นโยบายการคลังและหนี้สาธารณะสหรัฐ (2) | เศรษฐศาสตร์+สุขภาพ

ครั้งที่แล้วผมเขียนถึงสาระสำคัญของร่างกฎหมาย One Big Beautiful Bill (OBB) หรือ H.R.Con. Res.14 ซึ่งต่ออายุการลดภาษีผู้มีรายได้สูงและภาษีนิติบุคคล
ที่ประธานาธิบดีทรัมป์เคยผ่านเป็นกฎหมายเมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้ว ให้เป็นการลดภาษีถาวรและยังมีการเพิ่มเติมการลดภาษีอื่นๆ อีกด้วย พร้อมกับการเพิ่มงบประมาณด้านการทหารและการรักษาความมั่นคงที่ชายแดน
กล่าวคือ เป็นการลดรายได้และเพิ่มรายจ่ายของรัฐบาลกลางอย่างมหาศาลในอีก 10 ปีข้างหน้า แต่ก็ได้มีมาตรการลดรายจ่ายบางประการ เช่น การลดเงินประกันสุขภาพให้กับคนที่มีรายได้ต่ำ (Medicaid) และการลดการแจกบัตรแลกอาหาร (Food Stamps) เป็นต้น
มาตรการลดภาษีดังกล่าวนั้น ย่อมทำให้รู้สึกทันทีว่า เป็นการให้ประโยชน์คนรวยมากกว่าช่วยเหลือคนจน และดูเหมือนว่าจะมีการเพิ่มรายจ่ายและลดภาษีมากกว่ามาตรการลดรายจ่ายและเพิ่มภาษี ซึ่งองค์กรที่เป็นกลาง เช่น Congressional Budget Office และ Joint Committee on Taxation (JCT) จึงประเมินว่าร่างกฎหมาย OBB จะทำให้การขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลกลางสหรัฐเพิ่มขึ้นอีก 3.8 ล้านล้านดอลลาร์ในอีก 10 ปีข้างหน้า
นอกจากนั้นก็ยังประเมินอีกว่า ครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำที่สุด (มีรายได้ต่ำกว่า 32,200 ดอลลาร์ต่อปี) จะสูญเสียผลประโยชน์ประมาณ 2-4% จากการปรับลดการประกันสุขภาพ และการลดการแจกบัตรแลกอาหาร โดยจะกระทบกับคนรายได้ต่ำรวมกันประมาณ 11.6 ล้านคน
แต่คนที่มีรายได้สูง (รายได้เฉลี่ย 444,600 ดอลลาร์ต่อปี) จะมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 2-4% จากการต่ออายุภาษีเงินได้ที่ตราเป็นกฎหมายไปแล้วตั้งแต่ปี 2560 ครัวเรือนที่มีความมั่งคั่ง (wealth) สูงที่สุด 1% ของประชากรทั้งหมด จะได้รับผลประโยชน์รวมทั้งสิ้น 255,670 ดอลลาร์ต่อปี
ถามว่า ทำไมจึงพยายามออกกฎหมายที่เพิ่มความร่ำรวยให้กับคนที่ร่ำรวยอยู่แล้ว ก็ต้องบอกว่า เจ้าหน้าที่ของประธานาธิบดีทรัมป์และพรรครีพับลิกันโต้ว่า คนรวยที่จ่ายภาษีน้อยลงจะมีแรงจูงใจไปลงทุนเพิ่มขึ้นเพื่อสร้างงานและสร้างรายได้ ทำให้เศรษฐกิจที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก อันจะทำให้รัฐบาลเก็บภาษีได้มากขึ้นอีก 2.6 ล้านล้านดอลลาร์ในช่วง 10 ปีข้างหน้า เพราะกฎหมายฉบับนี้
ผมได้พยายามประเมินคร่าวๆ ว่า จีดีพี ของสหรัฐจะต้องขยายตัวเท่าไหร่ ซึ่งจะทำให้การลดอัตราภาษีกลับทำให้ปริมาณภาษีที่เก็บได้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น คำตอบคือ เศรษฐกิจสหรัฐที่ปกติคาดว่าจะขยายตัวประมาณ 1.8% ต่อปี จะต้องขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 3.5-4.0% ต่อปี ในทุกปีต่อเนื่องไปอีก 10 ปี จึงทำให้เก็บภาษีได้เพิ่มขึ้น แม้ว่าอัตราภาษีจะลดลง
การที่จีดีพีสหรัฐจะขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากดังกล่าวข้างต้นนั้น ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ต่อเนื่องเป็นเวลา 10 ปี เพราะโดยปกติ เศรษฐกิจจะมีวัฏจักรที่เศรษฐกิจขยายตัวเป็นขาขึ้นประมาณ 5-6 ปีติดต่อกันแล้ว ก็จะต้องชะลอตัวลงจนเข้าสู่ภาวะถดถอยประมาณ 9-18 เดือน แล้วจึงจะพลิกฟื้นกลับมาขยายตัวได้อีกครั้ง
ที่สำคัญคือในปี 2560 รัฐมนตรีคลังของสหรัฐในสมัยนั้นคือนาย Steve Mnuchin ก็ได้ประเมินว่า การลดอัตราภาษีจะทำให้รายได้จากภาษีเพิ่มขึ้น 1.8 ล้านล้านดอลลาร์ใน 10 ปีข้างหน้า แต่ข้อมูลจริงบวกกับการคาดการณ์ของ CBO ประเมินว่า รายได้จากการเก็บภาษีลดลงรวมทั้งสิ้น 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ในช่วง 2561-2570
ดังนั้น จึงน่าจะเชื่อการคาดการณ์ของ CBO มากกว่าการคาดการณ์ของพรรครีพับลิกันว่า การขาดดุลงบประมาณของสหรัฐคงจะย่ำแย่ลง เพราะผมเองก็ยังนึกไม่ออกว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 3.5-4.0% ต่อปี ได้อย่างไร ในเมื่อทุกฝ่าย (รวมทั้งธนาคารกลางสหรัฐ) ประเมินว่าจะขยายตัวได้เพียง 1.8% ต่อปี
หากเป็นเช่นนั้นก็จะต้องยอมรับสภาพว่า สถานะทางการคลังของสหรัฐจะทรุดตัวอย่างมากในอีก 10 ปีข้างหน้า ปัจจุบันพันธบัตร (หนี้) ของรัฐบาลสหรัฐที่อยู่ในมือของสาธารณชน (US government debt held by the public) มีมูลค่าประมาณ 28 ล้านล้านดอลลาร์หรือเท่ากับจีดีพีแล้ว และปัจจุบันรัฐบาลสหรัฐขาดดุลงบประมาณสูงถึง 6.7% ของจีดีพี (1.9 ล้านล้านดอลลาร์)
CBO คาดการณ์ว่าหนี้สาธารณะของสหรัฐจะเพิ่มขึ้นไปถึง 118.5% ของจีดีพีในปี 2578 ดังนั้น หาก OBB สามารถผ่านออกมาเป็นกฎหมายได้ หนี้สาธารณะของสหรัฐจะเพิ่มขึ้นไปถึง 120% ของจีดีพีได้ในอีก 10 ปีข้างหน้า
แล้วปัญหาการขาดดุลงบประมาณของสหรัฐจะเป็นอย่างไร? โดยปกติรัฐบาลสหรัฐฯจะเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้น ประมาณ 4.0% ต่อปี เพราะจีดีพีขยายตัวจริง 1.8% ต่อปี และเงินเฟ้อเท่ากับ 2% ปี ดังนั้น หากจีดีพีจริงขยายตัวได้ช้า อีกทางหนึ่งที่จะทำให้รัฐบาลเก็บภาษีได้มากก็คือ การเพิ่มเงินเฟ้อ
นอกจากนั้น เงินเฟ้อคือการทำให้หนี้สินเสื่อมค่า (devaluing the debt) หมายความว่า หากรัฐบาลสหรัฐมีปัญหาหนี้สิน ก็จะเป็นไปได้ว่าทางเลือกทางหนึ่งคือการกดดันให้ธนาคารกลางของสหรัฐลดดอกเบี้ยนโยบาย และผ่อนคลายนโยบายการเงิน เพื่อปล่อยให้เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น
สำหรับเศรษฐกิจโลกนั้น การดำเนินนโยบายดังกล่าวแปลว่า เงินดอลลาร์สหรัฐมีความเสี่ยงที่จะอ่อนค่าลง และคงจะทำให้เงินเฟ้อของโลกปรับสูงขึ้นตามไปอีกด้วย เพราะเงินดอลลาร์ถูกใช้เป็นเงินสกุลหลักของโลก