เปิด 4 โมเดล จีนยึดธุรกิจเหล็กไทย ‘เทคโอเวอร์-สวมสิทธิ’ ฉุดการผลิต

เปิด 4 กลยุทธ์จีนยึดธุรกิจเหล็กไทย เทคโอเวอร์ สวมสิทธิส่งออก เลี่ยงภาษีนำเข้า-AD “กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก” จี้รัฐเร่งสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน ดัน “เหล็กคาร์บอนต่ำ”
KEY
POINTS
- เหล็กไทยเผชิญผลกระทบจากการเข้ามาทำตลาดของเหล็กจีนในอาเซียนมามากกว่า 10 ปี โดยทำให้การผลิตของบริษัทเหล็กไทยถดถอยลงต่อเนื่องและมีการใช้กำลังการผลิตปี 2567 อยู่ที่ 29%
- กำลังผลิตเหล็กโลกที่ 1,800 ล้านตัน/ปี กำลังการผลิตจีน 1,100 ล้านตัน/ปี ใช้ในประเทศ 900 ล้านตัน/ปี ส่งออก 200 ล้านตัน/ปี โดยปี 67 จีนส่งออก 110 ล้านต้น มีตลาดอาเซียน และไทยเป็นเป้าหมายหลัก
- จำนวนโรงงานเหล็กที่ประกอบกิจการในปัจจุบันมี 952 โรงงาน มูลค่าการลงทุนรวม 209,024 ล้านบาท และมีโรงงานเหล็กที่แจ้งเลิกประกอบกิจการ ณ วันที่ 19 ก.พ.2568 รวมทั้งสิ้น 71 โรงงาน
อุตสาหกรรมเหล็กไทยเผชิญผลกระทบจากการเข้ามาทำตลาดของเหล็กจีนในอาเซียนมามากกว่า 10 ปี โดยทำให้การผลิตของบริษัทเหล็กไทยถดถอยลงต่อเนื่องและมีการใช้กำลังการผลิตปี 2567 อยู่ที่ 29%
สถาบันเหล็ก และเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย รายงานกำลังการผลิตเหล็กโลกอยู่ที่ 1,800 ล้านตันต่อปี ขณะที่กำลังการผลิตจีนอยู่ที่ 1,100 ล้านตันต่อปี โดยใช้ในประเทศ 900 ล้านตันต่อปี ที่เหลือส่งออก 200 ล้านตันต่อปี โดยปี 2567 จีนส่งออกถึง 110 ล้านตัน มีตลาดอาเซียนรวมถึงไทยจึงเป็นเป้าหมายหลัก
สถานการณ์ดังกล่าวทำให้อุตสาหกรรมเหล็กไทยช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ไม่ดีจากผลกระทบเหล็กนำเข้าที่เข้ามาทุ่มตลาดโดยพบว่าผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่อย่าง บริษัท โรงงานเหล็กกรุงเทพจำกัด ต้องประกาศเลิกจ้างพนักงาน หลังขาดทุนสะสมต่อเนื่องเมื่อปี 2566 ถัดมาปลายปี 2567 พบว่า บริษัท มิลล์คอน บูรพา จำกัด ซึ่งขณะนี้ก็ยังไม่กลับมาเดินเครื่อง
ในขณะที่กรมโรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม รายงานจำนวนโรงงานเหล็กที่ประกอบกิจการในปัจจุบันมี 952 โรงงาน มูลค่าการลงทุนรวม 209,024 ล้านบาท และมีโรงงานเหล็กที่แจ้งเลิกประกอบกิจการ ณ วันที่ 19 ก.พ.2568 รวมทั้งสิ้น 71 โรงงาน
แหล่งข่าวจากอุตสาหกรรมเหล็ก กล่าวว่า อุตสาหกรรมเหล็กกำลังเกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ตั้งแต่ปี 2567 โดยได้รับผลกระทบจากเหล็กจีนจากการที่บริษัทเหล็กจีนในไทยขยายกำลังการผลิตโรงงานในไทยหลังได้รับอนุญาตให้มาตั้งโรงงานในไทย โดยใช้เตาหลอมแบบ Induction Furnace (IF) ซึ่งเป็นเตาประเภทที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม และในประเทศจีนไม่อนุญาตให้ใช้เตาหลอมประเภทนี้แล้ว
ขณะที่โรงงานเหล็กในไทยที่เลิกดำเนินกิจการไปใช้เตาหลอมแบบ Electric Arc Furnace (EAF) สำหรับรีดเป็นเหล็กเส้น และเหล็กลวด ซึ่งมีต้นทุนที่สูงกว่า
นอกจากนี้ อุตสาหกรรมเหล็กไทยได้รับผลกระทบจากความต้องการใช้เหล็กในจีนที่ทรงตัว แต่โรงงานเหล็กเพิ่มปริมาณการผลิตอย่างมากจึงส่งออกสินค้าเหล็กทุ่มตลาดจำนวนมากในอาเซียน และไทย ซึ่งแม้กระทรวงพาณิชย์จะใช้มาตรการภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) แต่สกัดได้ไม่มาก ดังนั้นภาครัฐควรศึกษาเชิงลึกเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมเหล็กไทยให้แข่งขันได้ในระยะยาว
4โมเดลจีนยึดอุตสาหกรรมเหล็กไทย
ทั้งนี้ เมื่อมาดูกลยุทธ์การทำธุรกิจเหล็กจีนในประเทศไทย จะพบว่าบริษัทเหล็กจีนจะใช้กลยุทธ์ 4 วิธี คือ
1. การเข้ามาซื้อหุ้นบริษัทเหล็กไทย และเปลี่ยนผู้ถือหุ้นไทยเป็นจีน โดยยังใช้ชื่อบริษัท และพนักงานเดิม และใช้สิทธิการเป็นบริษัทไทยเพื่อผลิต และส่งออก ซึ่งบริษัทจีนจะหาโรงงานเหล็กที่มีประวัติเปิดกิจการที่ยาวนาน และมีปัญหาการเงิน
รวมทั้งอาจมีการลดกำลังการผลิตของโรงงานในไทยลง และใช้วิธีการนำเข้าสินค้าเหล็กจากจีนเข้ามาจำหน่ายแทน หรือใช้แหล่งกำเนิดสินค้าของไทยจากโรงงานที่เข้ามาเป็นเจ้าของเพื่อทำการส่งออกเป็นเหล็กไทย
2.การใช้สิทธิประโยชน์ของเขตฟรีโซน เพื่อนำเข้าสินค้าเหล็กมาพัก และบรรจุหีบห่อใหม่ก่อนส่งออกไปประเทศที่ 3 โดยจะใช้สิทธิแหล่งกำเนิดสินค้าไทย รวมทั้งอาจนำเหล็กมาพักไว้ในเขตฟรีโซนแล้วลักลอบนำเข้ามาจำหน่ายในไทยเพื่อเลี่ยงอากรขาเข้า
3.การเลี่ยงผลกระทบจากการถูกจัดเก็บภาษี AD ของไทย โดยผู้นำเข้าเหล็กจีนใช้วิธีการเปลี่ยนพิกัดสินค้าเหล็กที่ถูกกระทรวงพาณิชย์ประกาศจัดเก็บภาษี AD เช่น การปรับการผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนที่ผสมโลหะเจือ โลหะผสมหรืออัลลอยให้มีปริมาณเพิ่มขึ้นหรือลดลงเพื่อเลี่ยงพิกัดศุลกากร รวมทั้งแนวทางนี้พบมากในเหล็ก H-Beam และ I-Beam
4.การนำเข้าเหล็กโครงสร้างสำเร็จรูปสำหรับอุตสาหกรรมก่อสร้าง ซึ่งเป็นสินค้าที่ยังไม่มีการประกาศหรือไต่สวนการเก็บภาษี AD รวมทั้งเป็นผลิตภัณฑ์ที่สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ยังไม่กำหนดมาตรฐาน มอก.ควบคุม ซึ่งต่างจากสินค้าเหล็กก่อสร้างประเภทอื่นที่มีการออก มอก.แบบบังคับเพราะเป็นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของผู้บริโภค
ทั้งนี้ แนวทางนี้ถูกนำมาใช้เพิ่มมากขึ้น และเป็นช่องทางระบายสินค้าเหล็กของจีนได้ดี ซึ่งทำให้สถิติการนำเข้าเหล็กโครงสร้างสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยปี 2567 มีการนำเข้า 600,000 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่มีการนำเข้า 400,000 ตัน
ไทยเป้าหมายหลักของจีนเข้ามาทุ่มตลาด
“จากการที่เหล็กจีนต้องออกนอกประเทศเพราะทำธุรกิจในจีนไม่ได้แล้ว และไทยเป็นประเทศที่มีดีมานด์อันดับต้นของอาเซียน รองจากเวียดนาม และไทยยังไม่มีอุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำ ในขณะที่มาเลเซียไหวตัวทันจึงมีมาตรการห้ามตั้งโรงงานใหม่ จึงทำให้จีนเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น” แหล่งข่าว กล่าว
แหล่งข่าว กล่าวว่า กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กเสนอ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ถึงวิกฤติกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก โดยเฉพาะการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนนั้น กลุ่มเหล็กเป็นกลุ่มที่มีความต้องการใช้สูง เพราะจีนใช้ถ่านหิน ถือเป็นข้อดีหากไทยมีกระบวนการผลิตเหล็กจากไฟสะอาด เป็นเหล็กคาร์บอนต่ำ เป็นโอกาสที่จะขยายฐานลูกค้า ซึ่งยุโรปก็ต้องการเหล็กคาร์บอนต่ำ แต่ขณะนี้ ปัจจุบันค่าไฟฟ้าที่ไทยยังสูงที่หน่วยละ 4.15 บาท
“ต้องการให้ภาครัฐช่วยดูแลค่าไฟฟ้าให้เป็นพลังงานหมุนเวียน RE หรือเชื้อเพลิงชีวมวลต่างๆ เพราะขณะนี้ กลุ่มเหล็กเดินเครื่องในกลางคืนเพราะต้นทุนค่าไฟถูกกว่า ดังนั้น หากภาครัฐสนับสนุนไฟสะอาดที่ราคาไม่สูง จะสามารถเดินเครื่องในเวลากลางวันได้ จะช่วยเพิ่มอัตราการผลิตเพิ่มโอกาสส่งออกไทยด้วย”
เสนอ 7 แนวทางฟื้นอุตสาหกรรมเหล็ก
นายบัณฑูรย์ จุ้ยเจริญ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า จากมาตรการปรับขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กของทรัมป์ 2.0 นี้ เป็นการประกาศขึ้นทั้งโลก เพราะทรัมป์ 1.0 เคยละเว้นการขึ้นภาษีเป็นบางประเทศที่เคยเป็นพันธมิตร เช่น ญี่ปุ่น และเกาหลี ดังนั้น มาปัจจุบันทรัมป์จึงจะปรับขึ้น 25% เท่ากันทุกประเทศ
ทั้งนี้ การที่จีนผลิตเหล็กได้เยอะ และต้นทุนต่ำเนื่องจากเดินกำลังผลิตได้กว่า 90% ส่วนไทยกำลังผลิตแค่ 30% ปีที่ผ่านมาอยู่แค่ 29% จึงทำให้ต้นทุนสูง อีกทั้งจีนได้จ้างงานในประเทศจึงล้น และขายราคาเท่าไรก็ได้เพราะยังคุ้มต้นทุนการผลิต และเมื่อจีนผลิตได้เกินจึงต้องส่งออก และเข้ามาซ้ำเติมอุตสาหกรรมเหล็กไทย
ทั้งนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก ส.อ.ท.และ 10 สมาคมเหล็กเสนอ 7 แนวทางต่อนายเอกนัฏ ประกอบด้วย 1.มาตรการห้ามตั้ง ห้ามขยายโรงงานเหล็กเฉพาะประเภทที่มีกำลังการผลิตมากเกินความต้องการใช้ในไทย ได้แก่ โรงงานเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตหรือเหล็กแท่งเล็กสำหรับเหล็กเส้นเสริมคอนกรีต และโรงงานผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อน
2.มาตรการส่งเสริมให้โครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐใช้สินค้าเหล็กในประเทศที่ผลิตจากโรงงานที่ได้รับการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียว ตั้งแต่ระดับ 4 ขึ้นไป เพื่อส่งเสริมการลงทุนปรับปรุงเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
3.การเร่งกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) เหล็กโครงสร้างสำเร็จรูป
4.มาตรการสงวนเศษเหล็กเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าเหล็กในประเทศ
5.นโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมจัดการซากรถยนต์ เพื่อให้มีการบริหารจัดการและสามารถนำวัสดุต่างๆ มาแปรใช้ใหม่
6.นโยบายส่งเสริมการใช้สินค้าที่ได้รับการรับรองจาก ส.อ.ท.ว่าผลิตในไทย (Made in Thailand) ไม่เพียงแค่เฉพาะการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเท่านั้น โดยขยายไปโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) และโครงการก่อสร้างของกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน
7.การสนับสนุนให้ใช้มาตรการทางการค้าต่างๆ เข้มข้นขึ้นตามสถานการณ์ และทันท่วงที เนื่องจากปัจจุบันไทยใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) มาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยง (AC) กับสินค้าเหล็กบางประเภทเท่านั้น โดยไม่ใช้มาตรการตอบโต้การอุดหนุน (CVD) และมาตรการปกป้องการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น (Safeguard) ในขณะที่ไทยยังถูกจีนส่งสินค้าเหล็กมาทุ่มตลาดเฉลี่ย 4.2 แสนตันต่อเดือน
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์