‘สภาพัฒน์’ ชี้ ‘NPL’ ยังขาขึ้น สวนทางหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีลดลง

สภาพัฒน์ เผยแนวโน้มหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีลดลง หลังมีมาตรการคุมหนี้เสียต่อเนื่อง แต่ NPLs ยังเป็นทิศทางขาขึ้น เร่งปรับ "คุณสู้เราช่วย" หลังคนเข้าโครงการ 6 แสนกว่าราย
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงภาวะสังคมไตรมาส 4 และภาพรวมปี 2567 กล่าวถึงภาวะหนี้ครัวเรือนของไทยว่าข้อมูลล่าสุดในไตรมาสที่ 3 ปีก่อนหนี้ครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) อยู่ที่ 16.34 ล้านล้านบาท คิดเป็น 89% ปรับลดลงจากไตรมาสก่อนคิดเป็น 89.8%ต่อจีดีพี โดยหนี้ครัวเรือนมีทิศทางที่ลดลงโดยในไตรมาสที่1 ถึง 2 ของปี 2568 ที่ตัวเลขจีดีพีจะปรับตัวเพิ่มขึ้นก็ทำให้หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีปรับลดลงอีก
อย่างไรก็ตาม หากดูในเรื่องคุณภาพของสินเชื่อของครัวเรือนยังถือว่าปรับลดลงต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อดูข้อมูลของบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือเครดิตบูโร พบว่าคุณภาพของสินเชื่อลดลงพบว่ามูลค่าสินเชื่อส่วนบุคคลที่ค้างชำระเกิน 90 วันขึ้นไปหรือตัวเลขที่เป็นหนี้ NPLs ต่อสินเชื่อรวมมีมูลค่ารวม 1.2 ล้านล้านบาท ขยายตัว 14.1% หรือคิดเป็น 8.78% ต่อสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นจาก 8.48% ของไตรมาสที่ผ่านมา โดยสัดส่วนดังกล่าวปรับเพิ่มขึ้นในสินเชื่อเกือบทุกประเภท ยกเว้นสินเชื่อทางการเกษตร
อย่างไรก็ตาม พบว่าหนี้ที่ผิดชำระหนี้มากที่สุดยังเป็นหนี้บัตรเครดิต โดยมีสัดส่วน NPLs ต่อสินเชื่อรวมสูงถึง 12.58% รองลงมายังเป็นสินเชื่อเพื่อการพาณิชย์ สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ และสินเชื่อส่วนบุคคล โดยการเพิ่มขึ้นของ NPLs ต้องยอมรับว่ามาจากรายได้ของแรงงานยังไม่เพิ่มขึ้นมากพอที่จะทำให้ตัวเลขหนี้ครัวเรือน และหนี้ NPLs ลดลง แม้ว่าจีดีพีมีการขยายตัว 2-3% รายได้ของแรงงานมีการปรับเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยแต่ตัวเลขหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูงทำให้แรงงานมีภาระที่ต้องใช้หนี้ในแต่ละงวดจำนวนมาก และอาจทำให้ต้องมีการกู้ยืมเงินจากแหล่งอื่นๆ มาเพื่อหมุนเวียนชำระหนี้และใช้จ่ายทำให้ปัญหาหนี้สินของประชาชนยังไม่ได้ลดลงได้อย่างรวดเร็ว
นายดนุชา กล่าวด้วยว่าที่ผ่านมารัฐบาลได้ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการทำโครงการคุณสู้ เราช่วย เพื่อช่วยเหลือปรับโครงสร้างให้กับกลุ่มที่ผิดชำระหนี้ไม่เกิน 1 ปี แต่หลังจากเปิดโครงการไประยะหนึ่งแล้วพบว่ามีผู้เข้าร่วมโครงการแล้ว 642,030 ราย รวม 746,912 บัญชี จากจำนวนลูกหนี้รายย่อย และ SMEs ที่เข้าข่ายร่วมโครงการกว่า 1.9 ล้านราย จำนวน 2.1 ล้านบัญชี ซึ่งถือว่ายังน้อยกว่าเป้าหมายค่อนข้างมาก โดยล่าสุด ธปท.ได้ประกาศขยายโครงการออกไปจนถึงวันที่ 30 เม.ย.นี้
ทั้งนี้ภาครัฐได้หารือกับ ธปท.และธนาคารพาณิชย์ในการปรับรูปแบบโครงการ และขยายกลุ่มเป้าหมาย โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็มีการขยายโครงการให้ครอบคลุมกลุ่มนอนแบงก์ ขณะที่คงจะต้องมีการปรับรูปแบบโครงการ และประชาสัมพันธ์โครงการมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมามีเสียงสะท้อนว่าข้อกำหนดในมาตรการบางส่วนเป็นอุปสรรคกับผู้เข้าโครงการ เช่น เมื่อเข้าโครงการแล้วห้ามกู้ยืมเงินเพิ่มเติมในระยะเวลาประมาณ 1 ปี ซึ่งต้องทำความเข้าใจว่ามาตรการนี้เป็นการปรับโครงสร้าง และการแก้หนี้เพื่อป้องกันไม่ให้คนที่เข้าโครงการนี้ไปกู้หนี้ยืมสินที่อื่นในช่วงที่มีการเข้าโครงการแก้หนี้อยู่เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาหนี้ในกลุ่มนี้ได้อย่างแท้จริง
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์