‘พาณิชย์’ ชง ครม.รับมือทรัมป์ไทยเพิ่มนำเข้า แลกสิทธิประโยชน์การค้า

‘พาณิชย์’ ชง ครม.รับมือทรัมป์ไทยเพิ่มนำเข้า แลกสิทธิประโยชน์การค้า

รัฐบาลเตรียมความพร้อมรับมือมาตรการภาษี และการกีดกันทางการค้า ทรัมป์ 2.0  เบื้องต้น ลดการเกินดุลการค้าสหรัฐ โดยนำเข้าสินค้าที่เป็นไปได้ ด้านพาณิชย์ประเมินสหรัฐกดดันไทย 2 ประเด็น

การเตรียมความพร้อมเรื่องการรับมือมาตรการภาษี และการกีดกันทางการค้าของสหรัฐภายใต้การนำของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ที่รับตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ซึ่งกำลังจะมีการออกมาตรการตอบโต้ทุกประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐภายในวันที่ 1 เม.ย.นี้ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลต้องเร่งรับมือเนื่องจากไทยอยู่ในประเทศที่มีความเสี่ยงในการถูกสหรัฐขึ้นภาษี

ช่วงเดือน ม.ค.2568 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีตั้ง “คณะทำงานนโยบายการค้ากับสหรัฐ” มี นายวุฒิไกร ลีวีระพันธ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน เพื่อให้การกำหนดนโยบายด้านการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐ มีทิศทางที่ชัดเจน และเกิดประโยชน์สูงสุดประเทศ

‘พาณิชย์’ ชง ครม.รับมือทรัมป์ไทยเพิ่มนำเข้า แลกสิทธิประโยชน์การค้า

สำหรับคณะกรรมการดังกล่าวทำหน้าที่ศึกษา และจัดทำข้อมูลเสนอแนะเกี่ยวกับกลยุทธ์การเจรจากับรัฐบาลสหรัฐสำหรับการเตรียมการรองรับนโยบายการค้าของสหรัฐ โดยอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลการค้า และการลงทุนของสหรัฐ เพื่อนำไปสู่การเจรจาการค้าต่างตอบแทนกับคณะผู้บริหารระดับสูงของสหรัฐในโอกาสต่อไป โดยมีการประชุมนัดแรกแล้วเมื่อวันที่ 14 ม.ค.ที่ผ่านมา

ส่วนแนวทางการเจรจาการค้ากับสหรัฐ ทางกระทรวงพาณิชย์ ประเมินว่าสหรัฐอาจมีท่ากดดันประเทศไทย 2 ประเด็น ดังนี้ 

1.สหรัฐต้องการลดการขาดดุลกับไทย จึงอาจเรียกร้องให้ไทยนำเข้าสินค้าจากสหรัฐเพิ่มขึ้น โดยจะเน้นสินค้าที่ไทยและสหรัฐต่างได้ประโยชน์ และเป็นห่วงโซ่การผลิตซึ่งกัน และกันได้ 

2.สหรัฐอาจผลักดันให้ไทยนำเข้าสินค้าที่ยังไม่ได้เปิดตลาดกับสหรัฐ เช่น สินค้าเกษตร ซึ่งในกรณีนี้จะพยายามเจรจาต่อรองกับสหรัฐ โดยคำนึงผลกระทบต่อเกษตรกรรม และตลาดในประเทศให้น้อยที่สุด

 

นอกจากนี้ ภาครัฐได้มีการพิจารณาเตรียมประเด็นข้อเสนอของประเทศไทย โดยอาจยื่นข้อเสนอให้สหรัฐพิจารณา 2 ประเด็น ดังนี้

1.ไทยอาจเสนอให้สหรัฐปลดออกจากบัญชีประเทศที่ต้องจับตามอง (Watch List ) ด้านทรัพย์สินทางปัญญา 

2.ไทยอาจเสนอให้สหรัฐพิจารณาเร่งรัดการต่ออายุการให้สิทธิพิเศษทางศุลกากร (GSP) ที่หมดอายุไปเมื่อปลายปี 2563 ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว 

ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้ที่จะมีการเปิดทางให้ประเทศอื่นๆ เจรจาทางการค้ากับสหรัฐเพื่อลดความสูญเสียของสหรัฐ จากการดำเนินนโยบายขึ้นภาษีซึ่งอาจนำมาซึ่งมาตรการทางภาษีศุลกากรที่ยืดหยุ่นขึ้นหรือลดหย่อนกับประเทศต่างๆ

ขณะที่ในส่วนของประเทศไทยเอง จะต้องดำเนินการเพื่อรักษาโมเมนตัมการส่งออกของไทย โดยต้องการรักษาตลาดเดิมกับสหรัฐด้วยนโยบาย “รักษาตลาดเดิม เสริมตลาดใหม่” เช่น ตลาดจีนตอนใต้ ตลาดอินเดีย และตลาดตะวันออกกลาง เป็นต้น ควบคู่ไปกับการเร่งรัดเจรจา เอฟทีเอฉบับใหม่ ๆ เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยและดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อสัปดาห์ก่อนให้คณะทำงานด้านการค้าสหรัฐที่ได้แต่งตั้งขึ้นตั้งแต่วันที่ 6 ม.ค.2568 ที่ผ่านมา มารายงานให้ ครม.ทราบความคืบหน้าการเตรียมมาตรการในการประชุม ครม.สัญจร วันที่ 18 ก.พ.2568

‘พาณิชย์’ ชง ครม.รับมือทรัมป์ไทยเพิ่มนำเข้า แลกสิทธิประโยชน์การค้า

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า รัฐบาลเตรียมแนวทางเจรจากับสหรัฐเบื้องต้นคือ ลดการเกินดุลการค้าสหรัฐโดยนำเข้าสินค้าที่เป็นไปได้มากขึ้น โดยจะหารือกับเอกชนที่ใช้วัตถุดิบในการผลิตสินค้า โดยเฉพาะในด้านภาคเกษตร และพลังงาน ที่สหรัฐส่งออก หากมีต้นทุนที่ถูกกว่าเมื่อเปรียบเทียบในการนำเข้ามาจากประเทศอื่นหรือต้นทุนถูกกว่าการใช้ในประเทศก็ให้เอกชนนำเข้าเพิ่มขึ้น

โดยมีสินค้าที่หารือกับภาคเอกชนแล้ว เช่น ก๊าซอีเทนซึ่งเป็นวัตถุดิบต้นน้ำในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งมีแนวโน้มส่งออกเพิ่มราคาที่ต่ำมาก เนื่องจากนโยบายของทรัมป์จะเพิ่มการขุดน้ำมันและปิโตรเลียมทำ จึงจะร่วมมือกลุ่ม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นำเข้าก๊าซอีเทนเพิ่มขึ้นเพื่อมาใช้แทนก๊าซอีเทนในอ่าวไทยที่มีต้นทุนราคาแพงกว่า รวมถึงกลุ่มสินค้าเกษตร เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

“รัฐบาลอยู่ระหว่างประเมินการขึ้นภาษีที่ทรัมป์จะดำเนินการกับประเทศต่างๆ หากมีชื่อไทย เราพร้อมจะเจรจาเพื่อหาทางออกในทางการค้าร่วมกัน ส่วนจะใช้ล็อบบี้ยิสต์หรือไม่ จะพิจารณาเป็นกรณีตามสถานการณ์ และประเด็นที่มีความจำเป็น”

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า ปี 2568 นโยบายทรัมป์ที่มุ่งเน้นมาตรการทางภาษีกดดันคู่ค้า โดยเฉพาะประเทศที่ได้ดุลการค้าสหรัฐถือเป็นอีกความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทย เพราะเกินดุลการค้าสหรัฐค่อนข้างมาก โดยในปี 2567 ไทยเกินดุลการค้าสหรัฐ 4.7 หมื่นล้านดอลลาร์ เป็นประเทศลคู่ค้าลำดับที่ 10 ในการเกินดุลการค้าสหรัฐ

ทั้งนี้ ที่ผ่านมารัฐบาล และภาคเอกชนทำงานร่วมกันมาระยะหนึ่งเพื่อรับมือและเจรจากับสหรัฐ โดยคณะทำงานที่รัฐบาลตั้งมี นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน ได้เชิญเอกชนมาทำงานร่วมกับภาครัฐให้ข้อมูลที่จำเป็นในการเตรียมความพร้อมในการเจรจา ซึ่ง สศช.เห็นว่าควรเตรียมรับมือผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าของประเทศคู่ค้า ที่สำคัญต้องให้ความสำคัญกับการเจรจาการค้ากับสหรัฐ และเตรียมมาตรการรองรับผลกระทบ ที่อาจเกิดขึ้นจากมาตรการกีดกันทางการค้า

ขณะเดียวกันต้องปกป้องภาคการผลิตจากการทุ่มตลาด และการใช้นโยบายการค้าที่ไม่เป็นธรรม ปรับปรุงกระบวนการตรวจสอบคุณภาพสินค้านำเข้าให้รัดกุมมากขึ้น ยกระดับมาตรการกำกับดูแลผู้ประกอบการออนไลน์จากต่างประเทศ 

รวมทั้งการติดตามเร่งรัดกระบวนการไต่สวนการใช้มาตรการภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด การอุดหนุน และมาตรการปกป้องจากการนำเข้า (AD/CVD/AC) เคร่งครัดผู้กระทำความผิดลักลอบ นำเข้าสินค้าที่ผิดกฎหมาย

นอกจากนี้ ควรเร่งรัดส่งเสริมการส่งออกสินค้าที่ไทยมีศักยภาพ และคาดว่าจะได้รับประโยชน์จากมาตรการกีดกันทางการค้า ควบคู่การเร่งเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) และต้องส่งเสริมให้ภาคธุรกิจบริหารจัดการความเสี่ยงจาก ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ควบคู่ไปกับการอำนวยความสะดวกและลดต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก

หนุนข้อเสนอ ‘จีซี’ นำเข้าอีเทนสหรัฐ

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ข้อเสนอของประเทศไทยที่จะเสนอเจรจากับสหรัฐในประเด็นการนำเข้าอีเทน จะต้องพิจารณาการใช้ประโยชน์ก๊าซธรรมชาติ ที่แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1.ใช้เป็นเชื้อเพลิงของโรงไฟฟ้า 2.กลุ่ม ปตท.ใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ปัจจุบันก๊าซในอ่าวไทยเริ่มมีปริมาณลดลง สวนทางการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น จึงต้องนำเข้าจากเมียนมา และนำเข้า LNG จากหลายประเทศเพื่อผลิตไฟฟ้า

"เมื่อกลุ่ม ปตท.นำก๊าซมาทำปิโตรเคมีเดิมไม่มีปัญหาอะไรเพราะแบ่งสัดส่วนกัน แต่ปัจจุบันเมื่อความต้องการใช้ไฟเพิ่มขึ้นจึงมีคำถามว่าควรแบ่งสัดส่วนก๊าซในอ่าวไทยใหม่หรือไม่ หรือจะบริหารจัดการอย่างไร ซึ่งการนำเข้าอีเทนจึงน่าจะเป็นอีกทางเลือก” แหล่งข่าว กล่าว

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันกลุ่ม ปตท.ยังใช้ก๊าซธรรมชาติได้ เพราะเป็นสัญญาร่วมกันที่ทำไว้ ดังนั้น หากจะตัดก๊าซไม่ให้ ปตท.จะเสี่ยงโดน ปตท.ฟ้องร้อง และรัฐบาลอาจต้องเจรจากับทางสหรัฐเพื่อนำเข้าอีเทนในราคาไม่แพงให้กลุ่ม ปตท.แทนแลกกับสัดส่วนของก๊าซในส่วนที่ ปตท.ใช้มาใช้ผลิตไฟฟ้าจะช่วยทำให้ค่าไฟฟ้าถูกลง

ทั้งนี้ ปัจจุบัน บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC กลุ่ม ปตท.นำเข้าอีเทนเพื่อผลิตเม็ดพลาสติกอยู่แล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้ GC เคยมีแผนนำเข้าอีเทนจากสหรัฐ แต่ล้มเลิกแผนนี้ไป ดังนั้น แผนรัฐบาลอาจใช้แผนนำเข้าเดิมของ GC ก็ได้

นายพูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ในฐานะโฆษก กกพ. (สำนักงาน กกพ.) กล่าวว่า ถือเป็นแนวคิดที่ภาคนโยบายพยายามมองออปชันที่เป็นไปได้ที่สุด  หากไทยมีทางเลือกในการมีเชื้อเพลิงจากแหล่งต่างๆ และมีวัตถุดิบที่จะใช้ในการผลิตปิโตรเคมีด้วย จะทำให้การบริหารจัดการเชื้อเพลิงมีทางเลือกในหลายช่องทางมากขึ้น

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์