โมเดลญี่ปุ่นพัฒนา เอนเตอร์เทนเมนต์ กม.คุมลงทุน รีสอร์ทครบวงจร

โมเดลญี่ปุ่นพัฒนา เอนเตอร์เทนเมนต์ กม.คุมลงทุน รีสอร์ทครบวงจร

ญี่ปุ่นเดินหน้าสร้างรีสอร์ทครบวงจร พร้อมกาสิโน หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ หนุนท่องเที่ยว แข่งเวทีโลกภายใต้กรอบกฎหมายควบคุมเข้มโดยมีการออกกฎหมายมา 2 ฉบับ

KEY

POINTS

  • ส่องโมเดลพัฒนาเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ฉบับญี่ปุ่นออกกฎหมาย 2 ฉบับ หนุนการจัดตั้งรีสอร์ทครบวงจร (IR) พร้อมกาสิโน
  • โครงการ IR แห่งแรกสร้างที่เกาะยูเมะชิมะ เมืองโอซาก้า เปิดปี 2030
  • รัฐบาลกำหนดนโยบายหลัก ให้เอกชนดำเนินการภายใต้การควบคุม
  • เป้าหมายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ท่องเที่ยว และเพิ่มการแข่งขันระดับโลกแต่มีการวางเงื่อนไขป้องกันปัญหาทางสังคมอย่างเคร่งครัด 

การสร้างเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ที่มีกาสิโนเป็นส่วนประกอบหนึ่งของโครงการ ปัจจุบันมีการผลักดันโมเดลนี้ในหลายประเทศ โดยมีจุดมุ่งหวังให้เป็นจุดมุ่งหมายของการท่องเที่ยวในประเทศที่มนุษย์สร้างขึ้น (Man-made destination) นอกจากรัฐบาลไทยที่กำลังผลักดันกฎหมายเพื่อรองรับการสร้างเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์อีกประเทศหนึ่งที่มีโครงการในลักษณะเดียวกันก็คือญี่ปุ่น

ญี่ปุ่นมีโครงการพัฒนาเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ครบวงจร หนุนเศรษฐกิจ-การท่องเที่ยวภายใต้ชื่อ “โครงการรีสอร์ทครบวงจร” หรือ “Integrated Resort” โดยก่อสร้างเป็นแห่งแรกของญี่ปุ่น ตั้งอยู่บนเกาะยูเมะชิมะในอ่าวโอซาก้า มีกำหนดการเปิดให้บริการประมาณฤดูใบไม้ร่วงปี 2030 โดยการก่อสร้างโครงการนี้คาดว่าจะเริ่มขึ้นในเดือนเมษายน ปี 2025 Integrated Resort (IR) ซึ่งรวมถึงกาสิโน ศูนย์การประชุม และสิ่งอำนวยความสะดวกด้านวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว

แนวคิดเรื่องการสร้างเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ในญี่ปุ่นเริ่มเป็นรูปเป็นร่างอย่างจริงจังในช่วงปลายทศวรรษ 2000 ท่ามกลางแรงกดดันจากภาคธุรกิจและกลุ่มนักวิชาการที่เห็นว่า ญี่ปุ่นควรเปิดประตูรับการลงทุนด้านกาสิโนอย่างถูกกฎหมาย เพื่อเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยว โดยเฉพาะหลังจากการเปิดตัวรีสอร์ทแบบครบวงจรในประเทศอื่น ๆ อย่างสิงคโปร์และมาเก๊า ที่สร้างรายได้มหาศาลในเวลาอันรวดเร็ว

โมเดลญี่ปุ่นพัฒนา เอนเตอร์เทนเมนต์ กม.คุมลงทุน รีสอร์ทครบวงจร

รัฐบาลญี่ปุ่นเดินหน้าส่งเสริมการพัฒนา Integrated Resort อย่างเป็นระบบ โดยมีการตรากฎหมายสำคัญ 2 ฉบับ เพื่อรองรับการจัดตั้งสถานบันเทิงแบบครบวงจรที่รวมถึงกาสิโน และสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการท่องเที่ยว การประชุม และวัฒนธรรม เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและยกระดับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศ

กฎหมายสองฉบับกำหนดทิศทาง Integrated Resort

ประเทศญี่ปุ่นได้มีการตรากฎหมายที่เกี่ยวกับการตั้งหรือการเปิดสถานบันเทิงและกาสิโน จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่
กฎหมายฉบับแรกได้แก่ กฎหมาย Act on Promotion of Development of Specified Integrated Resort Districts (Act No. 115 of December 26, 2016) กฎหมายนี้ถูกตราขึ้นในปี พ.ศ. 2559 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดหลักการพื้นฐานในการส่งเสริมโยบายการพัฒนาพื้นที่สำหรับจัดตั้งสถานบันเทิงครบวงจร หรือ Integrated Resort (IR) ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจภูมิภาคเจริญเติบโตและก้าวหน้า รวมถึงช่วยสนับสนุนการลงทุนของภาครัฐให้เกิดความสะดวกและครอบคลุมพื้นที่ต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ สถานบันเทิงครบวงจรตามกฎหมายนี้ประกอบไปด้วย กาสิโน ศูนย์ประชุม สถานที่สันทนาการ สถานที่จัดการแสดง ที่อยู่อาศัย และสถานที่อื่นใดที่มีผลต่อการส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยว ซึ่งทั้งหมดนี้ดำเนินการโดยเอกชน ในส่วนของสถานที่ตั้งสถานบันเทิงครบวงจรนั้น ได้ให้อำนาจรัฐบาลญี่ปุ่นเป็นผู้กำหนดว่าควรจะตั้งอยู่ในพื้นที่ใด

โดยต้องคำนึงถึงหลักการพื้นฐานของการส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ ศักยภาพการแข่งขันในอุตสาหกรรมตลาดการท่องเที่ยว ความเข้มแข็งของภาคเอกชน รวมถึงประโยชน์ในทางเศรษฐกิจที่ภูมิภาคนั้นจะได้รับ ตลอดจนการจัดสรรผลกำไรจากธุรกิจกาสิโนที่จะตอบแทนสู่สังคม

ให้บทบาทรัฐบาลท้องถิ่นเสนอแนวทางพัฒนา

ที่สำคัญ การประกอบธุรกิจกาสิโนจะต้องอยู่ในการควบคุมและกำกับดูแลโดยรัฐบาล ภายใต้การกำหนดมาตรการที่เหมาะสม ซึ่งหน้าที่ของรัฐบาลในการจัดตั้ง Specified Integrated Resort Districts คือ รัฐบาลมีหน้าที่ดำเนินการที่จำเป็นเพื่อสะท้อนถึงเอกลักษณ์ของท้องถิ่น ทำให้เกิดความมั่นใจในการที่จะทำให้การพัฒนาท้องถิ่นนั้นประสบผลสำเร็จตามความมุ่งหมาย และกลายเป็นจุดหมายของการท่องเที่ยวที่สามารถแข่งขันได้ในระดับประเทศ ทั้งนี้ จะต้องคำนึงถึงแนวคิดและความต้องการของท้องถิ่นนั้น ๆ ด้วย

นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีมาตรการส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องในระดับสากล รวมถึงมาตรการอื่น ๆ ที่จะทำให้มั่นใจได้ว่าการพัฒนา Specified Integrated Resort Districts จะทำให้เกิดการจ้างงานเพิ่มและสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจภูมิภาค

นอกจากนั้น ในมาตรา 5 ของกฎหมายดังกล่าวได้กำหนดให้กรณีรัฐบาลมีความจำเป็นต้องตรากฎหมายเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ รัฐบาลสามารถตรากฎหมายเพิ่มเติมได้ภายใน 1 ปี หลังจากใช้บังคับไปแล้วด้วย

สำหรับกฎหมายฉบับที่ 2 คือ  Act on Development of Specified Integrated Resort Districts (Act No. 80 of July 27, 2018) กฎหมายนี้ได้ถูกตราขึ้นในปี พ.ศ. 2561 เพื่อขยายความในหลักการพื้นฐานและเจตนารมณ์ของกฎหมายเดิมที่ออกในปี พ.ศ. 2559 โดยแยกออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรกเกี่ยวข้องกับการจัดตั้งสถานบันเทิงครบวงจร (Specified Integrated Resort) และอีกส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดตั้งและกำกับดูแลสถานกาสิโน

ซึ่งในส่วนของกาสิโน กฎหมายฉบับดังกล่าวได้ขยายความหมายของ Specified Integrated Resort ว่าให้หมายความรวมถึงกลุ่มของสถานที่ที่ประกอบด้วยกาสิโนและสถานที่อื่น ๆ ซึ่งก่อตั้งและดำเนินการเช่นเดียวกัน โดยผู้ประกอบธุรกิจเอกชน เช่น สถานที่จัดประชุมนานาชาติ สถานที่จัดงานแสดงสินค้า สถานที่ซึ่งใช้ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวและใช้ในการแสดงศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี และสถานที่อื่น ๆ ตามคณะรัฐมนตรีกำหนด

ทั้งนี้ ในการดำเนินการจัดตั้ง Specified Integrated Resort Districts นั้น รัฐบาลจะเริ่มต้นด้วยการจัดทำนโยบายพื้นฐาน ซึ่งประกอบด้วยวัตถุประสงค์ของการพัฒนา มาตรการในการส่งเสริมการดำเนินกิจการ และรายละเอียดเกี่ยวกับการอนุมัติแผนการพัฒนาพื้นที่

ในขณะที่ท้องถิ่นมีหน้าที่จัดทำนโยบายเชิงปฏิบัติการให้สอดคล้องกับนโยบายพื้นฐาน โดยกำหนดรายละเอียด เช่น ตำแหน่งและขนาดของพื้นที่ที่จะพัฒนาเป็น Specified Integrated Resort Districts ลักษณะของอาคารที่จะก่อสร้าง รวมถึงรายละเอียดเกี่ยวกับการเชิญชวนและการคัดเลือกเอกชนเพื่อดำเนินการ ตลอดจนมาตรการที่จำเป็นเพื่อจำกัดผลกระทบทางลบที่จะมีต่อท้องถิ่นจากการตั้งสถานกาสิโน

ในกรณีที่ท้องถิ่นไม่สามารถทำนโยบายเชิงปฏิบัติการได้ เอกชนที่ประสงค์จะเป็นผู้ดำเนินการอาจจัดทำนโยบายดังกล่าวเสนอต่อท้องถิ่นก็ได้

จะเห็นได้ว่าญี่ปุ่นได้มีการออกกฎหมายเพื่อส่งเสริมและควบคุมการจัดตั้ง IRที่มีทั้งกาสิโน ศูนย์ประชุม และสถานบันเทิงอื่นๆ  โดยกำหนดให้รัฐบาลมีบทบาทหลักในการกำหนดพื้นที่และนโยบายพัฒนา โดยเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาดำเนินการ

โดยเมื่อกฎหมายแล้วเสร็จทำให้ IR ที่จะสร้างขึ้นนั้นมีเส้นทางเดินที่เป็นเป้าหมายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และสร้างความสามารถในการแข่งขันระดับสากล พร้อมควบคุมผลกระทบเชิงลบต่อท้องถิ่น