เปิดสัญญา 'คิง เพาเวอร์' ดิวตี้ฟรี วางแบงก์การันตี 1.17 หมื่นล้าน

เปิดสัญญา 'คิง เพาเวอร์' ดิวตี้ฟรี วางแบงก์การันตี 1.17 หมื่นล้าน

เปิดสัญญา "คิง เพาเวอร์" กวาดประมูลดิวตี้ฟรีและพื้นที่เชิงพาณิชย์ท่าอากาศยาน ทอท.ทั้งหมด ครองสัมปทาน 10 ปี 6 เดือน พบวางแบงก์การันตีกว่า 1.17 หมื่นล้านบาท

บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.ได้เปิดประมูลในช่วงปี 2562 เพื่อจัดหาผู้ประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร (ดิวตี้ฟรี) ภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง และท่าอากาศยานภูมิภาคที่อยู่ภายใต้การดูแลของ ทอท. โดยแบ่งสัญญาการประมูลออกเป็น 2 ส่วน คือ

ส่วนที่ 1 ได้เปิดประมูลช่วงต้นปี 2562 รวม 3 สัญญา โดยผู้ชนะการประมูล คือ “คิง เพาเวอร์” รวมวงเงินผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำรายปี (Minimum Guara0000ntee) ที่เสนอให้ ทอท. ปีแรกมีมูลค่ารวม 23,548 ล้านบาท ประกอบด้วย

1.การให้สิทธิประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

ผู้ชนะการประมูล คือ บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด

อายุสัญญา 10 ปี 6 เดือน ระหว่างวันที่ 28 ก.ย.2563 ถึงวันที่ 31 มี.ค.2574 

เสนอผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำปีแรก 15,419 ล้านบาท

2.การให้สิทธิประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานเชียงใหม่ และท่าอากาศยานหาดใหญ่

ผู้ชนะการประมูล คือ บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด

อายุสัญญา 10 ปี 6 เดือน ระหว่างวันที่ 28 ก.ย.2563 ถึงวันที่ 31 มี.ค.2574

เสนอผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำปีแรก 2,331 ล้านบาท

เปิดสัญญา \'คิง เพาเวอร์\' ดิวตี้ฟรี วางแบงก์การันตี 1.17 หมื่นล้าน

3.การให้สิทธิประกอบกิจการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ภายในอาคารผู้โดยสาร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

ผู้ชนะการประมูล คือ บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด

อายุสัญญา 10 ปี 6 เดือน ระหว่างวันที่ 28 ก.ย.2563 ถึงวันที่ 31 มี.ค.2574 

เสนอผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำปีแรก 5,798 ล้านบาท

ส่วนที่ 2 บอร์ด ทอท.เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2562 ได้เห็นชอบผลการคัดเลือกผู้ประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง

ผู้ชนะการประมูล คือ บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด

อายุสัญญา 10 ปี 6 เดือน ระหว่างวันที่ 1 ต.ค.2565 – 31 มี.ค.2576

เสนอค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำปีแรกกว่า 1.5 พันล้านบาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)

รายงานข่าวจาก ทอท.เปิดเผยว่า 3 สัญญาส่วนแรกนั้น ทอท.ได้ลงนามร่วมกับกลุ่มคิง เพาเวอร์เมื่อวันที่ 4 ก.ค.2562 โดยก่อนลงนามได้มีการตรวจสอบหลักประกัน หรือ แบงก์การันตี จากทางกลุ่มคิง เพาเวอร์นำมาให้ ทอท. รวมมูลค่าราว 11,750 ล้านบาท ซึ่งคำนวณมาจาก Minimum Guarantee รวม 3 สัญญาประมาณ 23,548 ล้านบาท ตามที่ทางคิง เพาเวอร์ได้ยื่นเสนอไว้ในการประมูลครั้งนั้น ซึ่งแบงก์การันตีนี้ ทอท.สามารถยึดได้หลังจากคิง เพาเวอร์ทำผิดสัญญา หรือไม่สามารถจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนตามที่ได้ประมูลไว้

อย่างไรก็ดี ข้อเสนอในการประมูลครั้งนั้น ทอท.กำหนดเกณฑ์คะแนนเต็ม 100 คะแนน แบ่งเป็น

1.คะแนนด้านเทคนิค 80 คะแนน ดูจากความเป็นไปได้ของโครงการ ความสอดคล้อง และเหมาะสมของแผนงานทั้งหมด

2.คะแนนผลตอบแทนการเงิน 20 คะแนน โดยผู้เสนอผลตอบแทนสูงสุดจะได้ 20 คะแนนเต็ม จากนั้นจะพิจารณาคะแนนลดหลั่นตามสัดส่วน

สำหรับผู้มีคะแนนสูงสุดคือ ผู้ยื่นเสนอผลตอบแทนขั้นต่ำ (Minimum guarantee) ให้ ทอท.สูงสุด ขณะเดียวกัน ทอท.ยังกำหนดให้เอกชนจ่ายส่วนแบ่งรายได้ (Revenue sharing) อย่างต่ำ 20% ตลอดสัญญา 10 ปี โดยเอกชนจะต้องจ่ายผลตอบแทนให้ ทอท.ในแต่ละปี เป็นสัดส่วนจากเกณฑ์ใดเกณฑ์หนึ่ง แล้วแต่ตัวเลขใดจะมากกว่ากันในปีนั้น

อย่างไรก็ดี ในช่วงเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด ทอท.ได้พิจารณาผลกระทบที่เกิดขึ้นต่ออุตสาหกรรมการบิน ประกอบกับไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ให้คิง เพาเวอร์เพื่อปรับปรุงพื้นที่ร้านค้าปลอดอากรและพื้นที่เชิงพาณิชย์ภายในท่าอากาศยานได้ จึงให้สิทธิคิง เพาเวอร์ยกเว้นการเรียกเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำรายเดือนหรือรายปี และให้เรียกเก็บเฉพาะค่าผลประโยชน์ตอบแทนอัตราร้อยละ หรือ Sharing per Head พร้อมทั้งขยายระยะเวลาสิ้นสุดของการประกอบกิจการออกไปอีก 1 ปี จากวันที่ 31 มี.ค. 2574 เป็นวันที่ 31 มี.ค. 2575

ด้านนายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จํากัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยถึงกรณีคิง เพาเวอร์มีปัญหาสภาพคล่องและเจรจาขอเลื่อนการชำระค่าตอบแทน Minimum Guarantee เป็นเวลา 18 เดือน ระหว่างเดือน ส.ค.2567 – ก.ค. 2568 โดยระบุว่า สัญญาที่ ทอท.และคิง เพาเวอร์มีต่อกัน มีข้อกำหนดส่วนแบ่งรายได้ และค่าตอบแทน Minimum Guarantee

โดยปัจจุบันคิง เพาเวอร์จ่ายค่าตอบแทน Minimum Guarantee คิดเป็น 30% ของยอดขาย จึงเป็นภาระทางการเงินที่น่าเป็นห่วง เพราะการมี Minimum Guarantee ที่สูงมาก ทำให้โอกาสการทำกำไรต่ำ หรือป้องกันการขาดทุนได้ยาก ซึ่ง ทอท.ได้ตรวจสอบเรื่องนี้ก็พบว่าภาพรวมผลประกอบการของคิง เพาเวอร์ในปี 2566 มีผลขาดทุนอยู่ที่ 650 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ทอท.เมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่จัดเก็บกับคู่สัญญากลุ่มคิง เพาเวอร์ ในการบริหารพื้นที่ร้านค้าปลอดอากร (ดิวตี้ฟรี) จากกรณีที่คู่สัญญาดังกล่าวได้รับผลกระทบโควิด ปริมาณผู้โดยสารยังไม่กลับมาฟื้นตัวอย่างที่คาดการณ์ไว้ ทำให้คิง เพาเวอร์ขาดสภาพคล่องในการดำเนินงาน และค้างจ่ายค่าผลประโยชน์ตอบแทน Minimum Guarantee ตามสัญญา

โดยคิง เพาเวอร์ค้างจ่ายค่าผลประโยชน์ตอบแทนดังกล่าวมาตั้งแต่เดือน ส.ค.2567 รวมมูลค่ากว่า 4,000 ล้านบาท และกรณีการค้างจ่ายนั้น ทอท.ยังคงคิดดอกเบี้ยในอัตรา 18% ต่อปี หรือประมาณ 1.5% ต่อเดือน ของยอดหนี้ที่เกิดขึ้น ซึ่งคิง เพาเวอร์มองว่าอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นจำนวนที่สูง จึงเสนอให้ ทอท.ปรับลดดอกเบี้ยและเป็นผลให้ ทอท.พิจารณาใช้เกณฑ์อัตราดอกเบี้ย MLR+2% หรือปรับลดมาอยู่ที่ประมาณ 9% ต่อปี ซึ่งสูงกว่าต้นทุนทางการเงินของ ทอท.ที่เฉลี่ยประมาณ 3% ต่อปี

“การปรับโครงสร้างหนี้ให้กับคิง เพาเวอร์ ครั้งนี้ ก็เป็นเกณฑ์ที่ ทอท.นำมาปรับโครงสร้างให้กับผู้ประกอบการทุกราย ซึ่ง ทอท.ประเมินแล้วว่าไม่ได้กระทบต่อรายได้ของบริษัท เพราะจำนวนหนี้ก็ยังคงค้างอยู่เช่นเดิม และ ทอท.ยังได้ดอกเบี้ยในอัตราที่สูงกว่าต้นทุนทางการเงิน หรือ เงินกู้ที่บริษัทดำเนินการมา อีกทั้ง ทอท.ยังถือแบงก์การันตีของคิง เพาเวอร์อยู่”

 

 


พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์