EEC สู้ศึก ‘มาเลเซีย - สิงคโปร์’ ปิดเกมดึงลงทุน ชนเขตเศรษฐกิจใหม่

สกพอ.เตรียมชงบอร์ดอีอีซี สู้เขตเศรษฐกิจพิเศษยะโฮร์ - สิงคโปร์ เตรียมพร้อมไฟฟ้าหมุนเวียน สิทธิประโยชน์เว้นภาษีสูงสุด 15 ปี ปิดเกมเร็วดึงลงทุนที่กำลังเจรจา 1.3 แสนล้าน
KEY
POINTS
- สกพอ.เตรียมชงบอร์ดอีอีซี สู้เขตเศรษฐกิจพิเศษยะโฮร์-สิงคโปร์ ชี้พร้อมแข่งไทยหมัดต่อหมัด
- เผยอีอีซีเตรียมพร้อมไฟฟ้าหมุนเวียน สิทธิประโยชน์เว้นภาษีสูงสุด 15 ปี เปิดกลยุทธ์ปิดเกมเร็วดึงลงทุนที่กำลังเจรจา 1.3 แสนล้านบาท พร้อมเร่งโครงสร้างพื้นฐาน รถไฟความเร็วสูง-อู่ตะเภา
- “บีโอไอ” ไม่หวั่นพร้อมสู้ ส.อ.ท.เตือนอย่าประมาทเร่งผลิตคนป้อนลงทุนไฮเทค
การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ ยะโฮร์-สิงคโปร์ ที่รัฐยะโฮร์ของมาเลเซีย จะเป็นการเชื่อมพื้นที่เศรษฐกิจด้านทิศใต้ของมาเลเซียกับสิงคโปร์ ครอบคลุมพื้นที่ 3,571 ตารางกิโลเมตร นับเป็นเรื่องที่ต้องจับตามองว่าอาจส่งผลกระทบต่อการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เป็นคู่แข่งสำคัญในภูมิภาคอาเซียนอย่างไร
นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า สกพอ.จับตาการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจของมาเลเซีย และสิงคโปร์ที่รัฐยะโฮร์อย่างใกล้ชิด และเตรียมเสนอคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) รับทราบการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษดังกล่าวเพื่อเตรียมรับมือ
“เขตเศรษฐกิจพิเศษของมาเลเซีย และสิงคโปร์ จัดตั้งขึ้นมาเพื่อแข่งขันดึงการลงทุนกับอีอีซีของไทยแบบหมัดต่อหมัด เพราะรู้ว่ามีการย้ายฐานการผลิตออกจากจีนจึงต้องมาที่อาเซียน โดยสิงคโปร์ และมาเลเซียรู้ว่าอีอีซีมีข้อจำกัดอย่างไร” นายจุฬา กล่าว
ทั้งนี้ ประเมินเบื้องต้นพบว่าสิงคโปร์นำจุดแข็งการบริหารจัดการพื้นที่เศรษฐกิจ โดยร่วมกับมาเลเซียที่มีจุดแข็งดึงลงทุนอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสูง เช่น อิเล็กทรอนิกส์ ดาต้าเซนเตอร์ รวมทั้งมาเลเซียมีจุดแข็งโครงสร้างพื้นฐานไฟฟ้ารองรับการลงทุนได้ ซึ่งจะทำให้การแข่งขันการดึงลงทุนในอาเซียนเข้มข้นขึ้น
นอกจากนี้ ประเด็นที่ต้องจับตามองของการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษยะโฮร์-สิงคโปร์ คือ การให้สิทธิประโยชน์นักลงทุน การสนับสนุนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ การผลักดันดาต้าเซนเตอร์ และกำหนดราคาที่ดินถูกกว่าไทยหรือไม่ ซึ่งราคาที่ดินนิคมอุตสาหกรรมในชลบุรี และระยองอยู่ที่ไร่ละ 1-7 ล้านบาท ถือว่าอยู่ระดับสูง
รวมทั้งที่ดินนิคมอุตสาหกรรมชลบุรี-ระยอง ปัจจุบันพื้นที่ใกล้ท่าเรือเต็มหมดแล้ว ดังนั้นปัจจัยที่จะทำให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในอีอีซีเพิ่มเติมควรเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้สะดวกเข้าถึงที่ดินทุกพื้นที่ให้เอื้อต่อการขนส่งสินค้า
ทั้งนี้ หากมีเงื่อนไขของเขตเศรษฐกิจพิเศษมาเลเซีย-สิงคโปร์ ได้เปรียบไทยจะทำให้นักลงทุนมองการลงทุนในพื้นที่นั้นมากขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ที่เป็นจุดแข็งของทางมาเลเซีย และสิงคโปร์อยู่แล้ว
กลยุทธ์ปิดเกมเร็วดึงลงทุน 1.3 แสนล้าน
สำหรับแนวทางการรับมือเขตเศรษฐกิจพิเศษของมาเลเซีย และสิงคโปร์ จะต้องดำเนินการหลายส่วนประกอบกัน คือ
- โครงสร้างพื้นฐานไฟฟ้าที่ได้เปรียบในภาพรวม แต่การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในอีอีซียังมีข้อจำกัด โดยในอีอีซีกำลังผลักดันแนวทางซื้อขายไฟฟ้าพลังงานสะอาดรูปแบบ Direct PPA เพื่อรองรับการซื้อขายไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนกันเอง
ทั้งนี้ ในพื้นที่มาบตาพุดคอมเพล็กซ์มีพื้นที่รองรับการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์น้อยจึงต้องรับจากพื้นที่อื่นแล้วส่งเข้ามาที่อีอีซี โดยปัจจุบันมีภาคเอกชนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่พร้อมส่งเข้าสายส่ง
- การปิดเกมเร็วในการเจรจาดึงการลงทุนเข้ามาในอีอีซี โดยปัจจุบัน สกพอ.อยู่ระหว่างหารือบริษัทที่ยื่นเสนอโครงการ และเข้าขั้นตอนเจรจาสิทธิประโยชน์ รวม 13 โครงการ (14 ราย) รวมมูลค่าการลงทุน 136,000 ล้านบาท ประกอบด้วย ธุรกิจดิจิทัล 4 โครงการ (4 ราย) , ยานยนต์สมัยใหม่ 1 โครงการ (1 ราย) , เศรษฐกิจ BCG 3 โครงการ (4 ราย) , ธุรกิจบริการ 5 โครงการ (5 ราย)
นอกจากนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2566 - 17 ก.พ.2568 ได้เจรจาดึงการลงทุนแล้ว 206 ราย มูลค่าการลงทุนรวม 256,201 ล้านบาท
เร่งสรุปสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายอีอีซี
- การจัดทำสิทธิประโยชน์ตาม พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก โดยปัจจุบันอยู่ขั้นตอนเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบประกาศ กพอ.เรื่องสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. ... ซึ่งหลังจากนั้นจะมีการหารือกับกระทรวงการคลังเกี่ยวกับการกำหนดสิทธิประโยชน์การลงทุน
สำหรับสิทธิประโยชน์การลงทุนจะครอบคลุมด้านภาษีอากร โดยได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 15 ปี รวมทั้งได้สิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลไม่เกิน 50% ของอัตราปกติ สูงสุด 10 ปี และได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีศุลกากร และสิทธิประโยชน์เช่นเดียวเขตปลอดอากร คลังสินค้าฑัณฑ์บนหรือเขตประกอบการเสรี
“สิทธิประโยชน์ให้นักลงทุนที่มีส่วนสำคัญในการตัดสินใจทางยะโฮร์ทำได้เร็วกว่า ขณะที่ไทยขั้นตอนการอนุมัติเยอะกว่า แต่จะพยายามอำนวยความสะดวกให้มากที่สุด ซึ่งถ้าจะแข่งขันให้ได้ต้องเร่งปิดเกม หมายถึงการดึงนักลงทุนเข้ามา และเร่งให้เขาลงเงินลงทุนทันที”
เร่งลงทุนโครงการไฮสปีดเทรน-อู่ตะเภา
- การเร่งรัดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในอีอีซี โดยเฉพาะโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ปัจจุบันการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กำลังแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน ซึ่งจะเสนอคณะกรรมการ รฟท.เดือน มี.ค.2568 จากนั้นเสนอสำนักงานอัยการสูงสุด ก่อนเสนอ กพอ.และคณะรัฐมนตรี (ครม.)
อย่างไรก็ดี คาดจะลงนามสัญญาใหม่ระหว่าง รฟท.และบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ภายในเดือนเม.ย.2568 หลังจากนั้น รฟท.จะออกหนังสืออนุญาตเข้าพื้นที่ (NTP) เพื่อให้เอกชนเริ่มงานก่อสร้างทันที ซึ่งภายใต้สัญญาใหม่ปรับแก้เงื่อนไขออก NTP ไม่ต้องรับบัตรส่งเสริมการลงทุน พร้อมทั้งกำหนดวิธีชำระเงินที่รัฐร่วมลงทุน
นอกจากนี้จะเร่งรัดโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก โดยกำลังเจรจากับบริษัทอู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (UTA) โดยยืนยันความพร้อมเข้าพื้นที่เริ่มงานก่อสร้าง และเบื้องต้นจะส่งมอบพื้นที่ได้ในเดือน เม.ย.- พ.ค.2568
ทั้งนี้ การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภามีพื้นที่ทับซ้อนชั้นล่างของอาคารผู้โดยสารที่ต้องเชื่อมโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ดังนั้นจะหารือร่วมกับ รฟท.ที่รอลงนามแก้ไขสัญญากับเอกชนคู่สัญญา รวมทั้งจะปรับเงื่อนไขการร่วมลงทุนพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออกให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น อาคารผู้โดยสาร
เตือนไทยอย่าประมาทเร่งผลิตคน
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการ BOI กล่าวว่า เขตเศรษฐกิจพิเศษมาเลเซีย และสิงคโปร์ เป็นพื้นที่ ที่มีศักยภาพเพราะเป็นความร่วมมือระหว่างสิงคโปร์ และมาเลเซียให้เกิดโครงการนี้ แต่ในมุมมองนักลงทุนพื้นที่ยังมีข้อจำกัด โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานภาคการผลิตและระบบไฟฟ้า รวมทั้งปัญหาการขนส่งข้ามแดน การขาดแคลนบุคลากร และความพร้อมของซัพพลายเชน
“มองภาพรวมแล้วพื้นที่อุตสาหกรรมในไทยทั้งอีอีซี ปราจีนบุรี หรือจังหวัดรอบกรุงเทพฯ ยังได้เปรียบในโครงสร้างพื้นฐาน โลจิสติกส์ นิคมอุตสาหกรรม ความเสถียรของไฟฟ้า และศักยภาพด้านพลังงานสะอาด และซัพพลายเชนที่ครบมากกว่า บุคลากรหาได้ง่ายกว่า และมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่ดี สำหรับรองรับชาวต่างชาติ อีกทั้งมีสิทธิประโยชน์ที่จูงใจจากภาครัฐ" นายนฤตม์ กล่าว
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ความร่วมมือของมาเลเซีย และสิงคโปร์เกิดขึ้นจากทั้ง 2 ประเทศเห็นกระแสการย้ายฐานการผลิตกำลังเทมาที่ไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เป็นส่วนของรถยนต์ไฟฟ้า (EV) แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) เซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งทั้ง 2 ประเทศ พยายามพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษที่แข่งกับไทย
ทั้งนี้ สิ่งที่ไทยได้เปรียบอยู่ที่ทำนโยบายนี้ก่อน โดยเฉพาะอีอีซีพัฒนาระบบนิเวศน์รองรับการลงทุน โดยใช้สิทธิประโยชน์ตามกฎหมายอีอีซี และกฎหมายบีโอไอเพื่อดึงดูดการลงทุนได้
“ไทยต้องไม่ประมาทในการสร้างแรงงานทักษะคุณภาพ เพราะสิงคโปร์ และมาเลเซียเหนือไทยอยู่ที่ทักษะแรงงานที่สูงกว่าในสาขาที่เป็นอุตสาหกรรมขั้นสูง โดยต้อง Reskill Upskill ให้แรงงานเพื่อรองรับการย้ายฐาน ซึ่งต้องการไม่ต่ำกว่า 80,000-100,000 คน ในอนาคต”
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์