลงแบบไป อีกสองสามเดือนก็เปลี่ยนวัสดุ อีกสามสี่เดือนต่อมาก็เปลี่ยนทีมก่อสร้าง ในวันที่มีความท้าทายจากธรรมชาติ ตึกที่สร้างกันแบบไม่มีความมุ่งมั่นและไม่มีความต่อเนื่องอาจจะถล่มมาให้เห็นในแปดวินาทีได้ฉันใด การยกระดับความสามารถของผู้คนอย่างไม่จริงจังและไม่ต่อเนื่อง ก็อวสานเมื่อมีความท้าทายจากปัจจัยภายในและนอกเกิดขึ้นได้ฉันนั้น
ไม่กี่ปีก่อนอยากไป New S-Curve สักพักก็ไป 5G มีนายกฯ เป็นประธาน ต่อมาก็ไป BCG จนมาถึง Semiconductor และ Data Center แต่เป็นการยกระดับด้านเทคโนโลยีที่ไม่แน่ชัดว่าจะมุ่งมั่นกันอีกนานแค่ไหน เพราะแค่ 5G กับ New S-Curve วันนี้ก็ไม่มีใครแทบจะพูดถึงแล้ว คนใหญ่คนโตที่สองปีก่อนยังเช้า New S-Curve เย็นก็ New S-Curve วันนี้ไปเรื่องอื่น เหมือนไม่เคยพูดถึง New S-Curve มาก่อนเลย
แค่เพียงการยกระดับความสามารถด้านเทคโนโลยีให้กับผู้คนยังไม่เพียงพอจะเป็นแรงส่งให้ประเทศขยับตัวสูงขึ้น World Bank และอีกหลายสำนักปราชญ์ บอกตรงกันว่านอกเหนือไปจากความสามารถทางเทคโนโลยีใหม่ที่ได้ยินได้ฟังกันมาเยอะแล้ว เรายังต้องการการยกระดับความสามารถในด้าน Socio-emotional Skill พร้อมกันไปกับการยกระดับด้านเทคโนโลยี
อยู่ในสังคมรถ EV ต้องการทักษะสังคมและอารมณ์มากกว่าสังคมเกวียนแน่ๆ ทักษะสังคมและอารมณ์ที่อ่อนด้อยไม่เท่าทันการเพิ่มขึ้นของทักษะดิจิทัล ทำให้เราพบเห็นการใช้สื่อสังคมในทางลบมากมายมหาศาล เราเป็นบ้านเมืองที่มีการใช้สื่อสังคมดิจิทัลสูงในระดับต้นๆ ของโลก โดยไม่รู้ว่าเราได้สร้างปัญหาจากการใช้สื่อสังคมอย่างไร้กาลเทศะให้กับผู้คนในบ้านเมืองนี้มากน้อยแค่ไหน?