อย่า "สนิทใจ" กับตัวเลขทางเศรษฐกิจของประเทศ | อาหารสมอง

ข่าวเมื่อปลายเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา The Economist (นิตยสารที่ได้รับการยอมรับอย่างสูงในระดับโลกซึ่งตีพิมพ์ต่อเนื่องกันมา 182 ปี )
ระบุว่ารัฐบาลอังกฤษสอบสวน Office of National Statistics ซึ่งเป็นหน่วยงานสถิติสำคัญของชาติ และพบว่าเกิดข้อบกพร่องของบางตัวเลขสำคัญในการคำนวณหา GDP นอกจากนี้ นักลงทุนก็ไม่ไว้ใจรายงานการจ้างงานรายเดือนของทางการอีกต่อไปด้วย
ข่าวนี้ทำให้สื่อเศรษฐกิจระดับโลกรายงานต่อเนื่องว่า ตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญของอีกหลายประเทศใหญ่ในโลกก็ไม่น่าเชื่อถือเช่นกัน และปรากฏการณ์นี้กำลังเกิดขึ้นอย่างน่าตกใจ
จะว่าไปแล้ว แม้แต่ตัวเลขขาดดุลการค้าของสหรัฐอเมริกา ที่นายทรัมป์บอกว่าเจ็บปวดเหลือทน (ตัวเลขขาดดุลบอกว่าคนอเมริกันซื้อสินค้าจากต่างประเทศมากกว่าส่งไปขาย มันยังมีอีกหลายดุล
เช่น ดุลบริการซึ่งมีขนาดใหญ่โตมากก็ไม่ได้โวยวาย) ก็ไม่แม่นยำเพราะมีปัญหาการจัดเก็บตัวเลขจากรายการซื้อขายที่ซับซ้อนทั้งในระบบดิจิทัลเเละปกติ อีกทั้งมีซัพพลายเชนที่กว้างขวางเเละยุ่งเหยิงของระบบการค้าโลกในปัจจุบัน
ลองมาดูกันว่ามีประเทศใดบ้างที่สื่อต่างประเทศเชื่อว่ามีปัญหาเเละมีสาเหตุใดที่ทำให้เกิดขึ้น :
เยอรมนี มีชื่อเสียงในการยกเลิกการจัดเก็บสถิติที่เคยทำมาอย่างเป็นระบบ พร้อมทั้งยกเครื่องระบบการจัดเก็บสถิติสำคัญครั้งใหญ่ ซึ่งครอบคลุมหลายตัวเลขทางเศรษฐกิจ เช่น GDP ดัชนี เงินเฟ้อ สถิติการจ้างงาน ฯลฯ
ปัญหาเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ของเยอรมนีซึ่งต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 3 ทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับปัญหาการเปรียบเทียบต่อเลขใหม่เมื่อเทียบกับตัวเลขเก่าว่าอะไรคือความจริง
จีน เป็นอีกประเทศหนึ่งที่พูดกันมากถึงความน่าเชื่อถือของตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ทางการประกาศ มีสถิติสำคัญหลายตัวที่ยากจะเข้าถึง หรือหายไปทั้งหมดจนเกิดความสงสัยในสถานภาพ
เช่น มูลค่าการลงทุนจากต่างประเทศ อัตราการว่างงาน ผลผลิตทางเกษตร ฯลฯ แม้แต่ตัวเลขอัตราการเติบโตของ GDP ในปี 2567 ที่เเถลงว่า 5% นั้น ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าน่าจะเป็นเพียงแค่ 2-3% เท่านั้น
อินเดีย เลื่อนสำมะโนครั้งใหญ่ที่ทำทุก 10 ปี จาก 2564 มาหลายครั้งจนคาดว่าอาจได้เห็นข้อมูลในปี 2569 การเลื่อนเช่นนี้ก่อให้เกิดความสงสัยว่าไม่ต้องการให้เห็นตัวเลขสำคัญบางตัว การขาดข้อมูลที่ทันกาลทำให้ไม่สามารถกำหนดนโยบายเศรษฐกิจและสังคมอย่างสอดคล้องกับปัญหาเพราะไม่รู้ว่าปัญหาจริง ๆ คืออย่างไร
นอกจากนี้ ความไม่โปร่งใสในการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญตลอดจนการเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้อย่างสะดวกก่อให้เกิดความไม่มั่นใจในตัวเลขเหล่านี้
สหรัฐอเมริกา ก็มีปัญหาอื้อฉาวในบางเรื่องดังที่รู้กันในวงการ ซึ่งได้แก่ การมีแรงกดดันจากการเมืองและภาคธุรกิจขนาดใหญ่ที่ต้องการ “เลขสวย” โดยเฉพาะอย่างยิ่งอัตราเติบโตของ GDP อัตราเงินเฟ้อและการจ้างงาน
วิธีการจัดเก็บสถิตินั้นถูกต้องตามหลักวิชาการเพราะดำเนินการโดยมืออาชีพ เพียงแต่เมื่อได้ตัวเลขมาแล้วก็มีการตีความและปรับตัวเลขให้คำนึงถึงสิ่งที่การจัดเก็บมิได้ครอบคลุมหรือไม่ทันสมัย
การตีความเช่นนี้ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็น เปิดโอกาสให้การเมืองเข้ามาแทรกแซง อย่างไรก็ดี ตัวเลขสถิติของสหรัฐถือว่าโปร่งใส และมีวิธีการจัดเก็บที่ถูกหลักวิชาการที่สุดแห่งหนึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ
เรียกได้ว่าอยู่ในสถานะที่ดีกว่าจีน รัสเซีย (ระบบการเมืองมีผลต่อการรายงานตัวเลขเสมอ) และอีกหลายประเทศใหญ่ในโลก แต่ต้องตระหนักว่าไม่ “เพอร์เฟกต์” อยู่ดี
สำหรับประเทศใหญ่ ๆ ในอาเซียนนั้นเป็นที่รู้กันดีว่า ตัวเลขเศรษฐกิจต้องพิจารณาด้วยความระมัดระวัง เวียดนามดูจะต้องระวังมากกับตัวเลข GDP อัตราการว่างงาน อัตราเงินเฟ้อ ตัวเลขความยากจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งมูลค่าการส่งออกและการลงทุนจากต่างประเทศ
มาเลเซียนั้นมีผู้วิจารณ์ว่าตัวเลขสำคัญหลายตัวดูจะผิดไปจากความรู้สึกจริง โดยเฉพาะเรื่องอัตราเงินเฟ้อ
ตัวอย่างความ “โอเวอร์” ของประเทศนี้ก็คือตัวเลขนักท่องเที่ยวที่ว่ามีมากกว่าไทยแต่เมื่อพิจารณาดูแล้วก็พบว่าเอาตัวเลขของคนที่ข้ามไปทำงานระหว่างมาเลเซียกับสิงคโปร์ในแต่ละวัน
มารวมเป็นตัวเลขนักท่องเที่ยว (มีนิยามว่าต้องค้างคืนด้วยจึงจะถือว่าเป็นนักท่องเที่ยว) การตีความแบบนี้ทำให้เกิดความระแวงในสถิติของทางการในเรื่องอื่น ๆ ไปด้วย
อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ก็ไม่ต่างกันนัก โดยเฉพาะตัวเลขความยากจน มูลค่าการลงทุนจากต่างประเทศ และการค้าระหว่างประเทศ
ประเทศไทยเราเองนักวิจารณ์ระบุว่าต้องระวังตัวเลขนักท่องเที่ยวของไทยว่า อาจมีการนับซ้ำจนสูงกว่าที่เป็นจริง เช่นเดียวกับตัวเลขความยากจนและความเหลื่อมล้ำที่น่าจะไม่สะท้อนความเป็นจริง
ความไม่แม่นยำนั้นมาได้จากสองทางคือ คุณภาพของกระบวนการจัดเก็บข้อมูลเเละการจงใจบิดเบือนตัวเลข ซึ่งอาจเกิดได้ในทุกขั้นตอนของการผลิตตัวเลขอาจผิดพลาดอย่างไร้เดียงสาเเละ/หรือ/อย่างจงใจได้เสมอ
กล่าวโดยสรุปได้ว่า อย่าเชื่อตัวเลขเศรษฐกิจของประเทศทั้งใหญ่และเล็กอย่างสนิทใจ ตัวเลขของเเต่ละประเทศก็เชื่อถือไม่ได้ทั้งหมดอยู่เเล้ว ดังนั้น การเอามาเปรียบกันจึงต้องกระทำด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่ง
ปัจจุบันมี 2 สาเหตุที่ทำให้ความน่าเชื่อถือเลวร้ายลงคือ (1) เงินสนับสนุนการจัดเก็บสถิติโดยทั่วไปลดน้อยลงดังที่เกิดขึ้นในอังกฤษ สหรัฐอเมริกา สเปน และอีกหลายประเทศ
จนต้องยกเลิกการจัดเก็บบางตัวเลขหรือลดขนาดของการสำรวจลง ลดการปรับตัวเลขหลังจากผ่านไปแล้ว ไม่ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดเก็บตามยุคสมัย
(2) ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชน โดยทั่วไปประชาชนให้ความร่วมมือในการจัดเก็บน้อยลงอย่างน่าตกใจ เช่น อัตราการตอบรับของการสำรวจลดลง การตอบคำถามไม่เป็นไปอย่างตั้งใจหรือเต็มใจเต็มที่ จนทำให้ความแม่นยำลดน้อยลง
การมีสถิติที่ไม่น่าเชื่อถือของประเทศใดก็ตามนำไปสู่การวิเคราะห์และใช้นโยบายที่ผิดพลาด เพราะไม่รู้สถานการณ์ที่แท้จริงและเกิดความไม่ไว้วางใจจากคนต่างชาติ
ไม่ว่าในเรื่องการร่วมมือหรือการลงทุนจนทำให้เสียโอกาส ปรากฏการณ์ของความน่าเชื่อถือน้อยลงของตัวเลขทางเศรษฐกิจในระดับโลก เป็นเรื่องน่าวิตกในยามที่ต้องต่อสู้กับปัญหาสำคัญที่โลกต้องเผชิญ
ไม่ว่าจะเป็น วิกฤติภูมิอากาศ ความยั่งยืนของโลก ปัญหาความขัดแย้งในโลก ความไม่เห็นพ้องทางความคิด ฯลฯ
การต่อสู้จำเป็นต้องอาศัยความแม่นยำในสิ่งที่รู้จากข้อมูลสถิติที่มีการเก็บอย่างถูกต้องทางวิชาการ โดยมีความสัตย์ซื่อต่อวิชาการและความมุ่งมั่นในผลประโยชน์ของชาติเป็นสำคัญ.