มอก. เหล็กเส้นเอื้อเตาจีนในไทย ก.อุตสาหกรรม ลุยตรวจเพิ่ม ย้ำ ผิดคือผิด!

แฉ! เหล็กเส้นที่ใช้กสร้าง สตง. โดยเตาอินดักชั่นผ่านรับรอง มอก. โดยจีนห้ามใช้ตั้งแต่ปี 2017 เอื้อจีนย้ายมาตั้งที่ไทย ด้านก.อุตสาหกรรม ลุยเก็บเหล็กตรวจเพิ่ม 21เม.ย.นี้
จากเหตุการณ์อาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) พังถล่มโดยประเด็นที่ต้องสอบสวน สืบสาวราวเรื่อง คงหนีไม่พ้น “การทุจริตคอร์รัปชั่น” ที่มีข้อสงสัยว่าอาจเกี่ยวพันกับการล็อคสเป็ค และหยิบยื่นผลประโยชน์ให้กับผู้บริหารระดับสูงของ สตง. หรือแม้แต่ พล.อ.ชนะทัพ อินทามระ ประธาน คตง. ซึ่งประเด็นข้อสงสัยทั้งหมดตั้งแต่กระบวนการ การว่าจ้างผู้ออกแบบ ผู้รับเหมา และผู้ควบคุมงานก่อสร้าง มีความจำเป็นต้องมีการสืบสวนสอบสวนอย่างละเอียด และให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยไม่สามารถตัดตัวละครตัวใดตัวหนึ่งออกไปได้
และอีกเรื่องที่สื่อมวลชนติดตามเกาะติดมาโดยตลอด คือ คุณภาพของเหล็กที่ใช้ในการก่อสร้างอาคาร สตง. ซึ่งเบื้องต้นเมื่อวันที่ 31 มี.ค. 68 สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย (ITSI) ได้แถลงผลตรวจสอบเหล็กตัวอย่างที่เก็บจากซากอาคาร สตง. ถล่ม และพบเหล็กบางส่วนไม่ได้มาตรฐาน โดยมาตรฐาน มอก.24-2559 ระบุมาตรฐานของเหล็ก SD50 เอาไว้ว่าจะต้องมีความต้านแรงดึงที่จุดคราก (จุดที่ถ้าเหล็กถูกดึงถึงจุดนี้แล้วจะไม่คืนสภาพ) จะไม่ต่ำกว่า 490 Mpa (เมกะพาสคาล) หรือ 4,900 กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตร
ดังนั้น สิ่งที่ต้องดำเนินการต่อจากนี้ คือ การเก็บตัวอย่างเหล็กจากทั้ง 3 บริษัท ที่ใช้ในการก่อสร้างอาคาร ได้แก่ SKY (บริษัทซินเคอหยวน ซึ่งเป็นผู้ผลิตจากจีน) TATA (บริษัท ทาทา สตีล ผู้ผลิตจากอินเดีย) และ TYS (เครือบริษัทไทยคูณ ผู้ผลิตจากจีนร่วมทุนกับไทย) มาตรวจสอบเพิ่ม เพื่อให้ผลการทดสอบสามารถยืนยันได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ รวมทั้งต้องมีการตรวจสอบโดยใช้กล้องจุลทรรศน์ตรวจสอบจุลภาคโลหะ (Metallurgical Microscope) เพื่อลงลึกในรายละเอียดทางวิศวกรรมโลหะการ เพื่อให้การสรุปผลมีความถูกต้องแม่นยำตามหลักวิศวกรรม
อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ต้องลงลึกให้มากกว่าคุณภาพของเหล็ก คือ กระบวนการผลิตเหล็ก เนื่องจากบริษัทจีนที่เข้ามาตั้งโรงงานผลิตเหล็กในไทย ส่วนใหญ่จะใช้เตาเตาอินดักชั่น (Induction Furnace) โดยเหล็กที่ผลิตด้วยวิธีนี้ จะมีสัญลักษณ์ IF ระบุไว้ที่ท้ายของตัวบาร์มาร์ก (รหัส) ที่ปรากฏบนเหล็ก ซึ่งประเทศจีนได้ห้ามไม่ให้มีการผลิตเหล็กโดยใช้เตาอินดักชั่น ตั้งแต่ปี 2017 แล้ว เนื่องจากการผลิตเหล็กด้วยเตาอินดักชั่นนั้น ไม่สามารถควบคุมคุณภาพของเหล็กได้อย่างมีประสิทธิภาพ เหล็กที่ผลิตด้วยเตาอินดักชั่น หากต้องการเหล็กที่มีคุณภาพสูงจะต้องมีกระบวนการในการควบคุมวัตถุดิบอย่างเข้มงวดมาก ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วเป็นไปได้ยากมากๆ
แหล่งข่าวจากอุตสาหกรรมเหล็ก กล่าวว่า ที่ผ่านมามาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เหล็กเส้นเสริมคอนกรีต เหล็กข้ออ้อย ของประเทศไทย ตั้งแต่ มอก.24-2536 มอก.24-2543 มอก.24-2548 ไม่เคยระบุถึงการผลิตด้วยวิธีเตาอินดักชั่น (Induction Furnace) มาก่อน ซึ่งในแวดวงอุตสาหกรรมการผลิตเหล็กจะทราบกันดีว่า การผลิตเหล็กที่ผู้ประกอบการไทยใช้จะมีอยู่ 3 วิธี คือ การใช้เตาอิเล็กทริก (Electric Arc Furnace) เตาโอเพนฮาร์ธ (Open Hearth Furnace) ปัจจุบันเลิกใช้แล้ว และเตาเบสิกออกซิเจน (Basic Oxygen Furnace)
ดังนั้น สิ่งสำคัญจึงอยู่ที่มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เหล็กเส้นเสริมคอนกรีต เหล็กข้ออ้อย มอก.24-2559 ที่อยู่ดีๆ ก็ระบุถึงกรรมวิธีการผลิตเหล็กแบบอินดักชั่นเฟอร์เนซ โดยกำหนดขึ้นมาเพื่อให้บริษัทจีนย้ายโรงงานผลิตเหล็กที่ประเทศไม่ผลิตแล้วให้มาตั้งที่ประเทศไทย ดังนั้น คณะกรรมการวิชาการคณะที่ 9 ซึ่งกำกับดูแลมาตรฐานเหล็กเส้นเสริมคอนกรีต อาจจะต้องชี้แจงต่อสังคมว่า เหตุใดถึงกำหนดกรรมวิธีการผลิตเหล็กด้วยเตาอินดักชั่น เอาไว้ในมาตรฐาน มอก.24-2559
นอกจากนี้ ปัจจุบันหากพิจารณาร่างมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เหล็กเส้นเสริมคอนกรีต เหล็กข้ออ้อย มอก.24-25xx ที่กำลังจะปรับปรุงใหม่ ยังมีการขยายขอบเขตค่าควบคุม “โบรอน” จากเดิม ค่าสูงสุดต้องไม่เกินร้อยละ 0.0008 เป็นร้อยละ 0.003 พร้อมกับถอดวลีที่ระบุว่า “เหล็กเส้นเสริมคอนกรีต ต้องเป็นเหล็กกล้าคาร์บอน” ออกจากมาตรฐานอุตสาหกรรม ซึ่งการทำเช่นนี้ ถูกตั้งข้อสังเกตจากแวดวงวิศวกรรมว่า อาจจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ผลิตเหล็กที่ใช้เตาอินดักชั่น ที่มีข้อจำกัดในการควบคุมคุณภาพ และยังเป็นการเปิดช่องให้กับเหล็กเส้นที่นำเข้าจากประเทศจีน ซึ่งจะส่งผลต่อผู้ประกอบการไทยเป็นอย่างมาก
สำหรับข้อสังเกตเกี่ยวกับสัญลักษณ์ตัว T จากการปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมโลหะการ พบว่า เป็นการบ่งชี้ถึงกรรมวิธีการผลิตเท่านั้น โดยเหล็กข้ออ้อยที่ผ่านกรรมวิธีทางความร้อน โดยการทำให้เย็นโดยการฉีดสเปรย์น้ำ จะมีสัญลักษณ์ T กำกับ โดยทางทฤษฎีแล้ว พบว่า คุณสมบัติทางกล ทั้งการรับแรงดึง ความยืด การดัดโค้ง การต่อเหล็กข้ออ้อย ได้แก่การทาบ การต่อเชื่อม และความทนทางต่อไฟไม่ต่างกันมากนัก หากใช้งานถูกต้องตามหลักวิศวกรรม ดังนั้น คำถามเกี่ยวกับสัญลักษณ์ T จึงเป็นเพียงคำถามประกอบเท่านั้น
"คำถามสำคัญต่อกรณีนี้อ คือ มอก.24-2559 ไปรับรองการผลิตเหล็กด้วยเตาอินดักชั่น เพื่อให้โรงงานเหล็กที่ประเทศจีนโละทิ้ง ย้ายมาตั้งที่ประเทศไทย ทำไม มีใครได้ประโยชน์จากการรับรองการผลิตเหล็กด้วยเตาอินดักชั่น หรือไม่" แหล่งข่าว กล่าว
นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กรณีการตรวจสอบเหล็กเส้นที่เก็บตัวอย่างมาจากอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่ม นั้น นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่และผู้เกี่ยวข้องดำเนินการด้วย "ความโปร่งใส" ต้องถูกต้องตามกระบวนการ เปิดเผยข้อมูลทุกขั้นตอน และสามารถตรวจสอบได้
ทั้งนี้ ได้รับแจ้งผลการทดสอบเหล็กเส้น sky (ซินเคอหยวน) จากตึก สตง. เมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2568 โดยสถาบันเหล็กฯ มีผลเป็นไปตามข่าวก่อนหน้านี้คือ มีเหล็ก 3 ชนิดที่ตกค่ามาตรฐาน มอก. ได้แก่ 1. เหล็กข้ออ้อย 12 มิลลิเมตร ตกทดสอบความสูงของบั้ง (การยึดเกาะกับปูน) 2. เหล็กข้ออ้อย 20 มิลลิเมตร ตกทดสอบค่าเหล็กเบา (มวลต่อเมตร) 3. เหล็กข้ออ้อย 32 มิลลิเมตร ตกทดสอบค่าแรงดึง (การรับแรง)
และเมื่อวันที่ 11 เม.ย. ที่ผ่านมา กระทรวงฯ โดยทีมสุดซอย ได้ร่วมกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และผู้แทนอิตาเลียนไทย ได้เข้าเก็บตัวอย่างเหล็กเพิ่มเติมจากบริเวณตึก สตง. ถล่ม อีกครั้ง
ซึ่งการเก็บตัวอย่างเหล็กเส้นหลายจุดหลากหลายชนิดและขนาดจำเป็นต้องเลือกชุดตัวอย่างให้ครบ 5 เส้น/ชั้นคุณภาพ/ขนาด/ยี่ห้อ เพื่อให้เป็นไปตามหลักวิชาการเรื่องการชักตัวอย่างและการตัดสิน โดยได้ตัวอย่างเหล็กเส้นเพิ่มจำนวน 8 ชนิด ชนิดละ 5 ท่อน รวมทั้งสิ้น 40 ท่อน และจะทำการตรวจสอบตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ในวันที่ 21 เม.ย.นี้ โดยสถาบันเหล็กฯ เพื่อให้ได้ข้อมูลในการดำเนินการเอาผิดต่อผู้กระทำผิดตามกฎหมายต่อไป ในส่วนของการตรวจสอบหากพบเจ้าหน้าที่คนใดที่มีส่วนเกี่ยวข้องก็ต้องได้รับโทษด้วย ไม่มีการช่วยเหลือใดๆ
"ในวันที่ 21 เม.ย.นี้ สถาบันเหล็กฯ จะทดสอบทุกรายการตามมาตรฐาน มอก. 24-2559 ดังนี้ 1. มวลต่อเมตร 2. ช่วงระหว่างบั้ง ส่วนสูงของบั้ง และความกว้างครีบ 3. ส่วนประกอบทางเคมี 4. ความต้านแรงดึง (Tensile) 5. ความต้านแรงดึงที่จุดคราก (Yield strength) 6. ความยืด (Elongation) และ 7. ความดัดโค้ง (Bending) 8. มุมระหว่างบั้งครีบแกนของเหล็ก 9. เครื่องหมายที่เหล็กข้ออ้อย"
ทั้งนี้ ผลการตรวจสอบหากผิดก็ว่าผิด ถูกก็ว่าถูก ทุกอย่างเป็นไปตามกติกา ไม่ควรมีระบบสอบตก ขอครูสอบใหม่ ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะผ่าน อันนั้นไม่ถูกต้อง สิ่งที่สำคัญคือความปลอดภัยของประชาชน หากผู้ผลิตมีความผิด ก็ต้องรับโทษ-ยึดใบอนุญาต-ปิดโรงงาน ตามขั้นตอน เพราะสังคมคาดหวัง และเราจะไม่ให้ที่ยืนกับโรงงานไม่ปฏิบัติตามกฎหมายอีกต่อไป