BOI ระบุเทรนด์ลงทุน 10 ปีข้างหน้า เพิ่มดีมานด์ไฟฟ้าสีเขียว 2 เท่า

พลังงานแบบใดที่จะตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมในยุคอนาคต ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีเอไอ ซึ่งทำให้ความต้องการไฟฟ้าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล
กรุงเทพธุรกิจ จัดงานเสวนาโต๊ะกลมหัวข้อ “SMR ทางเลือก หรือ ทางรอด GREEN ENERGY” วันที่ 18 มี.ค.2568 ที่โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากภาครัฐ เอกชน และนักวิชาการ ร่วมแสดงความคิดเห็นในหลายแง่มุมเกี่ยวกับการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็ก (Small Modular Reactor: SMR)
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวตอนหนึ่งว่า ปัจจุบัน ภาคอุตสาหกรรมมีการใช้ไฟฟ้ากว่าครึ่งหนึ่งของการใช้ไฟฟ้าทั้งประเทศ และในอนาคตก็มีแนวโน้มว่าความต้องการจะเพิ่มขึ้นอีกในช่วงที่กำลังเกิดการปรับเปลี่ยนโครงสร้างไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ ที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการผลิต
รวมทั้งที่กำลังเข้ามาลงทุนในประเทศไทย
ซึ่งล่าสุด บีโอไอได้มีการอนุมัติบัตรส่งเสริมการลงทุนโครงการดาต้าเซ็นเตอร์ขนาดใหญ่ 3 แห่ง มีความต้องการใช้ไฟฟ้ารวมกันราว 300 เมกะวัตต์ นอกจากนั้นยังมีอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงขึ้นมาก เช่น เซมิคอนดักเตอร์ และอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) และแบตเตอรี่
นอกจากนี้ เทรนด์ความต้องการพลังงานของโลกเองก็กำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดเช่นกัน เพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ หลายบริษัทต่างก็มีเป้าหมายที่ชัดเจนในการลดการปล่อยคาร์บอน โดยการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาดเพิ่มขึ้นไปสู่ RE100 หรือ พลังงานสะอาด 100%
ทั้งนี้ ความต้องการพลังงานสะอาดที่สูงขึ้นนั้น ประเทศไทยเองก็มีแผนดึงดูดการลงทุนใหม่ โดยกระทรวงพลังงานเตรียมกลไกการจัดหาพลังงานสะอาด (Utility Green Tariff : UGT) การจัดทำ Direct PPA และการเปิดให้ซื้อไฟผ่านบุคคลที่สาม
“อย่างไรก็ตาม พลังงานสะอาดดั้งเดิมที่เราใช้อยู่ไม่ว่าจากโซลาร์ หรือลม ยังมีข้อจำกัด ไม่มีความเสถียร ทั้งยังต้นทุนการใช้แบตเตอรี่เพื่อกักเก็บพลังงาน และต้นทุนการใช้ที่ดินในการทำโซลาร์ฟาร์ม ดังนั้น SMR จึงเป็นหนึ่งในทางเลือกสำคัญ”
นายนฤตม์ กล่าวต่อว่า เรากำลังมองความเป็นไปได้ว่าจะทำให้เกิดการใช้พลังงานสะอาดเแบบไฮบริดได้หรือไม่ โดยการผสมพลังงานสะอาดดั้งเดิมและ SMR เพื่อให้เกิดเสถียรภาพและความยืดหยุ่น รวมทั้งก้าวข้ามข้อจำกัดของ SMR เรื่องต้นทุนของเทคโนโลยีและค่าเชื้อเพลิง รวมทั้งสร้างการยอมรับของประชาชนอีกด้วย
นอกจากนี้ สิ่งที่ต้องเตรียมพร้อมคือบุคลากรที่มีองค์ความรู้ เทคโนโลยีในการกำจัดกากกัมตรังสีและการนำกลับมารีไซเคิล เพื่อทำให้ SMR เป็นทางเลือกที่สำคัญของอุตสาหกรรมในอนาคต
นายนนฤตม์ กล่าวต่อว่า 2 เรื่องสำคัญที่บริษัทขนาดใหญ่เข้ามาพูดคุยกับบีโอไอเพื่อตัดสินใจลงทุน คือเรื่องปัญหาความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ และความต้องการไฟฟ้ามีเสถียรภาพและเป็นพลังงานสะอาด
ซึ่งข้อกังวลที่นักลงทุนให้ความสำคัญคือไทยมีไฟฟ้าที่เพียงพอหรือไม่ รวมทั้งมีพลังงานสะอาดหรือไม่ด้วย ซึ่งอุตสาหกรรมใหม่ๆ ต้องการไฟฟ้าสะอาดมากกว่าการซื้อใบรับรองการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (REC) เป็นไฟฟ้าที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับไปถึงผู้ผลิตได้
ทั้งนี้ SMR จะมาตอบโจทย์ความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ซึ่งมองว่าการลงทุนใหม่ๆ ที่จะเข้ามาใน 10 ปีข้างหน้า จะทำให้ความต้องการพลังงานไฟฟ้าสะอาดอาจขยายตัวเป็น 2 เท่าตัว จากช่วง 10 ปีที่ผ่านมา