สศอ. ปรับโครงสร้าง 9 อุตสาหกรรม ชงครม.ก.พ.68 หวังดัน GDP โตกว่า1%

สศอ. ปรับโครงสร้าง 9 อุตสาหกรรม ชงครม.ก.พ.68 หวังดัน GDP โตกว่า1%

สศอ. ลุยปรับโครงสร้าง 9 อุตสาหกรรมเป้าหมาย รับนโยบาย "เอกนัฏ" มุ่งสู่ “ปฏิรูปอุตสาหกรรม” ตั้งเป้าดัน GDP ของประเทศโตไม่น้อยกว่า 1% พร้อมชงเข้า ครม.เดือน ก.พ. 2568

นายภาสกร ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า สศอ. ได้เดินหน้ายกร่างมาตรการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม โดยระดมความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนในการร่วมกันกำหนดเป้าหมาย มาตรการสนับสนุนในระยะสั้น กลาง ยาว รวมถึงโครงการเร่งด่วนให้เกิดผลเร็ว (Quick Win)

ทิศทางโครงสร้างอุตสาหกรรม 9 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่

1. อุตสาหกรรมยานยนต์ มุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ประเทศไทยมีศักยภาพเป็นฐานการผลิต (Product Champion) เช่น รถยนต์นั่ง รถกระบะ 1 ตัน กลุ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ประกอบด้วย รถยนต์ไฮบริด (Hybrid Electric Vehicle: HEV) รถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด (Plug-in Hybrid Electric Vehicle: PHEV) และรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ล้วน (Battery Electric Vehicle: BEV) รวมทั้งกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ 

2. อุตสาหกรรมพลาสติก เน้นผลิตภัณฑ์พลาสติกที่มีส่วนผสมของพลาสติกรีไซเคิลในสัดส่วนสูง รองรับการมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

3. อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ จะมุ่งผลิตเครื่องมือแพทย์ที่ใช้กับโรคที่มีผู้ป่วยจำนวนมากและมีค่าใช้จ่ายในการรักษาสูง โดยเฉพาะกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ได้แก่

  1. โรคหัวใจและหลอดเลือด
  2. โรคเบาหวาน
  3. โรคมะเร็ง
  4. โรคความดันโลหิตสูง
  5. โรคไตเรื้อรัง 

4. อุตสาหกรรมเหล็กและโลหะการ จะสร้างความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมเหล็กไทย มุ่งสู่การผลิตเหล็กที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อาทิ เหล็กเส้น เหล็กแผ่นรีดร้อน เหล็กท่อ เหล็กลวด และเหล็กโครงสร้างสำเร็จรูป  

5. อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ส่งเสริมให้มีการนำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาใช้ในภาคอุตสาหกรรม รวมถึงส่งเสริมกิจการออกแบบ สร้างนวัตกรรม และพัฒนาบุคลากรด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ

6. อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เน้นดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมต้นน้ำและเทคโนโลยีขั้นสูง ยกระดับศักยภาพอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าเดิมให้มี High Value/ High Technology รวมทั้งการวิจัยและพัฒนาต่อยอด

7. อุตสาหกรรมฐานชีวภาพ มุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ในกลุ่มพลาสติกชีวภาพ เคมีชีวภาพ และโอลิโอเคมีคอล 

8. อุตสาหกรรมอาหาร ให้ความสำคัญกับการพัฒนากลุ่มสินค้าอาหารพื้นฐานที่เป็นความมั่นคงทางอาหาร และกลุ่มสินค้าอนาคต (Future Food) ที่มุ่งเน้นสร้างรายได้เพื่อยกระดับประเทศไปสู่ประเทศรายได้สูง 

9. อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตั้งแต่ ต้นน้ำ-ปลายน้ำ เช่น Technical Fiber, Technical Textile และ Fashion Brand 

นอกจากนี้ ยังได้จัดทำการพัฒนาปัจจัยแวดล้อมธุรกิจที่เป็นส่วนสนับสนุนให้การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมในภาพรวมดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การพัฒนากำลังคน การวิจัย เทคโนโลยี นวัตกรรม กระบวนการผลิต การปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้น 

“การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมจะช่วยพลิกฟื้นภาคอุตสาหกรรมไทยให้เป็นเครื่องยนต์สำคัญที่จะเพิ่มแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้มากขึ้น ภายใต้ความร่วมมือของทุกภาคส่วน โดยตั้งเป้าให้ภาคอุตสาหกรรมมีส่วนผลักดัน GDP ของประเทศเติบโตไม่น้อยกว่า 1% โดยไม่ใช้งบประมาณ ตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ที่มุ่งเน้น “การปฏิรูปอุตสาหกรรม สู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ทันสมัย สะอาด สะดวก โปร่งใส” คาดว่าจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี พิจารณาประมาณเดือน ก.พ. 2568”