'ผอ.สศอ.' วางยุทธศาสตร์ 5 ปี ดัน 6 กลุ่มอุตสาหกรรมรับเทรนด์โลก

เปิดวิสัยทัศน์ "ผอ.สศอ." ปักธงนำทัพอุตสาหกรรมไทยฝ่าคลื่นความท้าทายเศรษฐกิจโลก มุ่งสู่ผู้นำด้านนโยบายขับเคลื่อน 6 อุตสาหกรรมดาวรุ่ง เสริมแกร่งเศรษฐกิจชาติเติบโตยั่งยืน
KEY
POINTS
- สศอ. ถือเป็นผู้นำด้านข้อมูลและการวิเคราะห์เศรษฐกิจอุตสาหกรรม เสนอแนะนโยบายเชิงรุกรับมือความเสี่ยงและเปลี่ยนแปลง ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายรัฐบาล ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน
- ตั้งเป้า 6 อุตสาหกรรมที่มีศักยภาพและโอกาสเติบโต อาทิ อาหาร, ชีวภาพ, การแพทย์และสุขภาพ, ป้องกันประเทศ, รีไซเคิล และระบบราง ยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน ลดนำเข้า สร้างมูลค่าเพิ่ม ตอบโจทย์เทรนด์สีเขียว
- อุตสาหกรรมที่อยู่ระหว่างการปรับตัว อาทิ ยานยนต์, ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติซึ่ง สศอ. ได้วางแผนพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เป็นองค์กรชี้นำในการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ โดยภารกิจหลักคือ การเสนอแนะนโยบาย แนวทาง และมาตรการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรม รวมทั้งจัดทำแผนพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ ดังนั้น จึงมีความมุ่งมั่นที่จะเดินหน้าสู่การ “เป็นผู้นำด้านการวิเคราะห์และกำหนดนโยบายเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยให้แข่งขันได้ในเวทีโลกและเติบโตอย่างยั่งยืน” สะท้อนบทบาทสำคัญของ สศอ. ในฐานะ หน่วยงาน Think Tank และ Policy Driver ของกระทรวงอุตสาหกรรม
ความท้าทายที่สำคัญที่สุดที่ สศอ. กำลังเผชิญในปัจจุบัน คือ การที่โครงสร้างเศรษฐกิจไทยยังต้องพึ่งพิงการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเป็นสาขาหลักในการสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งในแง่ของการนำรายได้เข้าสู่ประเทศ ก่อให้เกิดการจ้างงาน ตลอดจนการสนับสนุนให้เกิดการใช้จ่ายและการลงทุนในประเทศ ทำให้ภาคอุตสาหกรรมไทยต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและปัจจัยภายนอก โดยแนวโน้มโลกและทิศทางการพัฒนาประเทศที่ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมแบ่งออกเป็นหลายด้านที่สำคัญ เช่น
นายภาสกร ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า การขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศในอีก 3-5 ปีข้างหน้า สศอ. จะมีบทบาทสำคัญ คือ 1. เป็นผู้นำด้านข้อมูลและการวิเคราะห์เศรษฐกิจอุตสาหกรรม (Data-driven Policy) เป็นศูนย์กลางข้อมูลเศรษฐกิจอุตสาหกรรมที่ทันสมัย แม่นยำ ทันสถานการณ์ และเชื่อถือได้ โดยใช้ Big Data และพัฒนาแบบจำลองคาดการณ์ (Forecast Model) เข้ามาเป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์และคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ตลอดจนทำหน้าที่เป็น Think Tank วิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจอุตสาหกรรมรายสาขาในเชิงลึก
2. เสนอแนะนโยบายเชิงรุกเพื่อเตรียมความพร้อมและรับมือกับความเสี่ยงท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เช่น สถานการณ์ Climate Change, Silver Economy, Geopolitics, Technology เป็นต้น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันและขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมให้เติบโตอย่างยั่งยืน
3. ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเป้าหมาย ส่งเสริมอุตสาหกรรมตามนโยบายรัฐบาล โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสูง เช่น อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมชีวภาพ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรม BCG ที่ตอบโจทย์เทรนด์โลก เป็นต้น โดยเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค ไปจนถึงระดับโลก ตลอดจนผลักดัน R&D และการพัฒนานวัตกรรมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
4. ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน (Sustainability & Green Economy) ผลักดันภาคอุตสาหกรรมสู่ Net Zero/ Circular Economy จัดทำนโยบาย ยุทธศาสตร์ แผน/ มาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมโดยให้ความสำคัญกับนโยบาย SDGs, ESG และเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม ตลอดจนส่งเสริมเทคโนโลยีสะอาดและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ
5. เสนอแนะนโยบาย กำหนดท่าที แนวทางความร่วมมือด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมระหว่างประเทศ รวมทั้งประชุมเจรจากับองค์การหรือหน่วยงานต่างประเทศด้านอุตสาหกรรม ตลอดจนผลักดันความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมในกรอบความร่วมมือต่าง ๆ รวมทั้งการทำ FTA
6. ประสาน เร่งรัด ติดตาม ขับเคลื่อน และประเมินผลการพัฒนาอุตสาหกรรม เพื่อให้ทราบว่าสิ่งที่ได้ดำเนินการไปแล้วบรรลุผลตามเป้าหมายหรือไม่ และควรปรับกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับบริบทการเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ อย่างไร
ทั้งนี้ ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและปัจจัยภายในประเทศที่เปลี่ยนแปลงไป อุตสาหกรรมไทยที่ยังคงมีศักยภาพและมีโอกาสเติบโตในอนาคต เช่น
1. อุตสาหกรรมอาหาร ถือเป็นหนึ่งในเสาหลักของเศรษฐกิจไทย และมีบทบาทสำคัญทั้งในด้านรายได้ การจ้างงาน และการส่งออก โดยไทยได้รับการขนานนามว่าเป็น “ครัวของโลก" ที่สร้างรายได้เข้าประเทศสูง เพราะไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารอันดับต้น ๆ ของโลก รวมทั้งเป็นห่วงโซ่อุปทานที่มีความเข้มแข็ง และครบวงจร
2. อุตสาหกรรมชีวภาพ ถือเป็นหัวใจสำคัญของนโยบาย BCG Economy Model ที่ภาครัฐผลักดันเพื่อสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม โดยเป็นอุตสาหกรรมที่ต่อยอดภาคเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่า ซึ่งไทยมีฐานวัตถุดิบการเกษตรอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด ปาล์มน้ำมัน เป็นต้น ซึ่งสามารถนำมาผลิตเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ (Biofuel) พลาสติกชีวภาพ (Bioplastic) สารชีวภาพ (Biochemical) เพื่อเพิ่มมูลค่าได้หลายเท่าตัว นอกจากนี้อุตสาหกรรมนี้ยังช่วย ขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ลดการพึ่งพาทรัพยากรจากฟอสซิล และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
3. อุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ (Medical & Wellness) ประเทศไทยมีศักยภาพสูงทั้งในด้านการบริการ การผลิต และการวิจัย โดยมีจุดแข็งที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ภาครัฐมีนโยบายสนับสนุนในการพัฒนาให้ไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) โดยไทยเป็นศูนย์กลางการรักษาโรคและศัลยกรรมที่มีคุณภาพสูง แต่ราคาถูกกว่าประเทศพัฒนาแล้ว บุคลากรทางการแพทย์มีคุณภาพสูง ในส่วนของอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ เป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูง และมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเครื่องมือแพทย์ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสินค้าจำเป็นที่มีความสำคัญต่อสุขภาพ
ประกอบกับอัตราการเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-Communicable Diseases: NCDs) และจำนวนประชากรที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Silver Economy) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ รวมถึงประเทศคู่ค้าหลักของไทยยังมีความต้องการอุปกรณ์ทางการแพทย์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มวัสดุสิ้นเปลืองประเภทถุงมือยาง หลอด/ เข็มฉีดยา ส่งผลให้ความต้องการเครื่องมือแพทย์ของไทยมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2567-2570) อยู่ระหว่างเตรียมการนำเสนอ ครม.
4. อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ซึ่งไทยมีโครงสร้างพื้นฐานเดิมอยู่แล้ว โดยมีหน่วยงานรัฐด้านการผลิตและวิจัย เช่น สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ องค์การอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และมีศักยภาพฐานการผลิตวัตถุดิบและโลหะ เช่น เหล็กกล้า เหล็กกันกระสุน อิเล็กทรอนิกส์ยานยนต์ ที่สามารถต่อยอดสู่เทคโนโลยีทหารได้ และยังความสามารถพัฒนาสินค้าและเทคโนโลยีเองได้บางส่วน โดยกระทรวงฯ ได้กำหนดแนวทางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมป้องกันประเทศใน 4 กลุ่มผลิตภัณฑ์เป้าหมาย ได้แก่ ยานพาหนะรบ/ ยานพาหนะช่วยรบ การต่อเรือ อากาศยานไร้คนขับ (UAV) อาวุธปืนและกระสุนปืน สำหรับการป้องกันประเทศและกีฬา
5. อุตสาหกรรมรีไซเคิล ซึ่งไทยมีศักยภาพในการเติบโตอย่างมาก โดยเฉพาะในบริบทของเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดยมีเป้าหมายเพื่อลดปริมาณขยะ ลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ตอบโจทย์เทรนด์โลกสีเขียว และสนับสนุนการพัฒนาในอุตสาหกรรมต่าง ๆ อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ เช่น การส่งเสริมการกำจัดรถยนต์เก่าให้ถูกวิธี และนำรถยนต์ใหม่มาใช้ทดแทนอุตสาหกรรมพลาสติก ซึ่งหากมีคุณสมบัติเป็นไปตามที่กำหนดจะทำให้สามารถทดแทนเม็ดพลาสติกเดิมและสามารถใช้เป็นเครื่องมือทางการตลาดเพิ่มขึ้น
6. อุตสาหกรรมระบบราง อุตสาหกรรมระบบรางของไทยมีศักยภาพสูงในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและยกระดับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ โดยเฉพาะในยุคที่รัฐบาลมุ่งเน้นการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยรัฐบาลไทยได้วางแผนลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานระบบรางครอบคลุมการพัฒนาโครงข่ายรถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง และระบบขนส่งมวลชนในเมืองใหญ่ รวมทั้งส่งเสริมการผลิตในประเทศ มีการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์สำหรับระบบรางภายในประเทศเพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าและสร้างมูลค่าเพิ่มในประเทศ โดยเฉพาะการผลิตชิ้นส่วนที่สามารถใช้ร่วมกับอุตสาหกรรมยานยนต์
"กระทรวงฯ อยู่ระหว่างมาตรการผลักดันให้เกิดการผลิตรถไฟระบบราง และการใช้ชิ้นส่วนในประเทศ โดยร่วมกับกระทรวงคมนาคมวางแผนพัฒนาฝีมือและมาตรฐานเชื่อมโยงไปสู่อุตสาหกรรมระบบราง ตั้งแต่การจัดซื้อรถไฟไปจนถึงการซ่อมบำรุงรถไฟของ รฟท. ได้แก่ รถจักร รถโดยสาร รถดีเซลราง และรถสินค้า เพื่อลดการนำเข้า สร้างความยั่งยืนให้กับระบบรางในประเทศ"
นอกจากนี้ ไทยยังคงมีกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพอีกหลายสาขาที่อยู่ระหว่างการปรับตัวเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ภายใต้บริบทโลกที่เปลี่ยนแปลง เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ซึ่งสศอ. ได้มีการจัดแผนและมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล่านี้แล้วเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ตอบโจทย์เทรนด์โลก ตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรม