ค่ายรถญี่ปุ่นพลิกเกมลงทุนไทย มาสด้า ทุ่มงบใหม่ ‘อีซูซุ - โตโยต้า’ เร่งไฮบริด

ค่ายรถญี่ปุ่นเรียกความเชื่อมั่นตลาดไทย “มาสด้า” ลงทุน 5,000 ล้านบาท ตั้งเป้า 1 แสนคันต่อปี หลังจากมิตซูบิชิ-อีซูซุ-โตโยต้า ทยอยเพิ่มลงทุน “คลัง” สั่ง บสย.ค้ำประกันเช่าซื้อรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ชง ครม.เห็นชอบใน 4 เดือน ส.อ.ท.คาดหนุนยอดขายกระบะเพิ่มขึ้น 10-15%
KEY
POINTS
- สถิติขอรับการลงทุนปี 2567 กว่า 1 แสนล้านบาท ทั้ง BEV, HEV และ ICE ชิ้นส่วนยานยนต์ ยางล้อ และอากาศยาน แบตเตอรี่ สถานีอัดชาร์จ และสถานีสับเปลี่ยนแบต
- มาสด้าเข้าพบนายกรัฐมนตรี และประกาศแผนขยายลงทุนในไทยเพิ่ม 5,000 ล้านบาท ตั้งเป้าผลิต 1 แสนคันต่อปี เพื่อส่งออกไปทั่วโลกปี 2570
- คลังกำลังพิจารณาให้ บสย.เข้ามาช่วยส่วนนี้ โดยที่ผ่านมา บสย.ค้ำประกันเพียง 30% หากเป็นเรื่องรถจะต้องดูว่าจะขยับสัดส่วนนี้อย่างไร คาดจะเสนอ ครม.ภายใน 4 เดือน
- ส.อ.ท. คาดมาตรการสนับสนุนปล่อยสินเชื่อจะทำให้ยอดรถกระบะที่เคยตกลงมาระดับ 40% จะมีโอกาสเป็นบวกได้ 10-15% ในปีนี้
ปี 2567 อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยเผชิญปัญหายอดขายลดลงมาก โดยยอดขายรวมอยู่ที่ 572,675 คัน ลดลง 26.2% เมื่อเทียบปีก่อนหน้า นับเป็นระดับต่ำสุดรอบ 15 ปี สาเหตุหลักมาจากการเข้มงวดการอนุมัติสินเชื่อรถยนต์ และหนี้ครัวเรือนสูง ซึ่งทำให้อัตราการปฏิเสธสินเชื่อเพิ่มขึ้นถึง 70% ส่งผลให้การผลิตรถยนต์ปี 2567 อยู่ที่ 1.47 ล้านคัน ลดลง 20% จาก 1.83 ล้านคันในปี 2566
สำหรับปัจจัยที่ทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไม่ฟื้นตัวมาจากความท้าทายจากภาวะเศรษฐกิจ และทิศทางตลาดในปีก่อนกำลังซื้อของผู้บริโภคลดลงตามสภาพเศรษฐกิจค่าครองชีพ และอัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อยังคงอยู่ในระดับสูงการปล่อยสินเชื่อรถยนต์ถูกเข้มงวดขึ้น ทำให้การอนุมัติสินเชื่อลดลง
นอกจากนี้ นับตั้งแต่อุตสาหกรรมยานยนต์ และตลาดรถยนต์ไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงจากการเข้ามารุกตลาดของรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (อีวี) โดยเฉพาะอีวีจากจีนที่เน้นการแข่งขันด้านราคา ทำให้หลายคนเชื่อว่าตลาดรถยนต์ถูกดิสรัปโดยอีวี โดยเฉพาะเมื่อ 2 แบรนด์ญี่ปุ่นประกาศยุติการผลิตในไทย (ทำตลาดต่อ) คือ ซูบารุและซูซูกิ
อย่างไรก็ตามมีหลายแบรนด์ที่ยังมั่นใจในความสามารถการแข่งขัน และดำเนินธุรกิจในไทยต่อ รวมถึงบางรายประกาศลงทุนเพิ่มเพราะมั่นใจในศักยภาพของตลาดไทยระยะยาว โดยเฉพาะเมื่อภาวะเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นในอนาคต
ทั้งนี้ หลายแบรนด์ปักหลักลงทุนไทยมานาน และสร้างความแข็งแกร่งให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยที่เคยติดท็อป 10 ของโลก และแม้ปีที่ผ่านมาภาพรวมไม่ดียังอยู่อันดับ 10 ต้นๆ โดยบริษัทแม่วางให้ไทยเป็นฐานการผลิตที่สำคัญ เช่น เป็นฐานการผลิตปิกอัพ 1 ตัน อันดับ 1 ของโลก ฐานการผลิตรถเล็กประหยัดพลังงาน หรือเป็นฐานใหญ่นอกประเทศแม่ เช่น มาสด้า
และที่สำคัญคือ การวางให้เป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออก โดยปัจจุบันหลาย ๆ แบรนด์ มียอดส่งออกมากกว่าการจำหน่ายในประเทศ เช่น มิตซูบิชิ ส่งออก 80% ฟอร์ด ส่งออก 80-85% หรือแม้แต่ผู้นำตลาดอย่างโตโยต้า ปีที่ผ่านมา มีสัดส่วนการส่งออก 63%
เพิ่มลงทุนรับตลาดอนาคตไฮบริด
และตั้งแต่ช่วงที่ตลาดรถยนต์ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ และปัจจัยลบอื่นอย่างรุนแรง รวมถึงการเข้ามาของอีวี แต่มีหลายแบรนด์ประกาศลงทุนเพิ่มเติม นอกเหนือจากรายล่าสุดอย่างมาสด้าที่ประกาศลงทุนเพิ่ม 5,000 ล้านบาท
เช่น อีซูซุ ประกาศช่วงต้นปี 2567 ว่าจะลงทุนเพิ่ม 3.2 หมื่นล้านบาท ภายใน 5 ปี รองรับแผนการขยายการผลิต รวมถึงผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น ปิกอัพ อีวี และปิกอัพไฮบริด โดย ปิกอัพ อีวี เริ่มผลิตปีนี้แต่ช่วงเริ่มต้นจะส่งออกก่อน ประเดิมตลาดยุโรปก่อน เช่น นอร์เวย์
ขณะที่โตโยต้ามีความเคลื่อนไหวในเดือนธ.ค.2567 นายอากิโอะ โตโยดะ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น แจงกับภาครัฐว่า จะลงทุนกว่า 5.5 หมื่นล้านบาท อัปเกรดฐานผลิตสู่ไฮบริดรวมถึงเพิ่มการจ้างงาน และถ่ายทอดเทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา
หรือมิตซูบิชิ ที่โรงงานมีความสามารถการผลิต 4 แสนคัน/ปี ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เพิ่มการลงทุนอย่างต่อเนื่อง เช่น ลงทุน 3,000 ล้านบาท เปิดตัวโรงสีแห่งใหม่ในปี 2565 จากนั้นลงทุนปรับสายการผลิต เช่น หุ่นยนต์ 250 ตัว และการผลิตเครื่องยนต์ใหม่ ในปี 2566
ปี 2567 มิตซูบิชิ ประกาศเพิ่มการลงทุนอีก 500 ล้านบาท พัฒนาสายการผลิตที่โรงงานประกอบรถยนต์ ภายในนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี เพื่อรองรับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า xEV
ทั้งนี้หากดูรายละเอียดการขยับตัวของรถญี่ปุ่นน่าสนใจ เพราะทุกแบรนด์พูดถึงรถลูกผสมอย่าง ไฮบริด มากกว่า อีวี เพราะเชื่อมั่นว่าท้ายที่สุดแล้วรถกลุ่มนี้จะตอบโจทย์การใช้งานดีกว่า พร้อมกันนี้ในการแถลงภาพรวมตลาดรถยนต์ปี 2567 และ ทิศทางปี 2568 เมื่อวันที่ 30 ม.ค.2568 ที่ผ่านมา โตโยต้า ระบุชัดเจนว่าปี 2567 รถไฮบริดเติบโตอย่างชัดเจน 29%
ขณะที่ข้อมูลจากกรมการขนส่งทางบกระบุยอดจดทะเบียน อีวี ติดลบ 8%
รัฐบาลอัดมาตรการดึงญี่ปุ่นลงทุนต่อ
การประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ที่มี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเป็นประธานเห็นชอบมาตรการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าเดือนธ.ค.2567 ที่ผ่านมา โดยปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับการผลิตรถยนต์ Hybrid (HEV) เหลือ 6-9%
และรถยนต์ Mild Hybrid (MHEV) เหลือ 10-12% มีผลตั้งแต่เริ่มใช้โครงสร้างภาษีใหม่เป็นเวลา 7 ปี (2569-2575) รวมทั้งบีโอไอออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยให้สิทธิประโยชน์พิเศษกับผู้ผลิตรถยนต์ทุกประเภทที่มีการนำระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในสายการผลิตด้วย
สำหรับสถิติการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ และชิ้นส่วน ในปี 2567 มีจำนวน 309 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 102,366 ล้านบาท ประกอบด้วยโครงการลงทุนผลิตยานยนต์ไฟฟ้าประเภทต่างๆ ทั้ง BEV, HEV และ ICE การผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ยางล้อรถยนต์ และอากาศยาน แบตเตอรี่ สถานีอัดประจุไฟฟ้า และสถานีบริการสับเปลี่ยนแบตเตอรี่
“มาสด้า” ทุ่ม 5 พันล้านผลิตรถไฮบริด
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า นายมาซาฮิโร โมโร President and CEO ของบริษัท มาสด้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น เข้าพบนายกรัฐมนตรี และประกาศแผนขยายลงทุนในไทยเพิ่ม 5,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ จะใช้ไทยเป็นฐานการผลิตหลักของรถยนต์อเนกประสงค์ B-SUV แบบ Mild Hybrid (MHEV) ซึ่งเป็นรถยนต์แบบผสมที่ใช้เครื่องยนต์ทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้า ตั้งเป้าผลิต 1 แสนคันต่อปี เพื่อส่งออกไปทั่วโลก
“การขยายการลงทุนของมาสด้า เพื่อใช้ไทยเป็นฐานการผลิตหลักครั้งนี้ เชื่อมั่นศักยภาพไทย และความมุ่งมั่นของรัฐบาลที่ต้องการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ทุกประเภทให้เปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยีใหม่ที่เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม ควบคู่การต่อยอดผู้ผลิตชิ้นส่วนในซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมยานยนต์ให้แข็งแกร่งขึ้น ช่วยขับเคลื่อนไทยเป็นผู้นำฐานการผลิต และส่งออกยานยนต์ของภูมิภาค” นายนฤตม์ กล่าว
ยืนยันใช้ไทยเป็นฐานการผลิตต่อ
นายมาซาฮิโร โมโร President and CEO บริษัท มาสด้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า มาสด้าในไทยมีประวัติศาสตร์มานานกว่า 70 ปี ซึ่งนอกจากบริษัท มาสด้า เซลส์ และเครือข่ายผู้จำหน่ายรถยนต์มาสด้าแล้ว มาสด้าลงทุนสร้างฐานการผลิตในไทยต่อเนื่อง โดยตั้งโรงงาน AutoAlliance (AAT) ที่ระยอง เมื่อปี 2538 เพื่อผลิตรถยนต์นั่ง และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์
และได้ก่อตั้งโรงงาน Mazda Powertrain Manufacturing Thailand (MPMT) ที่จังหวัดชลบุรี เมื่อปี 2558 เพื่อผลิตเครื่องยนต์ และเกียร์อัตโนมัติ ซึ่งทั้งสองโรงงานเป็นรากฐานสำคัญที่ส่งเสริมให้ไทยกลายเป็นจุดศูนย์กลางในการผลิตรถยนต์มาสด้า และชิ้นส่วน เพื่อจำหน่ายภายในประเทศ และส่งออกไปยังตลาดทั่วโลก
“วันนี้มาสด้าได้ก้าวไปอีกขั้น เพื่อสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (xEV) ด้วยการเพิ่มเงินลงทุนกว่า 5,000 ล้านบาท ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ B-SUV ของมาสด้า ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าในการช่วยขับเคลื่อน ประหยัดพลังงาน ลดมลภาวะ และความปลอดภัยในระดับมาตรฐานสากล ตั้งเป้าการผลิต 1 แสนคันต่อปี เพื่อจำหน่ายในประเทศ และส่งออกไปประเทศญี่ปุ่น กลุ่มอาเซียน และประเทศอื่นๆ ทั่วโลก"
พร้อมเริ่มผลิตขายในอีก 2 ปีนี้
สำหรับโดยการลงทุนนี้จะครอบคลุมทั้งในส่วนของการประกอบรถยนต์ และการผลิตชิ้นส่วนสำคัญ ทั้งเครื่องยนต์ เกียร์ และแบตเตอรี่ พร้อมเร่งลงทุนเพื่อให้เริ่มผลิตได้ในปี 2570 รองรับความต้องการรถยนต์พลังงานใหม่ที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาเครือข่ายผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศให้รองรับเทคโนโลยีใหม่
"นี่คือ จุดเริ่มต้นของการลงทุนเพิ่มเติมครั้งใหญ่สำหรับไทยเพื่อผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของมาสด้า ภายใต้แนวทาง Multi-Solution ซึ่งตอกย้ำถึงพันธกิจ และความสัมพันธ์อันดีระหว่างมาสด้ากับไทยที่ดำเนินมายาวนานหลายทศวรรษ และแสดงให้เห็นการมีส่วนช่วยสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ และการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย” นายมาซาฮิโร กล่าว
“คลัง” เตรียมชงมาตรการอุ้มยานยนต์
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างจัดทำมาตรการช่วยเหลืออุตสาหกรรมยานยนต์ เพราะปัญหาปัจจุบันที่การปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ โดยเฉพาะรถเชิงพาณิชย์ที่ประชาชนใช้เป็นเครื่องมือทำมาหากินแต่ปล่อยสินเชื่อลดลง
ทั้งนี้ กำลังพิจารณาให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้ามาช่วยส่วนนี้ โดยที่ผ่านมา บสย.ค้ำประกันเพียง 30% หากเป็นเรื่องรถจะต้องดูว่าจะขยับสัดส่วนนี้อย่างไร ซึ่งคาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ภายใน 4 เดือน
“ที่ผ่านมายังไม่เคยมีใครปล่อยสินเชื่อ โดยใช้มาตรการแบบนี้ แต่เราคิดว่าตอนนี้เศรษฐกิจเริ่มกระเตื้องเดินได้ ภาครัฐต้องมีมาตรการนำร่องไปบางส่วนเพื่อให้ขับเคลื่อนได้”
ส.อ.ท.คาดยอดขายเพิ่มขึ้น10-15%
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า จากมาตรการที่รัฐบาลสนับสนุนด้านสินเชื่อดังกล่าว ถือเป็นเรื่องดีที่ ส.อ.ท.ได้เคยเสนอมาตรการให้กับรัฐบาลไปก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะประชาชนภาคแรงงานที่ต้องใช้รถกระบะเป็นส่วนมากในการประกอบอาชีพ
แต่ด้วยเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูง ส่งผลให้สถาบันทางการเงินเข้มงวดกับการปล่อยสินเชื่อ ดังนั้น หากภาครัฐเข้ามาช่วยสนับสนุนคาดว่าจะทำให้ยอดรถกระบะที่เคยตกลงมาระดับ 40% จะมีโอกาสเป็นบวกได้ 10-15% ในปีนี้
‘ทีทีบี’ แนะช่วยเฉพาะกลุ่มรถกระบะ
นายฐากร ปิยะพันธ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารทหารไทยธนชาต หรือ ทีทีบี กล่าวว่า กรณีที่กระทรวงการคลังกำลังทำมาตรการช่วยเหลืออุตสาหกรรมยานยนต์ โดยให้ บสย.ช่วยค้ำประกัน เพื่อกระตุ้นการปล่อยสินเชื่อรถยนต์ให้มากขึ้นนั้นส่วนนี้ ธนาคารก็รับลูกมากลับไปพิจารณาว่าจะทำอย่างไรได้บ้าง ที่จะสามารถกระตุ้นยอดขายรถให้เพิ่มขึ้น ที่ไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อมากนัก
ทั้งนี้ หากจะให้มาตรการดังกล่าวเป็นประโยชน์ควรทำเป็นกลุ่ม เช่น กลุ่มเปราะบาง และกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือ เช่น กลุ่มอาชีพอิสระ เกษตรกร และกลุ่มผู้ใช้รถกระบะ เพราะช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ยอดขายรถกระบะตกลงค่อนข้างมาก ดังนั้นการค้ำประกันเป็นรูปแบบหนึ่งที่จะช่วยให้กลุ่มนี้เข้าซื้อรถได้ และควรพิจารณาแนวทางอื่นประกอบด้วย
“นิสสัน-ฮอนด้า” ล้มดีลควบรวมกิจการ
“บริษัท ฮอนด้า มอเตอร์” และ “นิสสัน มอเตอร์” ได้ออกแถลงการณ์อย่างเป็นทางการแล้วเมื่อวันที่ 13 ก.พ.68 ว่า ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะยุติการเจรจาควบรวมกิจการระหว่างกัน หลังจากที่ไม่สามารถหาข้อตกลงร่วมกันได้ในหลายเรื่อง ซึ่งรวมถึงข้อเสนอจากฮอนด้าที่จะให้นิสสันเป็นบริษัทลูกในเครือของฮอนด้าด้วย
แถลงการณ์ระบุว่า ฮอนด้า และนิสสันตัดสินใจยุติการหารือเพื่อ “ให้ความสำคัญกับความเร็วในการตัดสินใจ และการดำเนินการตามมาตรการจัดการในสภาพแวดล้อมตลาดที่ผันผวนมากขึ้นเรื่อยๆ ในยุคของการใช้รถยนต์ไฟฟ้า”
“ระหว่างการหารือ ทั้งสองบริษัทมีการพิจารณาทางเลือกต่างๆ เกี่ยวกับโครงสร้างของการบูรณาการธุรกิจ” แถลงการณ์ระบุ “ฮอนด้าเสนอให้เปลี่ยนโครงสร้างจากการจัดตั้งบริษัทโฮลดิ้งร่วม ... เป็นโครงสร้างที่ฮอนด้าจะเป็นบริษัทแม่ และนิสสันจะเป็นบริษัทย่อยผ่านการแลกเปลี่ยนหุ้น” แถลงการณ์ระบุ
อย่างไรก็ตาม ทั้งสองบริษัทจะยังคงความเป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์เรื่องการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ที่เป็นความร่วมมือ 3 ฝ่ายกันก่อนหน้านี้ร่วมกับมิตซูบิชิ มอเตอร์ ด้วยต่อไป
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์