พ.ร.บ.ซอฟต์พาวเวอร์จ่อเข้า ครม. ‘สุรพงษ์’ ดันตั้ง THACCA ต้นปี 69

พ.ร.บ.ซอฟต์พาวเวอร์จ่อเข้า ครม.  ‘สุรพงษ์’ ดันตั้ง THACCA ต้นปี 69

“สุรพงษ์” เผยคืบหน้าดันนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ ร่าง พ.ร.บ.ใกล้เข้า ครม.ดันตั้ง “THACCA” ไตรมาส 1 ปีหน้า จับเขาคุยเอกชน ราชการ ผลักดันงานซอฟต์พาวเวอร์ตอบโจทย์เศรษฐกิจ

KEY

POINTS

  • น.พ.“สุรพงษ์” เผยคืบหน้าดันนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ ร่าง พ.ร.บ.ใกล้เข้า ครม.ดันตั้ง “THACCA” ไตรมาส 1 ปีหน้า
  • เผยการทำงานจับเขาคุยเอกชน ราชการ ผลักดันงานซอฟต์พาวเวอร์ตอบโจทย์เศรษฐกิจ 
  • เพิ่มมูลค่างานอีเวนต์สร้างภาพจดจำระดับโลก หนุนเพิ่มรายได้ท่องเที่ยวไทย
  • จ่อเพิ่มสาขาซอฟต์พาวเวอร์อีก 4 เรื่อง ดันอัพสกิล รีสกิล คู่สร้างอาชีพ-ทักษะใหม่คนไทย

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี  รองประธานที่ปรึกษา คณะที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการขับเคลื่อนนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ของรัฐบาลว่านโยบายนี้ถือว่าเป็นนโยบายสำคัญที่จะเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจ และสร้างเครื่องยนต์เศรษฐกิจใหม่ให้กับประเทศเพราะอุตสาหกรรมเดิมที่เป็นบุญเก่าของประเทศไทยมาตั้งในอดีตนั้นไม่สามารถที่จะเติบโตได้มากอีกแล้ว

ดังนั้นซอฟต์พาวเวอร์จึงเป็นเสมือนไพ่ในมือที่เราสามารถสร้างให้เป็นอุตสาหกรรมและแข่งขันทางเศรษฐกิจได้ในภาวะโลกเข้า “ยุคบานี่” (BANI World)ที่เต็มไปด้วยความเปราะบาง ความวิตกกังวล การเปลี่ยนแปลงที่ไม่เป็นเส้นตรง และความเข้าใจสถานการณ์ที่ยากขึ้น ​

นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่าปัจจุบันการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ของรัฐบาลถือว่าเดินตามโรดแมปที่กำหนดไว้ตั้งแต่เดือน ต.ค.2564 เพื่อสร้างเครื่องยนต์เศรษฐกิจใหม่ให้กับประเทศไทย

ดึงเอกชน-ราชการ สร้างเครื่องยนต์เศรษฐกิจ

ที่ผ่านมาระหว่างการผลักดันและจัดทำร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ ได้มีการทำงานร่วมกับภาคเอกชนและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องมาวางแผนในการขับเคลื่อนงานต่างๆออกมาซึ่งเป็นมิติการทำงานใหม่ที่ขับเคลื่อนไปด้วยเอกชน มีหน่วยงานราชการสนับสนุนการทำงาน และงบประมาณ ซึ่งที่ผ่านมาเริ่มมีผลงานออกมาสู่สายตาประชาชนมากขึ้น และได้รับความร่วมมือกับหน่วยงานราชการที่เข้ามาร่วมทำงานในการคิดโครงการตั้งแต่ต้น

พ.ร.บ.ส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ จ่อเข้าครม.

สำหรับความคืบหน้าของการผลักดันร่างกฎหมาย พ.ร.บ.ส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ พ.ศ...นพ.สุรพงษ์กล่าวว่ากฎหมายฉบับนี้ร่างขึ้นโดยคณะกรรมการกฤษฎีกาปัจจุบันกฎหมายได้ร่างเสร็จแล้วเตรียมที่จะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเร็วๆนี้ จากนั้นจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯและคาดว่าจะสามารถผ่านร่างกฎหมายได้ภายในช่วงต้นปี 2569

 จากนั้นจะเดินหน้าตั้งสำนักงานส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ (THACCA) หรือ “ทักก้า” ขึ้นมาเพื่อเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ซึ่งคาดว่าจะตั้งสำนักงานภายในไตรมาส 1 ปี 2569  โดยหน่วยงานนี้จะทำหน้าที่เป็น “Super Agency” ในการสนับสนุนซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศในด้านต่างๆ เหมือนกับหน่วยงานของเกาหลีใต้ที่ทำหน้าที่นี้โดยเฉพาะ

โดยในระยะเปลี่ยนผ่านจะมีบทเฉพาะกาลที่ใหม่สำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) ดำเนินการแทนทักก้าชั่วคราว จากนั้น CEA จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทักก้า เช่น เดียวกับหน่วยงานอื่นๆที่มีกรอบการทำงาน และงบประมาณในการสนับสนุนซอฟต์พาวเวอร์ก็จะยุบรวมเข้ามาอยู่ภายใต้ทักก้า เช่น สถาบันอาหาร สถาบันสิ่งทอ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) เป็นต้น

โดยการทำงานของทักก้าภายในจะสนับสนุนให้มีการตั้งสภาต่างๆเพื่อส่งเสริมการทำงานของเอกชน และกลุ่มคนที่มีความรู้ในเรื่องต่างๆ เช่น สภาภาพยนตร์ สภาศิลปะ สภาหนังสือแห่งชาติ เป็นต้น

วางบอร์ด 3 ระดับเคลื่อนนโยบายซอฟต์พาวเวอร์

โดยโครงสร้างการบริหารตามร่าง พ.ร.บ.จะประกอบไปด้วยบอร์ด 3 ระดับคือ บอร์ดคณะกรรมการนโยบาย ที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ระดับรองลงมาคือบอร์ดคณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ และในระดับสุดท้ายก็คือบอร์ดย่อยของแต่ละอุตสาหกรรม โดยการใช้งบประมาณจะมาเสนอโครงการผ่านมาที่ทักก้า โดยเพื่อกลั่นกรองการทำงบประมาณให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์และกิจกรรมที่มีการวางแผนงานการขับเคลื่อนในแต่ละปีซึ่งเป็นการทำครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

“การทำงานแบบนี้ต่างจากในอดีตที่ประเทศไทยมีงบประมาณในด้านนี้ที่กระจายอยู่ตามหน่วยงานต่างๆ 5-6 พันล้านบาทแต่ไม่ได้วางยุทธศาสตร์ร่วมกันว่าการใช้งบประมาณจะทำให้เกิดประโยชน์กับประเทศอย่างใดบ้าง โดยการส่งเสริมต่อไปต้องวัดผลทางเศรษฐกิจ และแข่งขันกับระดับโลกได้เช่น งานมหกรรมสงกรานต์ก็ต้องยกระดับให้เป็นงานระดับเดียวกับทศกาลคาร์นิวัลแห่งบราซิลให้ได้” 

เตรียมเพิ่ม 4 สาขาซอฟต์พาวเวอร์ 

นพ.สุรพงษ์กล่าวว่าจากการหารือกับภาคเอกชนจะมีการเพิ่มสาขาซอฟต์พาวเวอร์จาก 11 อุตสาหกรรมเป็น 15 อุตสาหกรรม เพื่อให้มีการส่งเสริมได้ตรงเป้าหมายมากขึ้น โดย 4 สาขาที่เพิ่มมาได้แก่ 

  1. ละครและซีรี่ย์ 
  2. ศิลปะการแสดง  
  3. ซอฟต์พาวเวอร์ในเรื่องของ Wellness ที่ปัจจุบันการให้ความสำคัญในเรื่องของการออกแบบประสบการณ์ที่เป็น การทำสมาธิ การฝึกสติ (Mindfulness) ถือว่าได้รับความนิยมมากขึ้น และไทยเรามีพื้นฐานในเรื่องนี้อยู่แล้วสามารถต่อยอดเป็นธุรกิจได้
  4. อุตสาหกรรมโฆษณา ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมที่มีเม็ดเงินมาก และประเทศไทยก็มีบุคลากรที่เก่งในเรื่องนี้จำนวนมากที่ในอดีตอุตสาหกรรมนี้ถือว่ามียุคสมัยที่รุ่งเรืองมาก่อน

สร้าง 20 ล้านคนนักรบซอฟต์พาวเวอร์

เขากล่าวด้วยว่าการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์นอกจากขับเคลื่อนอุตสาหกรรมและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับซอฟต์พาวเวอร์ทั้ง 15 สาขาแล้ว ยังเป็นการอัพสกิลและรีสกิลประชาชนในประเทศครั้งใหญ่เพื่อสร้าง “นักรบซอฟต์พาวเวอร์” ของประเทศ โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ 20 ล้านคนภายในปี 2570  โดยขณะนี้ได้เปิดระบบให้เริ่มมีการลงทะเบียนเข้ามาเรียนออนไลน์แล้วในบางสาขาเช่นเรื่องของการเรียนทำอาหาร

ปัจจุบันมีผู้เรียนสำเร็จแล้ว 1,300 คน โดยผู้ที่สนใจเรียนสามารถสมัครเรียนผ่านเว็บไซด์ THACCA Academy มีระบบวัดผล และออกเป็นใบรับรองที่ต่อไปสามารถใช้ไปสมัครในการทำงานได้ 

การฝึกอบรมนี้จะไปตอบโจทย์เป้าหมายใหญ่ ที่รัฐบาลจะส่งเสริมให้มีร้านอาหารไทยทั่วโลก 100,000 แห่ง ซึ่งก็ต้องมีการฝึกอบรมเชฟคนไทยแล้วส่งออกไปยังร้านอาหารทั่วโลก เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีโครงการอัพสกิลรีสกิลอีกหลายสาขาที่ดำเนินการไปแล้ว เช่น ภาพยนตร์ มวยไทย ซึ่งจะช่วยเพิ่มความรู้ ทักษะให้กับคนไทยถือว่าเป็นแพลตฟอร์มในเรื่องนี้ที่มีขนาดใหญ่อย่างไม่เคยมีมาก่อน

พ.ร.บ.ซอฟต์พาวเวอร์จ่อเข้า ครม.  ‘สุรพงษ์’ ดันตั้ง THACCA ต้นปี 69

“การอัพสกิลรีสกิลเป็นเรื่องที่เราพูดกันมาตลอด ตอนที่ผมบอกว่าจะทำ 20 ล้านคนในการเพิ่มทักษะ ฝีมือ นั้นคนก็บอกว่าเป็นไปไม่ได้ แต่เมื่อเรามีระบบแพลตฟอร์มที่ทำได้ตรงนี้จึงถือว่าเป็นโอกาสครั้งใหญ่ที่จะพัฒนาฝีมือแรงงานของคนไทยขึ้นมาได้ โดยการอัพสกิลจะไม่มีการมานั่งพูดกันเรื่องทฤษฎีแล้ว แต่เราต้องจับมือทำเพื่อสร้างคนที่มีทักษะในซอฟต์พาวเวอร์แต่ละสาขาสามารถทำงานได้จริง” นพ.สุรพงษ์กล่าว