'นิปปอนสตีล' ลุยเพิ่มลงทุนไทย ดันกำลังการผลิตเหล็กแผ่นเคลือบ

"เอกนัฏ พร้อมพันธุ์" หารือ "นิปปอนสตีล" ลงทุนเพิ่มการผลิตเหล็กแผ่นเคลือบสำหรับทำกระป๋อง และบรรจุภัณฑ์อาหารในไทย
เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2568 นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมหารือกับ นายฮิเดกิ โอกาวะ ประธาน บริษัท เอ็นเอส สยามยูไนเต็ด สตีล จำกัด นายบัณฑูรย์ จุ้ยเจริญ ประธาน บริษัท นิปปอน สตีล (ไทยแลนด์) จำกัด และคณะ เกี่ยวกับการนำเสนอข้อมูลโครงการ และแผนการลงทุนเพิ่มเติมของบริษัท ในสายการผลิตเหล็กแผ่นเคลือบ
สำหรับทำกระป๋อง และบรรจุภัณฑ์อาหาร เพื่อให้กระทรวงอุตสาหกรรมทราบแนวทางการดำเนินงานในอนาคต โดยมี นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม นายวิฤทธิ์ วิเศษสินธุ์ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม เข้าร่วม ณ ห้องประชุม อก.1 ชั้น 2 อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม
บริษัท นิปปอน สตีล (ไทยแลนด์) จำกัด เป็นบริษัทในกลุ่มของ Nippon Steel Corporation (NSC) มีผลิตภัณฑ์เหล็กหลากหลายประเภท ได้แก่ เหล็กแผ่นรีดร้อน เหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กแผ่นเคลือบดีบุก เหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี เหล็กลวด และท่อเหล็ก เพื่อตอบสนองความต้องการภายในประเทศไทย และลูกค้าในเอเชียตะวันออกเฉียงได้ มีการจ้างงานรวมกว่า 8,000 คน
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า เมื่อช่วงเดือนส.ค.2567 ผู้บริหารของ บมจ.จี สตีล และ บมจ.จี เจ สตีล ผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนครบวงจรรายใหญ่ในประเทศไทย ที่ถือหุ้นหลักโดยบริษัท นิปปอน สตีล คอร์ปอเรชั่น จากประเทศญี่ปุ่น ได้เข้าหารือกับบีโอไอ เพื่อลงทุนปรับปรุงสายการผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนครั้งใหญ่ในรอบ 20 ปี ด้วยมูลค่าลงทุนกว่า 4,500 ล้านบาท ภายในระยะ 3 ปีข้างหน้า ประกอบด้วยการลงทุนของ บมจ. จี สตีล ที่จังหวัดระยอง 3,000 ล้านบาท และ บมจ. จี เจ สตีล ที่จังหวัดชลบุรี 1,500 ล้านบาท
เพื่อปรับปรุงเครื่องจักรให้ทันสมัย พัฒนาคุณภาพ และขยายกลุ่มผลิตภัณฑ์ให้หลากหลายยิ่งขึ้น ยกระดับสายการผลิตให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยใช้เทคโนโลยีการผลิตเหล็กที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ รวมถึงการพัฒนาระบบจัดการวัตถุดิบเหล็กรีไซเคิลเพื่อลดต้นทุน และเพิ่มความคล่องตัวในกระบวนการผลิต ซึ่งจะช่วยสนับสนุนเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และเศรษฐกิจหมุนเวียนของประเทศ
กลุ่มนิปปอน สตีล คอร์ปอเรชั่น (NSC) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของจี สตีล และ จี เจ สตีล เป็นผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่อันดับ 4 ของโลก ได้ก่อตั้งสายการผลิตแรกในประเทศไทยมากว่า 60 ปี เริ่มจากการผลิตท่อเหล็กก่อนขยายสู่ผลิตภัณฑ์อื่นๆ โดยมีบริษัทในเครือกว่า 30 แห่ง มีพนักงานในไทยรวมกันกว่า 8,000 คน และเมื่อปี 2565 ได้เข้าร่วมลงทุนใน บมจ. จี สตีล และ บมจ. จี เจ สตีล ซึ่งเป็นผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ของไทย ปัจจุบันกลุ่มบริษัท จี สตีล และ จี เจ สตีล เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมเหล็กแผ่นรีดร้อนครบวงจรแห่งเดียวในประเทศไทย
และเป็นกลุ่มบริษัทเดียวที่ผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วนด้วยเตาอาร์คไฟฟ้า (Electric Arc Furnace) ซึ่งมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนต่ำ และยังเป็นผู้รีไซเคิลเศษเหล็กรายใหญ่ในประเทศไทย ที่ได้รับใบรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก สนับสนุนการก้าวสู่อุตสาหกรรมสีเขียวของไทย และสอดรับกับทิศทางความต้องการผลิตภัณฑ์เหล็กที่ปลดปล่อยคาร์บอนต่ำในตลาดโลก
ทั้งนี้ ประเทศไทยมีการใช้เหล็กต่อคน (Steel consumption per capita) มากที่สุดในอาเซียน คือ ประมาณ 234 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ปัจจุบันมีผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการผลิตเหล็กในประเทศไทยประมาณ 180 ราย แบ่งเป็นเหล็กทรงยาวประมาณ 100 ราย และเหล็กทรงแบนประมาณ 80 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นการผลิตเหล็กเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง (60%) รองลงมา ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ และชิ้นส่วน (20%) เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (7%) เครื่องจักร และอุปกรณ์อุตสาหกรรม (5%) และบรรจุภัณฑ์ (5%) และอื่น ๆ (3%)
โดยที่ผ่านมาตลาดเหล็กในประเทศไทยได้รับผลกระทบจากการแข่งขันอย่างรุนแรงจากภาวะ Oversupply และการเร่งระบายเหล็กจากประเทศจีนออกสู่ตลาดโลก การที่กลุ่มจี สตีล และ จี เจ สตีล ตัดสินใจขยายการลงทุนในครั้งนี้ จะเป็นการยกระดับขีดความสามารถและประสิทธิภาพการผลิตของบริษัทเหล็กในประเทศไทย รวมถึงการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อลดการปลดปล่อยคาร์บอน ซึ่งจะเป็นหัวใจสำคัญของกติกาการค้าระหว่างประเทศโดยเฉพาะตลาดกลุ่มยุโรปในอนาคต
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์