Polycrisis จัดระเบียบโลกใหม่ ‘ศุภชัย’ เตือนไทยอย่างัดข้อสหรัฐ

"ศุภชัย" ชี้โลกเข้าสู่ Polycrisis และการจัดระเบียบโลกใหม่ ขณะที่สงครามการค้าเป็นการสู้กันระหว่างสหรัฐกับจีนถ้ารุนแรงมากขึ้นก็จะสูญเสียกันทั้ง 2 ฝ่าย แนะไทยอย่าใช้วิธีการตอบโต้สหรัฐ ควรดึงอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพเข้ามาลงทุนในไทย
ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์รุนแรงขึ้นหลังจากการเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐสมัยที่ 2 ของนายโดนัลด์ ทรัมป์ โดยทันทีที่เข้ารับตำแหน่งได้ออกประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากเม็กซิโก แคนาดา และจีน รวมทั้งมีมาตรการทางภาษีหลายข้อออกมาหลังจากนั้น
นายศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก (WTO) และอดีตเลขาธิการ การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้า และการพัฒนา (UNCTAD) กล่าวในงานสัมมนา “ผู้นำไทย มาตรฐานโลก” จัดโดย Slingshot Group ว่า เคยกล่าวไว้เสมอไม่ว่าจะมีแผนยุทธศาสตร์ชาติกี่แผนมองเรื่อง “คน” ที่ต้องแข่งขันกับคนอื่น แม้เราจะสู้เขาได้บ้างไม่ได้บ้าง
“ผมเชื่อว่าคนไทยไม่แพ้ชนชาติอื่นใดในโลก เพราะประสบการณ์ที่ผ่านมาตนสามารถแหวกวงล้อมเข้าสู่ตำแหน่งที่เป็น 1 ใน 3 องค์กรโลกคือ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ธนาคารโลก และดับบลิวทีโอซึ่งแสดงให้เห็นว่าคนไทยมีโอกาสเป็นผู้นำในเวทีโลกระดับโลกได้”
อย่างไรก็ตามในเวลานี้ผู้นำของโลกทั้งหลายมีความน่าห่วงมากเพราะเรากำลังเข้าสู่ “ระเบียบโลกใหม่” ที่ไม่แน่ใจว่าผู้นำทั่วโลกเข้าใจปัญหาตรงกันหรือไม่ เนื่องจากผู้นำบางคนมีความคิดมุทะลุดุดัน ตัดสินใจเด็ดขาด แต่ไม่แน่ใจว่าการตัดสินนั้นช่วยตนเอง หรือช่วยโลก หรือช่วยใคร ถือเป็นปัญหาสำคัญ ขณะนี้ยุโรปแทนที่จะมีความสงบเรียบร้อยกับมีสงครามขนาดใหญ่ ซึ่งตนคาดว่าไม่น่าจะจบในเร็วๆ นี้
นายศุภชัย กล่าวว่า สงครามที่กำลังมีปัญหาทั่วโลกไม่ใช่แค่เรื่องสงครามการค้าเพียงอย่างเดียว ซึ่งสงครามการค้าเกิดมาก่อนหน้านี้นานแล้วก่อนที่นายโจ ไบเดน , นายโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดี จนปัญหาการค้าของโลกจึงทำให้เกิด WTO และ New World Order
ทั้งนี้ ปัจจัยดังกล่าวทำให้การค้าแบบพหุภาคีถูกทำลาย ไม่ใช่เพราะนายทรัมป์เพียงคนเดียว แต่สหรัฐที่เคยเป็นผู้นำโลก และเป็นผู้กำหนดชะตาโลกหลังสงครามโลก ครั้งที่ 2 มาต่อเนื่อง โดยหลายองค์กรโลกถูกตั้งจากสหรัฐ และกำหนดกฎเกณฑ์ออกมาบังคับ
แต่หลังจากรัสเซียภายใต้ผู้นำ คือ นายวลาดิมีร์ ปูติน ส่วนจีนภายใต้ผู้นำ นายสี จิ้นผิง เป็นประธานาธิบดี ทำให้ประเทศแข็งแกร่งขึ้นก็ทำให้ทุกอย่างในโลกก็เปลี่ยน ขณะที่สหรัฐก็อยู่ในช่วงขาลง
สถานการณ์หลังจากนั้นทำให้โลกการค้าไม่สงบ จนเกิดสงครามการค้า ซึ่งมองว่าเป็นเรื่องของ “เทรดชิป” มากกว่าที่ประเทศใดพัฒนา “ชิป” หรือเซมิคอนดักเตอร์ ได้มาก และเล็กที่สุดจะได้เปรียบ
สำหรับชิปไม่ได้หมายความแค่เทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว แต่เป็นตัวกำหนดทุกสิ่งทุกอย่างในการค้า เช่น ข้อมูล ความลับ การบริหารจัดการ และจะเป็นตัวกำหนดการรบของโลกในอนาคตต่อไปเพราะชิปจะคุมทั้งหมด
ดังนั้นสิ่งที่สหรัฐกลัว คือ เทคโนโลยีหรือชิป ซึ่งที่ผ่านมาจะเห็นความขัดแย้งระหว่างสหรัฐ และจีนในเรื่องของไต้หวัน เพราะไต้หวันเป็นที่ตั้งของบริษัท TSMC ซึ่งบริษัทผู้ผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ที่สุดในโลกซึ่งสหรัฐต้องการ และจีนไม่ยอม จึงไม่แปลกทำไมสหรัฐต้องสู้กับจีน อย่างไรก็ตามหากสหรัฐกับจีนต่อสู้กันรุนแรงก็จะสูญสิ้นทุกอย่างไม่มีใครชนะในโลกนี้ได้
นายศุภชัย กล่าวว่า โลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเป็น New World Order ที่ทำให้โลกเข้าสู่ Polycrisis หรือภาวะหลายวิกฤติเพราะเกิดขึ้นจากปัญหาหลายด้านมีทั้งสงครามจริง สงครามไม่จริง สงครามแบบหลอก ซึ่งผู้ที่ปรับตัวได้คือ คนที่อยู่รอด
ดังนั้นต้องเตรียมความพร้อม โดยสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตนเอง เพราะเราจะต้องเจอกับสงคราม สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ปัญหาจีโอโพลิติกส์ การมาของ AI โกลบอลไลเซชั่น (Globalization) ซึ่งผู้นำจะต้องเข้าใจถึงปัญหา อ่านปัญหาและสถานการณ์โลกให้เข้าใจ การเตรียมความพร้อมไม่ว่าจะเป็นด้านอาหาร ยารักษาโรค ซึ่งมีความสำคัญมากไม่น้อยกว่าเรื่องอื่น
พร้อมกันนี้ก็ต้องเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตนเอง รวมทั้งต้องสร้างพวกหรือรวมกลุ่มโดยเฉพาะอาเซียนเพื่อสร้างพลัง และที่สำคัญต้องรู้จักคิดนอกกรอบ อย่าอาศัยเพียงแนวคิดเก่าที่อาศัยอุตสาหกรรมแบบเดิมที่เป็นตัวสร้างรายได้ให้เข้ากับประเทศ
ทั้งนี้ นโยบายระยะสั้นไม่ได้ผลที่ชัดเจน และจริงจัง เช่น กรณีการพัฒนาเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ที่จะส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย แต่ที่แท้จริงในเรื่องของบันเทิงไม่จำเป็นสำหรับการท่องเที่ยวของไทยเพราะเรามีอยู่แล้ว
“เรามัวแต่คิดเรื่องของจำนวนนักท่องเที่ยว แต่ลืมเรื่องของสิ่งแวดล้อม ดังนั้นควรจะคิดนอกกรอบด้วยการทำ เฮลท์คอมเพล็กซ์ 4 ภาค จะดีกว่า ทั้งภาคเหนือ ตะวันออก ใต้ และตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้เข้าประเทศได้เช่นกัน”
สำหรับสงครามการค้าจากนโยบายทรัมป์ 2.0 มองว่า ทั่วโลกจะต้องเจอไม่พ้นแม้แต่ไทย ซึ่งไทยไม่ควรใช้วิธีการตอบโต้ แต่ควรหาทางปรับตัวเพื่อรับกับสถานการณ์ เพราะการเกิดขึ้นจากนโยบายทรัมป์ 2.0 ส่งผลให้ซัพพลายเชนเปลี่ยน ทำให้เกิดการลงทุนใหม่เกิดขึ้น และใครจะค้าขายกับสหรัฐ เพราะเอาแต่ขึ้นภาษี
ดังนั้นไทยต้องหาที่ใหม่ในการลงทุนเพื่อต่อซัพพลายเชนของไทยเพื่อลดผลกระทบจากมาตรการภาษี ซึ่งไทยต้องเตรียมพร้อมโดยดูว่าจุดอ่อน - จุดแข็งของไทยอยู่ตรงไหน และพัฒนาจุดแข็งของไทย
พร้อมเร่งนำเทคโนโลยีใช้ในอุตสาหกรรมที่เรามีศักยภาพ เช่น อุตสาหกรรมการเกษตร อุตสาหกรรมด้านสุขภาพของไทย โดยสหรัฐจะขึ้นภาษีเท่าไรไทยก็ได้เปรียบ แต่ต้องยอมรับว่าบางอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบ เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์
นอกจากนี้ไทยต้องดึงการลงทุนในอุตสาหกรรมสมัยใหม่ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งหากดึง TSMC ของไต้หวัน หรือ DeepSeek ของจีนเข้ามาลงทุนได้จะส่งผลดีต่อไทย เพราะไทยต้องการเทคโนโลยี อย่างไรก็ตามการดึงอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีลงทุนในไทย สิ่งที่จะต้องเตรียมคือ "คน" เพื่อรองรับอุตสาหกรรมนี้ ไม่ใช่มีการลงทุนแล้วไม่มีคน
ส่วนของการที่รัฐบาลตั้งทีมเจรจากับสหรัฐเป็นแนวทางหนึ่งที่ทำได้แต่คงไม่พอ แต่อย่างน้อยก็ดีกว่าไม่มีการเจรจา จะได้รู้นโยบายที่ออกมากระทบกับไทย ซึ่งไทย และสหรัฐก็มีความสัมพันธ์ระหว่างกันดีทั้งเรื่องของการลงทุน การค้า คนไทยไปลงทุนที่สหรัฐ ที่สำคัญไทยเป็นประเทศที่มีความเป็นกลาง ไม่ได้อยู่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เป็นกันชนระหว่างสหรัฐ และจีน ตรงนี้ถือว่าสำคัญมาก
"ผมไม่อยากเห็นการตอบโต้สหรัฐ เพราะไทยตอบโต้ไม่ได้ ยกเว้นเป็นเรื่องปกป้องภาคการผลิตจากการทุ่มตลาด และการใช้นโยบายการค้าที่ไม่เป็นธรรม โดยมาตรการภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด การอุดหนุน และมาตรการปกป้องจากการนำเข้า (AD/CVD/AC)" นายศุภชัย กล่าว
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์